Recommended for You

5 สิ่งต้องดู ก่อนซื้อ-ขายอนุพันธ์

5 สิ่งต้องดู ก่อนซื้อ-ขายอนุพันธ์

การลงทุนอนุพันธ์ เป็นอีกเครื่องมือช่วยป้องกันความเสี่ยง เพราะเป็นการลงทุนในสัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้า ที่ใช้เงินลงทุนน้อยกว่าหุ้น แต่กลับให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งก่อนที่นักลงทุนจะตัดสินใจเข้าลงทุนในอนุพันธ์ ควรต้องทำความรู้จัดอะไรบ้าง มาติดตามกันเลย !
 

*** ไขข้อสงสัย อนุพันธ์คืออะไร
 

สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ อาจยังคงสับสนเกี่ยวกับการลงทุนอนุพันธ์ว่า มันเป็นการลงทุนในลักษณะใด แล้วมีข้อดี - ข้อเสีย อย่างไรบ้าง ดังนั้น วันนี้สำนักข่าว"อีไฟแนนซ์ไทย"ขออาสาพาทุกคนไปทำความรู้จักกับอนุพันธ์ พร้อมทริคการลงทุนในเครื่องมือดังกล่าว สักเล็กน้อยเเล้วกัน

สำหรับการงทุนในอนุพันธ์ ก็เปรียบได้กับ เป็นการลงทุนล่วงหน้า โดยคาดเดาว่า ผลตอบแทนในระยะข้างหน้าของหุ้นบริษัทที่เราลงทุน จะเป็น"บวก"หรือ"ลบ" ผ่านตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ ที่เรียกกันว่า TFEX (Thailand Futures Exchange) นั่นเอง 


*** ลงทุนอนุพันธ์ แบ่งเป็น 2 แบบ
 

ทั้งนี้ การลงทุนในอนุพันธ์ ณ ปัจจุบัน สามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. "ฟิวเจอร์ส" หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แปลให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ สัญญาที่ผู้ซื้อกับผู้ขายตกลงจะซื้อขายสินค้า โดยกำหนดราคาตั้งแต่วันนี้ แต่ส่งมอบและชำระเงินในอนาคต ผู้ซื้อและผู้ขายไม่จำเป็นต้องถือสัญญาไว้จนครบกำหนด แต่อาจซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้โดยผ่าน TFEX ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่กำหนด ผู้ซื้อและผู้ขายมีหน้าที่ ต้องซื้อหรือขายตามที่ตกลงกันไว้  

การสร้างสถานะสัญญา"ฟิวเจอร์ส" สามารถทำได้ทั้ง 2 ฝั่ง จะขายก่อน หรือซื้อก่อนก็ได้ โดยฝั่งผู้ซื้อสัญญา เรียกว่ามี "สถานะซื้อ" หรือ Long Position ส่วนฝั่งผู้ขาย เรียกว่ามี "สถานะขาย" หรือ Short Position

2."ออปชั่น" หรือ สัญญาสิทธิ คือ สัญญาที่ผู้ซื้อได้รับ "สิทธิซื้อ" หรือ "สิทธิขาย" สินทรัพย์อ้างอิงตามราคา จำนวน และระยะเวลาที่ระบุไว้จากผู้ขาย โดยผู้ซื้อต้องจ่าย "ค่าพรีเมียม" (Premium) และสามารถเลือกที่จะใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้ แต่ผู้ขายมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญา หากผู้ซื้อขอใช้สิทธิ   

ทั้งนี้ "ออปชั่น" สามารถแบ่งตามลักษณะการใช้สิทธิได้เป็น 2 แบบ คือ คอลออปชัน (Call Options) และพุทออปชัน (Put Options) โดยคอลออปชันจะเป็นสิทธิในการซื้อ ส่วนพุทออปชันจะเป็นสิทธิในการขายนั่นเองนะ 


*** อนุพันธ์ใช้เงินลงทุนน้อยกว่าหุ้น
 

สำหรับ เสน่ห์ของการซื้อขายอนุพันธ์ คือ ผลตอบแทนและความเสี่ยงจะขึ้นอยู่กับการบริหาร Leverage หรือจํานวนเท่า (หรือเปอร์เซ็นต์) ของมูลค่าของสินทรัพย์ที่ลงทุนเทียบกับเงินที่ใช้ลงทุนจริง ยิ่ง Leverage สูงเท่าไหร่ ความเสี่ยงก็จะสูงมากขึ้นเท่านั้น แถมการลงทุนยังใช้เงินน้อยกว่าลงทุนในหุ้นอีกด้วย

ยกตัวอย่างนะ สมมติเราต้องการลงทุนในหุ้น A จำนวน 1 พันหุ้น  ด้วยราคา 100 บาท/หุ้น เท่ากับว่า ต้องใช้เงินลงทุน 1 แสนบาท ในทางกลับกัน ถ้าเราเปลี่ยนไปลงทุนใน A "ฟิวเจอร์ส"แทน สักจำนวน 10 สัญญา (1 สัญญามี 1 พันหุ้น)  เท่ากับว่า ได้ 1 หมื่นหุ้น ซึ่งใช้เงินลงทุน 1 แสนบาทเท่ากันนั่นเอง

ซึ่งจากจำนวนหุ้นที่ได้มากกว่ากันถึง 10 เท่า ด้วยเม็ดเงินลงทุนเท่ากัน นั่นทำให้"ฟิวเจอรส์" ยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะหากเราคาดการณ์ตลาดได้ถูกต้อง การลงทุนใน"ฟิวเจอร์ส" จะให้ผลตอบแทนได้ถึง 10 เท่าเลยทีเดียว แต่ในทางกลับกัน หากเราคาดเดาผิด นั่นก็หมายถึงการขาดทุนก็สูงถึง 10 เท่าด้วยเช่นกันนะ ...


