คาเฟ่ดังชั้นนำที่ครองใจคนเมืองอย่าง “คาซ่า ลาแปง” หรือ Casa’ Lapin ของบริษัท บีนส์ แอนด์ บราวน์ จำกัด เป็นอีกหนึ่งบริษัทน้องเล็กในกลุ่มเจมาร์ท ภายใต้หลังคาของบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) หรือ J ที่ถือหุ้นอยู่ 60% โดยมี CEO หนุ่มไฟแรงอย่าง “เจ-เอกชัย สุขุมวิทยา” ทายาท “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” แม่ทัพใหญ่ บมจ.เจมาร์ท (JMART) เข้ามานั่งบริหาร แตกไลน์จากธุรกิจของบริษัทแม่ กางแผนงานเล็งขยายสาขาในเมืองใหญ่ และในต่างแดน หากเป็นไปตามแผน เห็นเป้าหมายเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปี 64 คงไม่ไกลเกินเอื้อม...
*** รู้จัก “คาซ่า ลาแปง” ภายใต้ บจก.บีนส์ แอนด์ บราวน์
Casa Lapin (คาซ่า ลาแปง) เป็นร้านกาแฟอินดี้ที่เติบโตมาจากกลุ่มผู้ก่อตั้งในสายสถาปนิก และเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในกลุ่มคอกาแฟและสายอาร์ต โดยมีจุดกำเนิดที่เรียกว่าเป็นร้านบุกเบิกจากจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนที่จะขยับขยายเข้าสู่เมืองกรุง โดยในปี 2560 ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของคาซ่า ลาแปง (Casa Lapin) เมื่อ JAS Asset หรือ บมจ.เจเอเอส แอสเซ็ท ได้เล็งเห็นการเติบโตของธุรกิจคาเฟ่รายนี้ จึงเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 60% ร่วมกับบริษัท คอฟฟี่ โปรเจ็คท์ จำกัด ที่ถืออยู่ 40% เป็นที่มาของ “บริษัท บีนส์ แอนด์ บราวน์ จำกัด” ที่ทำหน้าที่บริหารธุรกิจร้านอาหาร และร้านกาแฟ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และมีทิศทางที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกจาก คาซ่า ลาแปง (Casa Lapin) แล้วยังมีอีกหนึ่งร้านกาแฟที่อยู่ภายใต้ บีนส์ แอนด์ บราวน์ คือ แรบบ์ คอฟฟี่ หรือ Rabb Coffee ที่มีขนาดร้านไซส์เล็กกว่า คาซ่า ลาแปง (Casa Lapin) และมีราคาที่ถูกกว่า เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงล่าง
“ถ้าถามว่า ทำไม JAS Asset ถึงสนใจและเลือก คาซ่า ลาแปง (Casa Lapin) เนื่องจากมองว่าแบรนด์ของ คาซ่า ลาแปง (Casa Lapin ) นั้นมีมูลค่าอยู่ในตัว และรสชาติกาแฟค่อนข้างถูกปากคอกาแฟ ประกอบกับที่กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมมีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างแบรนด์ร้านกาแฟของไทยให้ก้าวสู่ระดับโลกเช่นเดียวกับเรา อยากให้คนไทย หรือแม้แต่ชาวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทย ต้องเข้ามากินกาแฟร้านของเรา ประกอบกับการที่ JAS Asset เองมีความสนใจและต้องการขยายธุรกิจมายังกลุ่มอาหารมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงจากตัวธุรกิจเดิม ที่ประกอบธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าไอที และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์” เอกชัยกล่าว
*** 1 ปีเต็มภายใต้หลังคา JAS Asset ของ Casa’ Lapin
เราให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างแบรนด์ เมื่อแบรนด์แข็งแกร่ง เราก็สามารถขยายไปได้ไกล และได้รีแบรนด์ใหม่ ปรับโลโก้ใหม่ จากเดิมที่เป็นรูปบ้าน เปลี่ยนเป็นรูปกระต่าย เพื่อต่อยอดการทำสินค้าเมอร์เชนไดร์สในอนาคต ตลอดไปจนถึงเรื่องระบบการจัดการภายใน การขยายสาขาใหม่ ปรับกลยุทธ์ และทิศทางการดำเนินธุรกิจให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น
ล่าสุดได้ทำการเปิดสาขาใหม่ที่ เซ็นทรัลเวิล์ด ในลักษณะของแฟล็กชิพสโตร์ เป็นสาขาที่ 6 มีมูลค่าลงทุน 12 ล้านบาท จากปกติอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านบาท หวังให้เป็นโมเดลต้นแบบสำหรับการขยายสาขาใหม่ และยังเป็นการสร้างการรับรู้ให้แบรนด์ คาซ่า ลาแปง (Casa Lapin) ได้เป็นอย่างดี ถือเป็นสาขาที่เปิดอยู่ในศูนย์การค้าแห่งแรกของร้าน คาซ่า ลาแปง (Casa Lapin) จากเดิมที่มักเปิดเป็นสาขาสแตนอโลน
