Recommended for You

ส่องเหรียญดิจิทัล สัญชาติไทยมีอะไรบ้าง? : โดย เลดี้แซป1990

ส่องเหรียญดิจิทัล สัญชาติไทยมีอะไรบ้าง? : โดย เลดี้แซป1990

 

Libra Coin มันเหรียญระดับโลก “เฟซบุ๊ก” ขยับทั้งทีโลกนี้ต้องจำ นี่ขนาดยังไม่ได้ออกใช้ ธนาคารกลางทั่วโลกยังปวดหัวกันขนาดนี้ 

 

ใครที่ยังไม่รู้จัก Libra อ่านได้ที่นี่ 10 เรื่องน่ารู้ Libra สกุลเงินดิจิทัลโลก แต่บทความนี้ เลดี้ฯ จะขอพักเรื่อง Libra แล้วหันมามองไทยบ้างดีกว่า

 

เหรียญดิจิทัลที่ริเริ่มแนวคิดโดย “คนไทย” ก็มีอยู่นะ แกะรอยลงไปก็พบว่า “มีหลายเหรียญ” ที่ดังไกลระดับโลก แต่อีกหลายเหรียญ “อาการร่อแร่” ! !   

 

มันก็คงไม่ต่างอะไรกับหุ้นที่มีทั้งบิ๊กแคป สมอลล์แคป หุ้นน้ำดี หุ้นน้ำเน่า หุ้นปันผล หุ้นปลอดภัย ฯลฯ ไปดูกันเลย

 

1. ZCoin (XZC) : ซีคอยน์

ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าทีมพัฒนาเหรียญเป็นคนไทย ชื่อนายปรมินทร์ อินโสม (หนึ่ง) แต่ ZCoin ไม่ได้ระดมทุนด้วยการเสนอขายไอซีโอ จุดเริ่มต้นของการระดมทุนอยู่ที่ซิลิคอนแวลลีย์ (Silicon Valley) ศูนย์กลางของเทคโนโลยีและนวัตกรรมโลก โดยเหรียญนี้เกิดมาตั้งแต่เดือน ก.ย.ปี 2559  

          

ซีคอยน์ มีแนวคิดของเหรียญเป็น เงินดิจิทัล เหมือนกับบิตคอยน์ แต่จุดเด่น คือเน้นความเป็นส่วนตัวในการใช้งาน ปัจจุบันเทรดอยู่หลายกระดานใหญ่ๆ ทั่วโลก เช่น Bittrex,Binance,Huobi,Upbit ฯลฯ  ส่วนในไทยเทรดอยู่ที่กระดาน Bx และ SatangPro ซึ่งนายปรมินทร์ ก็เป็นผู้ก่อตั้ง SatangPro และเป็นซีอีโอด้วย

  

ช่วงปลายปี 2560 ที่ราคาบิตคอยน์พุ่งขึ้นไปเกือบ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ ZCoin 1 เหรียญมีมูลค่าสูงถึง 170 ดอลลาร์หรือ ราว 5,000 บาท นอกจากนี้ ยังเป็นเหรียญที่ติดอันดับ Top100 ของโลกจากทั้งหมด 2,300 เหรียญ 

  

ณ วันที่ 24 ก.ค.2562 ราคา Zcoin 10 ดอลลาร์ หรือราว 300 บาท   

 

2. OmiseGO (OMG) : โอมิเซะโก

ผู้ก่อตั้งเป็นคนไทยชื่อ นายอิศราดร หะริณสุต (ดอน) ได้ตั้งบริษัท Omise ร่วมกับเพื่อนชาวญี่ปุ่นชื่อ นายจุน ฮาเซกาวา เริ่มแรกระดมทุนจากเวนเจอร์แคปปิตอลอยู่หลายครั้ง ก่อนจะมาเปิดระดมทุนด้วยการเสนอขายไอซีโอในกลางปี 2560 ด้วยโทเคนที่ชื่อ OmiseGO (OMG)   

 

รูปแบบการใช้งานของเหรียญ OMG เป็นเงินดิจิทัล โดยโปรเจกต์ของ OmiseGo จะสร้างแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนมูลค่าและการชำระเงินแบบไร้ศูนย์กลาง หรือเป็นอินเทอร์เน็ตของระบบการชำระเงิน ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงบริการทางการเงิน การลงทุน การใช้จ่ายสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยโทเคน OMG

 