*** CODE อนุพันธ์บอกอะไรบ้าง ?
 

ทีนี้ เมื่อรู้กลไกลการทำงานของอนุพันธ์คร่าวๆแล้ว มาติวเข้มกันต่อนะ ว่า ถ้าเราอยากลงทุนในอนุพันธ์ควรต้องดูอะไรเป็นหลักบ้าง เริ่มจากเราต้องรู้ชื่อย่อหลักทรัพย์ของอนุพันธ์ เพื่อเข้าใจความหมายของอนุพันธ์ก่อนลงทุนนั่นเอง

โดยในชื่อย่อของอนุพันธ์จะประกอบด้วย ชื่อย่อสินค้าอ้างอิง, เดือนที่สัญญาครบกำหนดอายุ, ปีที่สัญญาครบกำหนดอายุ และส่วนเพิ่มเติม (อาจมีหรือไม่ก็ได้) เช่น S50Z22 หมายถึง SET50 Index Futures ที่จะครบกำหนดอายุในเดือนธ.ค.65 นั่นเองนะ 


*** 5 สิ่งควรรู้ ก่อนลงทุนอนุพันธ์
 

เมื่อทุกคนอ่านความหมายของชื่อย่ออนุพันธ์เป็นแล้ว ทีนี้มาดู 5 สิ่ง สำคัญ ที่พวกเราควรรู้ก่อนจะตัดสินใจเข้าลงทุนอนุพันธ์กันบ้างนะ ก็จะประกอบด้วยดังนี้เลย 

1.ขนาดของสัญญา หรือ ตัวคูณดัชนี : เป็นข้อมูลที่บอกให้รู้ว่า เรากำลังลงทุนในสินค้าอ้างอิงที่มีขนาดเท่าใด หากราคาของสินค้าอ้างอิงมีการเปลี่ยนแปลง มูลค่าของสัญญาที่เราลงทุนจะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน

2.วิธีการส่งมอบ หรือ ชำระราคา : เมื่อครบกำหนดสัญญาแล้ว จะมีวิธีการส่งมอบสินค้าจริง หรือชำระราคาเป็นเงินสด ข้อมูลนี้จะช่วยให้นักลงทุนอย่างเรา สามารถบริหารจัดการได้ถูกต้อง

3.วันสุดท้ายของการซื้อขาย : มีหลายคนมาก ที่เข้าใจผิดว่าตนเอง สามารถซื้อขายอนุพันธ์ได้จนถึงวันทำการสุดท้ายของอายุสัญญา แต่ความเป็นจริงแล้วอนุพันธ์ จะมีการกำหนดวันสุดท้ายของการซื้อขายไว้ เช่น วันทำการก่อนวันทำการสุดท้ายของเดือนที่สัญญาสิ้นสุดอายุ โดยจะสิ้นสุดการซื้อขายในเวลา 16:30 น. เป็นต้น

4.ค่าธรรมเนียมการซื้อขาย : สินค้าแต่ละตัวใน TFEX จะมีการกำหนดค่าธรรมเนียมการซื้อขายไว้ไม่เท่ากัน ซึ่งต่างจากหุ้นที่คิดค่าธรรมเนียมเท่ากันทุกตัว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดูข้อมูลในส่วนนี้ก่อนตัดสินใจลงทุนด้วย เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของตนเองไว้

5.ช่วงการเปลี่ยนแปลงของราคาสูงสุดในแต่ละวัน : หุ้นทุกตัวที่ซื้อขายผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีช่วงการเปลี่ยนแปลงของราคาสูงสุดในแต่ละวันไว้เท่ากัน ขณะที่สินค้าใน TFEX จะมีการกำหนดที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับตัวสินค้านั้นๆ นี่ก็เป็นข้อมูลสำคัญอีกจุด ที่เราควรรู้ก่อนเข้าไปลงทุนนะ

สำหรับการลงทุนอนุพันธฺแม้จะเป็นการลงทุนที่ใช้เงินน้อยกว่าหุ้น และสามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าอย่างมหาศาล แต่ก็อย่าลืมว่า ในทางตรงกันข้ามก็สามารถทำให้เราขาดทุนจำนวนมากได้เช่นกัน ดังนั้น การลงทุนนี้ จึงมักถูกใช้เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง ยามตลาดหุ้นผันผวนนั่นเอง ...







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh