นับเวลาถอยหลังกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่จะยุติการได้รับการลดหย่อนภาษีจนถึงสิ้นปี 2562 แต่บรรดานักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มเบาใจเรื่องกองทุนใหม่ที่จะมาแทนที่เพื่อลดหย่อนภาษี เพราะสุดท้ายก็จะมีกองทุนใหม่อย่าง SEF มารับช่วงต่อในปีหน้า ซึ่งหลายคนยังสงสัยว่า การจากไปของ LTF และการเข้ามาของ SEF จะมีความเหมือนและความแตกต่างกันอย่างไร
จุดประสงค์ของ SEF หรือ กองทุนหุ้นยั่งยืน คือ การลดความเหลื่อมล้ำ เพราะในอดีต LTF ถูกตั้งมาเพื่อสนับสนุนการลงทุนในตลาดหุ้นและกองทุน เพื่อให้มีสภาพคล่องและสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดหุ้น แต่ปัญหาที่พบตามมา คือ ส่วนที่ลดหย่อนนั้นเป็นส่วนสำคัญที่สร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้น เพราะบุคคลเสียภาษีที่มีรายได้ต่ำจะลดหย่อนภาษีได้น้อยกว่าคนที่มีรายได้สูง และยิ่งรายได้สูงก็จะยิ่งใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เยอะ เพราะการลดหย่อนนั้นคิดตามขั้นบันไดและฐานภาษีของผู้เสียภาษี ยิ่งรายได้สูงยิ่งฐานภาษีสูงและยิ่งลดหย่อนจาก LTF ได้เยอะ
SEF จึงถูกคิดมาเพื่อแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำนี้ ให้ผู้ที่มีรายได้น้อยสามารถใช้สิทธิซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น เท่ากับว่าจะสามารถลดหย่อนภาษีได้มากกว่าเดิม
หากจะพอแยกความต่าง ของ LTF และ SEF จะแยกได้ดังนี้
“นโยบายการเงินลงทุนที่ต่าง”
ซึ่งหากจะพิจารณาความเหมือนความต่างของ LTF และ SEF จะมีทั้งความต่างนโยบายการลงทุน ที่เดิมกองทุน LTF ระบุว่าให้ลงทุนในหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65% แต่สำหรับกอง SEF ระบุว่า ให้ลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หุ้นยั่งยืนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม มีธรรมาภิบาลดี หรือที่เรียกว่า ESG ไม่น้อยกว่า 65%
“สิทธิทางภาษีที่เพิ่มขึ้น”
หากมาดูสิทธิทางภาษี เดิม LTF จะซื้อได้ 15% ของรายได้ หรือสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท แต่ SEF ให้ซื้อได้ 30% ของรายได้ หรือสูงสุดไม่เกิน 250,000 บาท ซึ่งการเพิ่มสิทธิประโยชน์นี้ เป็นความตั้งใจที่อยากให้คนรายได้น้อยถึงปานกลางได้หักภาษีเพิ่ม คือ ซื้อได้มากขึ้นจาก 15% เป็น 30% เช่น คนเงินเดือน 30,000 บาท จากเดิมซื้อได้เดือนละ 4,500 บาท ก็จะสามารถซื้อได้ถึง 9,000 บาทต่อเดือน หรือจากปีละ 54,000 บาท มาเป็นปีละ 108,000 บาท
แต่สำหรับคนรายได้สูงที่ซื้อเต็มโควต้า ดูเหมือนว่าจะเสียประโยชน์จากเดิมที่สามารถซื้อได้ถึง 500,000 บาท ก็อาจถูกจำกัดไว้แค่ 250,000 บาทเท่านั้น
“ถือครอง 7 ปีปฏิทิน”
สำหรับสิ่งที่ดูจะเหมือนกัน คือ ระยะเวลาที่ต้องถือครองจากตอนแรกมีแผนจะปรับเป็น 10 ปี แต่ตอนนี้ได้ถูกปรับลงมาเท่ากับ LTF เดิม คือ 7 ปีปฏิทิน

ส่วนเกณฑ์เบื้องต้นที่จะต้องบังคับให้ลงทุนในหุ้น ESG และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ยังคงต้องติดตามว่าท้ายที่สุดแล้วจะมีหุ้นตัวไหนบ้าง ที่ติดโผที่ลงทุนได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า การให้ลงทุน ESG ดูค่อนข้างจำกัด เพราะอาจจะมีหุ้นจำนวนน้อยที่เข้าเกณฑ์ให้เลือกลงทุน แถมยังต้องพิจารณาถึงผลตอบแทนที่จะคุ้มค่าต่อการลงทุนด้วย
ด้านความกังวลของผู้ที่ถือ LTF อยู่ หรืออยากจะลงทุนต่อ ก็ไม่ต้องตกใจว่าจะซื้อไม่ได้ หรือถืออยู่จะทำอย่างไร เพราะกองทุน LTF ยังมีอยู่เช่นเดิม สามารถซื้อต่อได้ เพียงแต่จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนทางภาษีได้เท่านั้น ด้านกองทุน SEF เอง ก็ยังเป็นเพียงข้อเสนอ ที่ยังต้องรอกระทรวงการคลังพิจารณา ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ชัดเจน ดังนั้นคงต้องติดตามดูว่าสุดท้ายกองทุน SEF จะออกมารับช่วงต่อจาก LTF จะมีเงื่อนไขการลงทุนต่างไปจากการคาดการณ์ดังกล่าวหรือไม่