ปัจจุบันเทรดอยู่ที่กระดานต่างประเทศ เช่น Huobi Global,DigiFinex, OKEx,Binance,Bittrex ฯลฯ ส่วนในไทยมีซื้อขายอยู่ที่ Bx และ Bitkub 

 

โอมิเซะ นับว่าเป็นบริษัทแรกๆ ที่มีผู้ร่วมก่อตั้งเป็นคนไทยและระดมทุนด้วยการเสนอขายไอซีโอ ปัจจุบันเหรียญ OMG มีมูลค่าตลาด Top50 ของโลก จากทั้งหมด 2,300 เหรียญ มีราคาไอซีโอที่ 0.2283 ดอลลาร์ (ประมาณ 7 บาท)  

  

ณ วันที่ 24 ก.ค.2562 ราคา OMG 1.60 ดอลลาร์ หรือราว 50บาท   

 

3. Happycoin (HPC) : แฮปปี้คอยน์ 

ก่อตั้งโดย นายภัชภูมิ วิตติยากร วรรณพฤกษ์ ซึ่งมีประสบการณ์สายงานไอทีมากกว่า 10 ปี และนาย Lee Cham Sarm ชาวเกาหลี ที่คลุกคลีอยู่ในวงการคริปโตเคอร์เรนซีมากกว่า 5 ปี 

    

แนวคิดของ Happycoin เป็นเงินดิจิทัล เพื่อใช้จ่ายกับพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยในไทย วิธีการได้เหรียญนอกจากซื้อในตลาดรองแล้ว อีกวิธีคือการขุดเหมืองเหมือนกับการขุดบิตคอยน์ ปัจจุบัน HPC เทรดอยู่ที่กระดานต่างประเทศ CoinExchange, HitBTC, Pooldax  

    

ส่วนในไทยเดิมเทรดอยู่ที่กระดาน Coin Asset  แต่ในภายหลังทาง Coin Asset ถูกปฏิเสธใบอนุญาตการประกอบธุรกิจ HPC จะต้องหาบ้านใหม่ แต่ก็ยังไม่พบว่ามีการลิสต์ที่กระดานเทรดอื่นในไทย 

 

ณ วันที่ 24 ก.ค.2562 ราคา HPC 0.04 ดอลลาร์ หรือราว 1.25 บาท 

 

4. JFinCoin (JFIN) : เจฟินคอยน์ 

ผู้ออกเสนอขาย JFinCoin คือ บริษัท เจเวนเจอร์ส โดยมีนายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ (ทาโร่) เป็นซีอีโอและทีมงานหลัก และเจเวนเจอร์สยังเป็นบริษัทย่อยของ "เจมาร์ท" (JMART) ภายใต้ร่มเงาของนายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งเจมาร์ท เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย 

 

แนวคิดของเหรียญ เป็นโทเคนเพื่อการใช้ประโยชน์ในสินค้าหรือบริการ (Utility Token) โปรเจกต์นี้จะพัฒนาแพลตฟอร์มการให้กู้ยืมออนไลน์บนระบบบล็อกเชน (DDLP) โทเคนจะใช้เพื่อ 1.เป็นตัวกลางของระบบบล็อกเชน ในการมีส่วนร่วมสอบทานธุรกรรม (Validator) และ 2.เป็นเครื่องมือในกลไก Proof of Stake เพื่อผลักดันให้ระบบเดิน เปรียบได้กับแก๊ส หรือน้ำมัน

 

ในไทยมีการซื้อขายเหรียญ JFIN อยู่ที่เว็บ SatangPro และ Bitkub ยังไม่ได้ลิสต์ในกระดานเทรดต่างประเทศ

 

JFIN เป็นโปรเจกต์ไอซีโอแรกที่ออกโดยบริษัท ที่มีแม่อยู่ในตลาดหุ้น สร้างความฮือฮาให้กับคนในวงการตลาดหุ้นมาก แต่ก็เป็นเหรียญที่ทำเอาปลาหมึก กุ้ง ปู ผิดหวัง (ฝั่งตลาดหุ้น เรียกว่าเม่าน้อย) เพราะราคาไม่เคยขึ้นไปที่ระดับไอซีโอ 6.60 บาทอีกเลย  

 

ณ วันที่ 24 ก.ค.2562  ราคา JFIN ราว 2 บาทเศษ ไม่ต้องคิดเป็นดอลลาร์ เพราะเหรียญไทยแท้จริงๆ มีขายแค่ในไทย เมื่อตอนระดมทุนเปิดรับแค่เงินสกุลบาท ต่างจากเหรียญอื่นที่ทำไอซีโอ รับเป็น Cryptocurrency

