บริษัท คัมเวล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KUMWEL กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai วันที่ 1 สิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นบริษัทแรกและบริษัทเดียวที่ทำธุรกิจ “ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ป้องกันฟ้าผ่า” และเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น
KUMWEL มีวิสัยทัศน์ "มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในระบบต่อลงดิน และระบบป้องกันฟ้าผ่าอย่างครบวงจร เป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งระดับโลก และเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืน"
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย ได้สรุปข้อมูลที่สำคัญของบริษัทน้องใหม่จากไฟลิ่ง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของนักลงทุน
1.ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ป้องกันฟ้าผ่า
บมจ.คัมเวล คอร์ปอเรชั่น (KUMWEL) ก่อตั้งโดยคุณบุญศักดิ์ เกียรติจรูญเลิศ และคุณฉวีวรรณ เกียรติจรูญเลิศ จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2542 โดยตอนแรกใช้ชื่อบริษัท เค.เอ็ม.แอล.เทคโนโลยี จำกัด
KUMWEL ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับ 1.ระบบต่อลงดิน (Grounding System)2.ระบบป้องกันฟ้าผ่า(Lightning Protection System)3.ระบบป้องกันเสิร์จ:ไฟกระโชก(Surge Protection System)และ4.ระบบตรวจจับและเตือนภัยฟ้าผ่า(Lightning Detection & Warning System) อย่างครบวงจรตามมาตรฐานสากล ภายใต้ตราสินค้า “Kumwell” ก่อนที่ต่อมาจะเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.คัมเวล คอร์ปอเรชั่น เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2561
KUMWEL มีบริษัทย่อย 2 บริษัท ได้แก่
(1) บริษัท คัมเวล จำกัด (KW) ผลิตและจำหน่ายแม่พิมพ์กราไฟต์ (Graphite Mold) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับระบบต่อลงดิน ให้แก่ KUMWEL แต่เพียงผู้เดียว
(2) บริษัท คัมเวล-นาวแคสท์ จำกัด (KWN) ดำเนินธุรกิจให้เช่าเสาสัญญาณตรวจจับและแจ้งเตือนฟ้าผ่า ให้แก่ KUMWEL แต่เพียงผู้เดียว
ปัจจุบัน KUMWEL และบริษัทย่อยมีจำนวนสินค้าที่จัดจำหน่ายกว่า 2,500 รายการ เพื่อตอบสนองความต้องการและลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันของลูกค้ากลุ่มต่างๆ และถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจดังกล่าว
2.กลุ่มนายบุญศักดิ์ เกียรติจรูญเลิศ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ณ วันที่ 13 มีนาคม 2561 กลุ่มนายบุญศักดิ์ เกียรติจรูญเลิศ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ด้วยสัดส่วน 92.65% หลังเสนอขายหุ้นไอพีโอ จะลดเหลือสัดส่วน 64.64%

3.มีฐานลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ
กลุ่มลูกค้าของ KUMWEL มีทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยกว่า 70% ของรายได้มาจากในประเทศ ที่เหลือมาจากต่างประเทศ
-ประเทศไทยมีฐานผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ (End User) เป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของโครงการจาก 6 ภาคส่วน (ไม่เน้นผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในระดับครัวเรือน) ได้แก่ กลุ่มภาคการไฟฟ้า กลุ่มภาคคมนาคม กลุ่มภาคการสื่อสารโทรคมนาคม กลุ่มภาคอุตสาหกรรม กลุ่มภาคสิ่งปลูกสร้าง และกลุ่มภาคความมั่นคงทางทหาร
-ประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงคโปร์
-ประเทศในภูมิภาคอื่นๆ เช่น จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี บังกลาเทศ ศรีลังกา ปากีสถาน อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาต้าร์ โอมาน เยเมนซาอุดิอาระเบีย ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก อเมริกาใต้ เป็นต้น
4.บิ๊กแคปในตลาดหุ้นเป็นลูกค้า GULF-BGRIM-TOP-PTT
บริษัทฯ มีกลุ่มลูกค้าหลากหลาย และเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นตัวอย่างรายชื่อกลุ่มลูกค้าที่เคยซื้อผลิตภัณฑ์จาก KUMWEL ได้แก่
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค,การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย,บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF),บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM),บริษัท พัฒนาพลังงานธรรมชาติ จำกัด
บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT),Vietnam Railways,การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย,การรถไฟแห่งประเทศไทย
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ,องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ,บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC),บริษัท ทีโอที จำกัด
บมจ.ไทยออยล์ (TOP),บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC),บมจ.ปตท. (PTT)
บมจ.ศุภาลัย(SPALI),บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด (เทสโก้ โลตัส),บริษัท บุญถาวรเซรามิค,บริษัท ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด,บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน),บมจ.ไรมอน แลนด์(RML),บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT)
5.เงินระดมทุนส่วนใหญ่ใช้ก่อสร้างโรงงานและปรับปรุงการผลิต
ในปี 2563 บริษัทมีแผนจะก่อสร้างโรงงานอาคารผลิตสินค้ากลุ่ม “หลักดิน"(Ground Rod)” ซึ่งเป็นแท่งเหล็กชุบด้วยทองแดง เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของระบบต่อลงดิน (Grounding Syste)คาดจะใช้เงินลงทุนประมาณ 68 ล้านบาท จากการขาย IPO
คาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรภายในปี 2563 และเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในกลางปี 2564
สาเหตุที่จะต้องสร้างโรงงานใหม่ เนื่องจากกำลังการผลิตสินค้ากลุ่มหลักดินปัจจุบันอยู่ที่ไม่เกิน 120,000 เส้นต่อปี และบริษัทใช้กำลังการผลิตไปแล้ว 80% ทำให้โรงงานเก่ารองรับการผลิตได้ถึงปี 2564 เท่านั้น
ในขณะที่ยอดขายหลักดินเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสายการผลิตหลักดิน ซึ่งตั้งอยู่ที่โรงงานตำบลบางเลน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี เป็นกระบวนการผลิตแบบเก่า และมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด
โรงงานใหม่นี้ จะย้ายไปก่อสร้างที่ตำบลไทรใหญ่ อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี โดยคาดว่าโรงงานใหม่จะช่วยลดต้นทุนการผลิต,เพิ่มกำลังการผลิตหลักดินเป็น 240,000 เส้นต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 1 เท่าของกำลังการผลิตในปัจจุบัน
6.มีหุ้นที่ไม่ติด Silent Period คิดเป็น 9.64%
สัดส่วนหุ้นของ “ผู้มีส่วนร่วมในการบริหาร” ที่ไม่ติด Silent Period มีจำนวน 41,452,000 หุ้น คิดเป็น 9.64% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้
7.ผลงานในอดีต เผชิญความท้าทายต้นทุนขาย-ค่าใช้จ่ายบริหาร
งวดปี รายได้รวม(ลบ.) กำไร(ลบ.) อัตรากำไรสุทธิ(%)
2559 409.83 75.14 18.33
2560 433.30 66.40 15.32
2561 469.72 31.99 6.81
Q1/62 110.29 9.00 8.16
*ปี2560 อัตรากำไรสุทธิลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากปี 2559 เนื่องจากบริษัทมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ
*ปี2561 อัตรากำไรสุทธิลดลงเหลือ 6.81% จาก 15.32% ในปี 2560 มีสาเหตุหลักมาจากสัดส่วนต้นทุนขายที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบด้วยค่าเผื่อการด้อยค่าสินค้าล้าสมัยที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายในการบริหารที่เพิ่มสูงขึ้นจากการปรับโครงสร้างเงินเดือน
*งวด 3 เดือนแรกของปี2562 อัตรากำไรสุทธิลดลงเป็น 8.16% จาก 12.87% ในงวด3 เดือนแรกปี2561 สาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขายสินค้าและบริการปรับตัวลดลง ในขณะที่ค่าแรงพนักงานเพิ่มขึ้นจากการขึ้นเงินเดือน และค่าเผื่อสินค้าสินค้าล้าสมัยที่เพิ่มขึ้น
8.ราคาเสนอขาย 1.10 บาท/หุ้น อิง P/E 17.94 เท่า
เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนจำนวน 130 ล้านหุ้น หรือ 30.23% ของทุนชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขาย IPO
ราคาเสนอขายต่อประชาชน 1.10 บาท/หุ้น อิง P/E17.94 เท่า คำนวณจากกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลกำไรสุทธิ 4 ไตรมาสย้อนหลัง (1 เม.ย.61-31 มี.ค.62) ซึ่งมีกำไรสุทธิ 26.36 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดภายหลังการเสนอขาย 430 ล้านหุ้น (Fully Diluted)จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.06 บาท
บริษัทจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)
ไม่มีบริษัทจดทะเบียน ที่ประกอบธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์เหมือนหรือใกล้เคียงกับธุรกิจของบริษัทฯ แต่เพื่อให้มีข้อมูลประกอบการประเมินราคาหุ้นที่เสนอขาย จึงเทียบกับ P/Eตลาด mai เฉลี่ย 3 เดือนย้อนหลัง (16 เม.ย.62 - 15 ก.ค.62) ซึ่งมีค่าเท่ากับ 45.65 เท่า
บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
9.ฐานะการเงินแกร่ง D/E ไม่ถึง 1 เท่า
งบการเงินล่าสุดสิ้นสุด 31 มี.ค.62
หนี้สินรวม 115.50 ล้านบาท , ส่วนผู้ถือหุ้น 337.69 ล้านบาท , หนี้สินต่อทุน (D/E) 0.34 เท่า
10.นโยบายจ่ายปันผลไม่น้อยกว่า 40%
บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นแต่ละปีไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และหักสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินปันผลที่กล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงาน ฐานะทางการเงินของบริษัท