“เราได้การสนับสนุนจากแผนการ Synergy ภายในกลุ่มเจมาร์ท ขณะเดียวกัน เราก็สามารถที่จะยืนด้วยตนเองได้อย่างแข็งแกร่ง ปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้คาซ่า ลาแปง (Casa Lapin) เป็นอีกแหล่งไลฟ์สไตล์ยอดฮิตในใจผู้บริโภคให้ได้ โดย คาซ่า ลาแปง (Casa Lapin) สาขาเซ็นทรัลเวิล์ด ที่เราเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อไม่นานมานี้นั้น นับเป็นการเข้ามาเปิดสาขาอยู่ในห้างฯ อย่างเต็มตัว จากเดิมที่จะตั้งสาขาแบบร้านเดี่ยว สแตนอโลน อีกทั้ง การเปิดสาขาในห้างใหญ่กลางกรุงที่มีคนเดินพลุกพล่านตลอดเวลา จะช่วยให้เป็นที่รู้จักได้อย่างรวดเร็ว และมีกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งลูกค้าที่เป็นคนไทยและลูกค้าชาวต่างชาติ”
*** สร้างแบรนด์ให้แข็ง ก่อนบุกตลาดต่างประเทศ
สิ่งที่สำคัญมากที่สุดของการทำธุรกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนนั้น หลักๆ คือ การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งกลยุทธ์ที่บริษัทฯ เลือกใช้ คือ การเปิดสาขาในห้างสรรพสินค้าใจกลางเมือง ที่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมากในทุกๆ วัน เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์เพิ่มมากขึ้นจากเดิม เมื่อแบรนด์แข็งแกร่งแล้ว ตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มในต่างประเทศ โดยเลือกใช้เมล็ดกาแฟของไทย เพื่อเป็นการสนับสนุนเกษตรกรไทยที่ปลูกเมล็ดกาแฟให้มีรายได้ที่มั่นคง และผลักดันให้เล็ดกาแฟไทยดังไกลสู่ระดับสากล
“สำหรับการขยายสาขา เราตั้งเป้าไว้ที่ประมาณปีละ 3 – 4 สาขา จากเดิมตอนนี้มีอยู่ทั้งหมด 6 สาขา คาดว่าในปีหน้าจะเปิดเป็นแฟลกชิพสโตร์ตั้งอยู่ในร้านสแตนอโลนเพิ่มอีก 1 แห่งที่พัทยา และมองว่าอีก 3 ปีข้างหน้าจะเข้าไปเปิดสาขาในต่างประเทศ โดยจะเน้นเปิดในโซนเอเชียก่อนเป็นหลัก มองประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง และไต้หวันเป็นกลุ่มประเทศแรกที่มีโอกาสมากที่สุด เนื่องจากมีฐานลูกค้าที่ชอบดื่มกาแฟเป็นจำนวนมาก”
*** กางแผน ดัน “บีนส์ แอนด์ บราวน์” เข้าตลาดฯ
ปัจจุบันบริษัทฯ มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 5 ล้านบาท หรือราว 60 ล้านบาทต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดิมปี 2560 ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 3 ล้านบาท โดยคิดเป็นสัดส่วนรายได้มาจากธุรกิจหลัก 2 แห่ง คือ จากร้านคาซ่า ลาแปง (Casa Lapin) 80% แบ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายกาแฟ และเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ จำนวน 70% จากอาหารและเบเกอรี่ 30% ในอนาคตจะมีรายได้จากของที่ระลึกเพิ่มเข้ามา และจากร้านแรบบ์ คอฟฟี่ (Rabb Coffee) จำนวน 20% โดยบริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้เติบโตต่อเนื่องภายในปี 2562 จะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 360 ล้านบาท พร้อมกับเปิดสาขา Casa Lapin ครบ 40 แห่งทั่วกรุงเทพฯ พร้อมเดินหน้านำบริษัท บีนส์ แอนด์ บราวน์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปี 2564 นี้ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน
เป็นที่น่าจับตามองว่า ในฐานะบริษัทแม่ บมจ.เจเอเอส แอสเซ็ท (J) ที่เข้ามารุกในธุรกิจนี้ จะสามารถผลักดัน บีนส์ แอนด์ บราวน์ ให้เติบโตได้ตามแผนที่วางไว้หรือไม่ ลดความเสี่ยงในการพึ่งพิงธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ลดต้นทุนในการลงทุนบิ๊กโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ แต่จะมีท่อน้ำเลี้ยงที่มีคุณภาพ เสริมผลประกอบการบริษัทฯ ให้เติบโตอย่างมั่นคงได้....