 

5. Carboneum token (C8) : คาร์บอเนียม

ผู้ก่อตั้งคือ นายธีระชาติ ก่อตระกูล ชื่อเล่น “แม็กซ์” เขายังเป็นเจ้าของและผู้พัฒนาแอปพลิเคชันวิเคราะห์หุ้น "StockRadars" โดยเสนอขายไอซีโอด้วยโทเคนที่ชื่อ Carboneum (คาร์บอเนียม)       

 

แนวคิดของเหรียญ เป็น Utility Token โปรเจกต์นี้นำเงินระดมทุนไปพัฒนาแพลตฟอร์มโซเชียลเทรดดิ้ง เพื่อให้นักลงทุนเลียนแบบไอดอลสายเทรดคริปโตที่ตนเองชื่นชอบ  โดยโทเคน C8 มีไว้ใช้จ่ายค่าธรรมเนียมซื้อขาย,เข้าถึงฟีเจอร์ในระดับพรีเมียม รวมถึงการใช้รับส่วนลดต่างๆ ของกลุ่มบริษัท  

 

แม้จะเป็นเหรียญสัญชาติไทยก็จริง แต่ก็ไม่มีให้ซื้อขายในไทยตั้งแต่แรกอยู่แล้วเพราะมุ่งจะโกอินเตอร์ ปัจจุบันเทรดอยู่ที่กระดาน IDEX   

 

Carboneum จัดว่าเป็นไอซีโอของคนไทยที่ระดมทุนในจังหวะที่ตลาดไอซีโอบูมมากๆ เช่นกัน ผลตอบรับจึงล้นหลาม ระดมเงินได้ครบเงินภายในเวลาไม่นาน แต่ราคาเหรียญก็ยังไม่ค่อยไปไหน จากไอซีโอ 1 C8 Token = 0.10 USD (ราว 3 บาท) 

 

ณ วันที่ 24 ก.ค.2562 ราคา C8 เหรียญละประมาณ 0.01 ดอลลาร์หรือราว 30 สตางค์  กลายเป็น “โทเคนต่ำบาท” ไปเรียบร้อย ถ้าวงการหุ้นก็เรียก “หุ้นต่ำบาท” 

 

6. SixNetwork (SIX) : ซิกซ์เน็ตเวิร์ค             

SixNetwork เกิดจากการรวมตัวของ 3 กลุ่มเพื่อทำการออกขายไอซีโอ โดยหนึ่งในนั้นคือ กลุ่มคนไทยและยังดำรงตำแหน่ง Co-founder,Co-CEO เหมือนกันคือ นายวัชระ เอมวัฒน์ (กั๊ก) และ นายณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ (หมู) โดยเสนอขายไอซีโอด้วย SIX Token (SIX) 

 

แนวคิดของเหรียญเป็น เงินดิจิทัล เพื่อใช้จ่ายในแอปพลิเคชั่นต่างๆ ในระบบนิเวศน์ของกลุ่ม เช่น Ookbee และ Yellow Digital Marketing Group (YDM) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้ง SixNetwork โดยภายใต้กลุ่มบริษัท มีผู้ใช้งาน SIX Token ทั้งหมดมากกว่า 40 ล้านคน ทางกลุ่มมีเป้าหมายที่จะเป็น "The Internet of Digital Services" 

 

ในไทย SIX Token เทรดอยู่ที่กระดาน Bitkub ส่วนในต่างประเทศเทรดอยู่ที่ CPDAX,Tokenomy

 

ตอนเปิดขายไอซีโอมีนักลงทุนจาก 61 ประเทศทั่วโลกให้ความสนใจซื้อ SIX Token และบริษัทระดมทุนได้ตามแผน แต่นักลงทุนค่อนข้างผิดหวังกับราคาเหรียญเช่นกัน จากไอซีโอ 1 SIX = 0.10 USD (ประมาณ 3 บาท) 

 

ณ วันที่ 24 ก.ค.2562 ราคา SIX 0.009 ดอลลาร์ หรือราว 26 สตางค์  กลายเป็น “โทเคนต่ำบาท” เช่นเดียวกับ Carboneum    

 

7. AFIN Coin (AFIN) : เอฟิน คอยน์  

ออกและเสนอขายโดย บริษัท Asian Fintech (Afin) ซึ่งมีนายสิทธิศักดิ์ มหาสิทธิวัฒน์ เป็นผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้ง เสนอขายไอซีโอด้วยเหรียญ Afincoin (AFIN) 

 

แนวคิดของเหรียญเป็น Utility Token โดยโปรเจกต์นี้ระดมทุนไปพัฒนาแพลตฟอร์มการประมูลบนบล็อกเชน แพลตฟอร์มการจองใช้บริการด้านสุขภาพ  และแพลตฟอร์มการจัดการขุดเหมือง (Crypto Mining) 

 

เหรียญ AFIN ใช้เพื่อเข้าถึงแพลตฟอร์ม Business Blockchain ของ Asian Fintech หรือใช้เป็นส่วนลดในรายการต่างๆ  ตามผลิตภัณฑ์ของแต่ละแพลตฟอร์ม ปัจจุบันซื้อขายอยู่ที่กระดาน LATOKEN,P2PB2B และ Cex24 ไม่ได้ลิสต์ในกระดานเทรดของไทย  

 

ราคาไอซีโอ 1 AFIN = 0.3 USD (ประมาณ 9 บาท) ปัจจุบันราคาปรับลงมากเช่นกันกับไอซีโอตัวอื่นๆ 

 

ณ วันที่ 24 ก.ค.2562  ราคา AFIN 0.01 ดอลลาร์หรือราว 30 สตางค์  กลายเป็น “โทเคนต่ำบาท” เช่นเดียวกับ Carboneum และ SixNetwork     

 

8. Zmine Token (ZMN) : ซีมายน์       

ออกและเสนอขายโดยบริษัท ซีมายน์ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด (ZMINE Holdings Limited) ของนายกษมพัทธ์ วิธานวัฒนา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารโดยมีราคาขายไอซีโอ 1 ZMN ประมาณ 1.78 บาท 

 

แนวคิดของเหรียญ เป็นทั้งเงินดิจิทัล และ Utility Token โปรเจกต์นี้ระดมทุนเพื่อนำเงินส่วนหนึ่งไปจัดซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการขุดทั้งหมด โดยเฉพาะการ์ดจอ บางส่วนจะนำไปใช้ในการวิจัยและพัฒนาโปรแกรมและระบบต่างๆ เพื่อให้ระบบสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงลงทุนในด้านการตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับโทเคน

 

ปัจจุบัน Zmine เทรดกระดานต่างประเทศที่ Livecoin,Trade Satoshi ส่วนในไทย มีซื้อขายอยู่ที่กระดาน Bx 

 

เหรียญ ZMN เป็นเหรียญที่ระดมทุนด้วยการเสนอขายไอซีโอของคนไทยเหรียญแรกที่ได้รับการคัดเลือกเข้าจัดอันดับที่เว็บไซต์ Coinmarketcap แต่ถือเป็นเหรียญของคนไทยลำดับที่ 2 ต่อจาก ZCoin ที่ได้รับการจัดอันดับในปลายปี 2559 (ZCoin ไม่ได้ระดมเงินจากการขายไอซีโอ)

 

ณ วันที่ 24 ก.ค.2562  ราคา ZMN 0.01 ดอลลาร์หรือราว 30 สตางค์  เป็น “โทเคนต่ำบาท” เช่นเดียวกับ Carboneum ,SixNetwork และ AFIN Coin     

 

 

ท้ายบทความนี้ เลดี้ฯ อยากชวนเพื่อนๆ มานับถอยหลังไปพร้อมกันดีกว่าก่อนสิ้นปี 2562 เหรียญดิจิทัลเหรียญแรกที่ออกภายใต้ พ.ร.ก การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปี 2561 คือเหรียญอะไร? ออกโดยใคร?

 

------------------------------------------------

*ปล.โปรเจกต์ไอซีโอในบทความนี้ (ไม่ว่าจะออกในไทยหรือใน ตปท.) เกิดขึ้นก่อนจะมี พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 

 **คำเตือน: บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพียงรวบรวมรายชื่อเหรียญดิจิทัลที่ออกโดยคนไทย..ไม่ใช่การแนะนำลงทุน สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ผู้สนใจควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในอีกหลายมิติ

=========================

บทความ By เลดี้แซป1990

เลดี้ฯ มีห้องติดตามบทความใน Telegram >>  https://t.me/joinchat/AAAAAEodPe0kW-t8jQwpBg

และมีห้องเมาท์มอย ยามว่าง ใน LINE SQUARE >> https://bit.ly/2Um2nhb

อย่าลืม! กดติดตามเลดี้ฯ ไว้…แล้วพบกันใหม่ในบทความถัดไปนาจา ^_^ 



 



 







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh