บมจ.กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) หุ้นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ลำดับที่ 22 (วัดจากขนาดมาร์เก็ตแคป) จากหุ้นในหมวดพลังงานทั้งหมด 51 บริษัท สามารถกำไรแตะ 1,000 ล้านบาท เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อปี 2561 ส่งผลให้กำไรต่อหุ้นเริ่มดูดีขึ้นจาก 0.08 บาท เป็น 0.09 บาท และ 0.15 บาทใน ปี 2559-2561 ตามลำดับ
น่าสนใจคือ ราคาหุ้นที่เคยทรงตัวอยู่ราว 2 บาทเศษเมื่อต้นปี และพยายามจะฝ่าด่านทะลุ 3 บาทขึ้นไปหลายครั้งแต่ไม่ผ่าน ล่าสุด ผ่านมาได้แล้วในช่วงเดือน พ.ค. ขณะที่ NVDR ก็ทยอยเข้ามาเก็บเพิ่มต่อเนื่อง
วันนี้เราจะไปคุยกับ “โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์” ประธานกรรมการบริหาร ถึงแนวโน้มผลงานปีนี้จะดีต่อเนื่องหรือไม่ โอกาสที่จะรักษาฐานกำไรระดับ 1,000 ล้านบาท และแผนในระยะ 3 ปี
***มั่นใจรักษาฐานกำไรหลักพัน ลบ. ต่อเนื่องเป็นปีที่2
ในปี2561 ที่ผ่านมา GUNKUL มีกำไรแตะ 1,000 ล้านบาทซึ่งนับว่าเป็น จุดสูงสุดตลอดกาลของบริษัท ส่วนปีนี้แม้ว่ากำไรไตรมาสแรกจะออกมาดี แต่บริษัทฯ ยังเหลือเวลาที่ต้องพิสูจน์ผลงานอีก 3 ไตรมาส ด้านโบรกฯ มองฐานกำไรของบริษัทปีนี้จะเปลี่ยนไปสู่ระดับพันล้านบาท
“โศภชา” กล่าวว่า ปีที่แล้วก็สามารถทำได้ถึงระดับพันล้านบาทแล้ว และมองว่ามีโอกาสแน่นอนที่จะรักษาฐานกำไรปีนี้ที่ระดับ 1,000 ล้านบาทและคาดว่าจะเกินไปอยู่มาก เนื่องจากทิศทางไตรมาส 2 ยังดูดีและรวมครึ่งปีก็เป็นที่น่าพอใจ ขณะที่ปีนี้จะเป็นปีที่บริษัทรับรู้รายได้จากการขายไฟเต็มปีราว 340 กว่าเมกะวัตต์
ไตรมาส 1/62 บริษัทฯ มีกำไรประมาณ 230 กว่าล้านบาท ยอดขายประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท และเชื่อว่าไตรมาส 2/62 ยอดขายน่าจะขึ้นไปแตะที่ระดับ 3 พันกว่าล้านบาท
“ในส่วนของกำไรไตรมาส 2 คาดว่าจะมากกว่าไตรมาส 1 เมื่อรวมกันแล้วทำให้สองไตรมาสนี้ น่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีและกำไรน่าจะแตะครึ่งหนึ่งของ 1,000 ล้านบาทแล้ว”
สาเหตุที่มั่นใจว่ากำไรปีนี้จะเกินไปจาก 1,000 ล้านบาทค่อนข้างมาก ปัจจัยหลักมาจากการจ่ายไฟเข้าระบบปีนี้ประมาณ 340 กว่าเมกะวัตต์ และรับรู้ค่าไฟเต็มปี ขณะที่แรงลมไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ก็มีความใกล้เคียงกัน ดังนั้น ภาคพลังงานน่าจะเป็นตัวที่จะทำให้รายได้ของปีนี้มีอัตราการเติบโตอย่างมาก
“ครึ่งหนึ่งของรายได้ในปีนี้น่าจะมาจากธุรกิจพลังงาน ส่วนอีก 30% มาจากธุรกิจเทรดดิ้งและอีก 20% มาจากธุรกิจ EPC”
***ปักธงเป้าหมายการเติบโตของรายได้ปีนี้ 25%
สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจของบริษัท ยังคงยึดตามที่เคยได้ประกาศไว้เมื่อต้นปีคือเป้าหมายรายได้โต 25% จาก 6,400 ล้านบาทในปีก่อน เป็น 8,000 ล้านบาทในปีนี้
“เราก็ประกาศไปตั้งแต่ต้นปีแล้วว่ารายได้จะโต 25% แล้ว GUNKUL โตทุกไตรมาส และเราก็คิดว่ากำไรน่าจะดีกว่าปีที่แล้วทุกไตรมาสเช่นกัน”
ส่วนฐานกำไรของบริษัท สามารถแตะหลักพันล้านบาทมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ดังนั้น ปีนี้กำไรก็ควรจะต้องเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะเกินจาก 1,000 ล้านบาทไปอยู่มากพอสมควร
ปัจจัยหนุนคือ ช่วงของไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ลมจะค่อนข้างแรงและเป็นฤดูกาลของลม ประกอบกับธุรกิจรับเหมาก็เติบโตดี โดยบริษัทจะ Supply อุปกรณ์ให้กับหน่วยงานการไฟฟ้าที่จะต้องซื้อผลิตภัณฑ์ซ่อมแซม ปรับปรุงและก่อสร้างขยาย ซึ่งช่วงปิดงบประมาณก็ราวเดือนตุลาคม ดังนั้นช่วงไตรมาส 3 น่าจะเห็นสถานการณ์เร่งเบิกจ่ายงบเพื่อซื้อสินค้า และเป็นช่วงไฮซีซั่น
*** ตั้งเป้าภายในปี 2565 ขายไฟ 1,000 เมกะวัตต์
แม้ในระยะหลังคือช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สัญญาซื้อขายไฟออกมาค่อนข้างน้อย แต่บริษัทฯ ก็ได้เตรียมแผนรองรับเพื่อให้ผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ด้วยประสบการณ์ในด้านธุรกิจพลังงานทดแทน แม้ภาครัฐไม่มีสัญญาซื้อขายไฟเพิ่ม แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือต้นทุนในการติดตั้งแผงโซลาร์ลดลงค่อนข้างมาก จะเป็นโอกาสของการขยายตลาดโซลาร์รูฟ เพื่อให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้
“เรามีทั้ง 2 แบบคือ 1.ลูกค้าออกเงินเองลงทุนเอง เราไปก่อสร้างให้ ผลิตให้ ดูแลบำรุงรักษาให้ตลอดระยะเวลา 25 ปี 2.บริษัทลงทุนให้กับลูกค้าและขายหน่วยไฟฟ้าให้ แต่จะเป็นค่าไฟที่ Discount ลงไป คือจากที่คุณซื้อค่าไฟซักประมาณ 4-5 บาทกับหน่วยงานการไฟฟ้า ก็มาซื้อกับกันกุล อาจจะได้ราคาที่ถูกลง 10% หรือ 15% ไปจนถึง 20%”
ที่กล่าวมานี้ถือเป็นอีกหนึ่ง Business Model ที่เกี่ยวกับธุรกิจพลังงานทดแทนที่จะนำไปสู่เป้าหมายยอดขายไฟฟ้าในอีก 3 ปี (ภายในปี 2565) ที่ 1,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกว่า 500 เมกะวัตต์
โดยปีที่ผ่านมา GUNKUL ทำให้กับภาคเอกชนรายหนึ่งซึ่งมี 30 กว่าโครงการ รวมแล้วประมาณ 30 กว่าเมกะวัตต์ และยังมีภาคเอกชนรายที่ไม่ได้ใหญ่มากขนาด 1-3 เมกะวัตต์ รวมๆ กันแล้วประมาณเกือบๆ 50 เมกะวัตต์ โดยที่ไม่ต้องไปเอาสัญญาซื้อขายไฟจากภาครัฐเลย
*** ลุยโซลาร์รูฟ ส่งแบรนด์ GROOF บุกตลาดครัวเรือน
บริษัทฯ ขยายธุรกิจตลาดพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ในระดับครัวเรือน โดยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แบรนด์ “GROOF” เนื่องจากมองว่าสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ดี ประกอบกับราคาที่ถูกลงกว่าในยุคแรกๆ ที่ผู้คนยังไม่ค่อยนิยม ทำให้การติดตั้งตามบ้านเรือนได้รับความสนใจมากขึ้น
“บ้านเรือนที่มีคนใช้ไฟในเวลากลางวัน เช่น มีสระว่ายน้ำ มีบ่อปลา มีกิจกรรมที่ต้องใช้ในเวลากลางวัน มีคุณพ่อคุณแม่อยู่ที่บ้าน มีเด็กเล็กๆ อยู่ที่บ้าน พอติดแผงโซลาร์ มันก็ทำให้ประหยัดได้มากขึ้น”
GUNKUL ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์นี้ประมาณเกือบ 1 ปีแล้ว พบว่าได้รับความสนใจจากลูกค้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งบริษัทก็ได้ทยอยทำการติดตั้งไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ได้นอกเหนือจากการติดแผงโซลาร์บนหลังคา คือการได้ขอบเขตของงานที่ใหญ่ขึ้นจากภาคครัวเรือนไปสู่ภาคอุตสาหกรรม
“บางคนคิดว่าจะติดดีหรือไม่ติดดี แต่พอเราเข้าไปติดตั้งแผงโซลาร์ให้แล้ว เขามีความรู้สึกว่า มันโอเค มันใช่ ติดแล้วประหยัดจริง มันก็ขยายไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ไปทำให้ที่โรงงาน ไปทำให้ที่อพาร์ตเมนต์ ไปทำให้เป็นโฮมออฟฟิศ ที่เขาใช้ไฟเวลากลางวัน ก็ถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จพอสมควร”
*** วางแผนบุกตลาดต่างประเทศ - เร็วๆ นี้มีข่าวดีที่เวียดนาม
“โศภชา” ฉายภาพอนาคตของ GUNKUL ว่าการทำงานของบริษัทโดยปกติจะเป็นการหวังผลลัพธ์ในระยะยาว เนื่องจากแต่ละโครงการต้องใช้เวลา 2 ปี หรือ 3-5 ปี อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทมีงานรองรับไปในอีก 3 ปีนี้ข้างหน้าแล้ว และหากรวมกับงานในประเทศญี่ปุ่นจะรองรับได้เกือบ 5 ปีที่การันตีว่าบริษัทจะมีรายได้เข้ามาแน่ๆ
“เรามองว่าโอกาสที่จะโตในระยะยาว มันน่าจะไปโตต่างประเทศประเทศที่คือเรามองอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ ที่เราไปลงแล้วคือที่มาเลเซีย เรามีอยู่ 1 โครงการ และที่เวียดนามเราดูมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็คิดว่าไม่น่าจะเกินไตรมาส 3 หรือ 4 ปีนี้น่าจะมีข่าวดีเกี่ยวกับโครงการของเวียดนามขนาดประมาณ 30-50 เมกะวัตต์”
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ญี่ปุ่น 4 โครงการ แบ่งเป็น 2 โครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้างและอีก 2 โครงการสร้างเสร็จแล้ว ดังนั้น โดยรวมแล้วภายใน 3 ปีนี้แต่ละปีนี้ บริษัทฯ จะต้องใช้งบลงทุนประมาณ 5 พันกว่าล้านบาทต่อปี ซึ่งเงินส่วนหนึ่งจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้จากสถาบันการเงิน
“ที่ญี่ปุ่นจะเป็นระดับไฟฟ้าที่ 230 kv หรือว่า 500 kv เพราะฉะนั้น การที่เราทำระยะสั้นมันจะไม่คุ้มค่าในการลงทุน เพราะฉะนั้นคือเลยต้องใช้เวลานานในการก่อสร้างแต่ว่าโรงไฟฟ้าที่เราทำก็ประมาณ 8 เดือนถึง 1 ปี เพราะว่าที่ญี่ปุ่นที่เรามีอยู่ 2 โครงการที่เหลือนี้ โครงการแรกประมาณ 70 เมกะวัตต์ โครงการที่ 2 เกือบ 90 เมกะวัตต์ ก็ถือว่าเป็นไซส์ที่ใหญ่ทีเดียว”
สำหรับโครงสร้างรายในอีก 3 ปี คาดว่าจะมาจากธุรกิจพลังงานประมาณ 40%, EPC ประมาณ 30% ที่เหลือเป็นเทรดดิ้งและในระยะถัดไปก็คาดว่าจะรักษาสัดส่วนโครงสร้างรายได้ไว้ในระดับดังกล่าว
***6 โบรกฯ ให้ราคาเฉลี่ยที่ 3.51 บาท มองอย่างไร
“ถ้ามอง 3.50 บาท มันก็สะท้อนในส่วนของโครงการที่เรามีอยู่ ณ ปัจจุบัน มันยังไม่ได้รวมโครงการในอนาต ซึ่งเรามองว่าเรา Growth อยู่แล้ว และเป้าอีกประมาณสัก 2 ปีกว่าๆ เราจะไปที่ 1,000 เมกะวัตต์ แล้วถ้าเราไป 1,000 เมกะวัตต์ และใช้เงินลงทุนปีหนึ่งประมาณ 5,000 ล้านบาท หุ้นคงจะไม่ได้อยู่ที่ 3.50 บาท”
ดังนั้น นักวิเคราะห์อาจจะประเมินราคาหุ้น ในช่วงระยะเวลาประมาณ 12 เดือน แต่สำหรับ GUNKUL แล้วจะมองในระยะ 3 ปี
เมื่อเราถามต่อว่า อยากฝากอะไรถึงนักลงทุนบ้าง และภาพของ GUNKUL น่าจะเป็นหุ้นแบบไหน “โศภชา” กล่าวว่า
“ถ้าอยากจะลงทุนในหุ้นสักตัวหนึ่งที่คิดว่าเป็นหุ้นที่ปลอดภัย เรามองว่า เรามีความหลากหลายในธุรกิจ ไม่ได้เสี่ยงพึ่งพากับธุรกิจตัวใดตัวหนึ่ง แต่เรากำลังอยู่ในธุรกิจแห่งอนาคต คือพลังงานทดแทน วันนี้มันมากกว่าการที่เราต้องไปพึ่งพารัฐ แต่เราสามารถที่จะผลิตไฟใช้เองได้แล้ว”
ในต่างประเทศมีการผลิตไฟฟ้าและซื้อขายกันเองกันมานานแล้ว หากมองในไทยถ้าประชาชนแค่ 1% หันมาผลิตไฟใช้เอง ตลาดนี้ก็มีมูลค่าเป็นหมื่นล้านบาทแล้ว นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม 3 หน่วยงานการไฟฟ้าถึงมารวมตัวกันเพื่อจะทำเรื่องของระบบซื้อขายไฟ
นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยต้องมีการขยายและวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในขณะที่ GUNKUL ก็ทำธุรกิจก่อสร้าง วางระบบไฟฟ้า การที่จะขยายสายส่ง งานสถานี รวมไปถึงการทำให้เมืองดูน่าอยู่มากขึ้น ไม่มีเสาไฟระเกะระกะ ล้วนเป็นงานที่จะออกสู่ตลาดให้ GUNKUL เติบโตไปได้อีกมาก
“ด้วยเหตุผลนี้จึงมองว่า 3-5 ปี กันกุลเองก็ยังเป็นหุ้นตัวหนึ่งที่มีอนาคต และเป็น Growth Stock ซึ่งก็เห็นแล้วว่าตั้งแต่เข้าตลาดหุ้นมา เรา Gowth ทุกปี”
***งานหลังบ้าน “เรื่องคน” เป็นเรื่องสำคัญ
ในฐานะผู้บริหารในธุรกิจขนาดใหญ่ แน่นอนการบริหารคนก็น่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันซึ่ง “โศภชา” ได้บอกเล่าวิธีการที่ใช้ในการบริหารทีมงาน ให้ทำงานอย่างมีความสุขและมีความสามัคคีไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะการทำงานระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ด้วยขนาดองค์กรประมาณ 800 คน และเรื่องราวเหล่านี้เป็นสิ่งที่เขามองว่า “เป็นความท้าทาย” ในการบริการธุรกิจ
“ในการทำธุรกิจ เรื่องคนเป็นเรื่องสำคัญ เราให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากและเราเตรียมพร้อมทุกๆ ก้าว ในการเข้าไปในธุรกิจใหม่ๆ เพราะฉะนั้นคนเก่าก็จะสอนคนใหม่ แล้วคนใหม่ที่เรารับมาจะมีความเป็น Special มากขึ้น เพราะฉะนั้น ความเก่งของคนรุ่นใหม่กับความเก่งของคนรุ่นเก่า เราพยายามผสมผสานผสานกันแล้วก็ขับเคลื่อนไปในทางเดียวกัน”
ธุรกิจของบริษัทแยกเป็น 3 ธุรกิจที่มีความแตกต่างกัน 1.ธุรกิจพลังงาน 2.ธุรกิจงานรับเหมาและวางระบบทางด้านวิศวกรรม และ 3.ธุรกิจเทรดดิ้ง ความรับผิดชอบในหน้าที่ก็จะต่างกัน บริษัทฯ จึงต้องมีผู้ที่เชี่ยวชาญในแต่ละธุรกิจ ใช้การวางคนให้ถูกตำแหน่ง การทำงานเป็นทีมเวิร์คจึงสำคัญมาก และหากผู้ร่วมงานมีความเป็นมืออาชีพ จะทำให้ผู้บริหารมีข้อมูลในการตัดสินใจง่ายขึ้น
*** ซุ่มนำบล็อกเชนประยุกต์ใช้ด้านพลังงาน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชน เริ่มเข้ามามีบทบาทในทุกวงการ ชัดเจนสุดคือวงการการเงิน แต่ที่ตามมาไม่แพ้กันคือวงการพลังงาน ซึ่งในประเทศไทยมี BCPG ในเครือบางจาก ได้นำบล็อกเชนมาใช้ในการทดลองขายไฟฟ้าแบบ P2P เราจึงไม่พลาดที่จะถามทาง GUNKUL และได้ทราบว่า มีการซุ่มทำโปรเจกต์อยู่เหมือนกัน แต่ยังไม่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ
“เรามีทีมที่ Develop พวกนี้เหมือนกัน เพราะว่าส่วนหนึ่งเราทำโซลาร์ภาคประชาชนถ้าเกิดว่าคือ ในแต่ละบ้านเขาทำกันแล้ว อีกหน่อยมันสามารถที่จะ feed ไฟเข้าไปอีกบ้านหนึ่ง เป็นการซื้อขายกันเองภายใน ตรงนี้เราก็มีการทดสอบร่วมกับมหาวิทยาลัย และก็ทีมงานของเราเทสต์เป็นต้นแบบแล้ว ตอนนี้คือเราทำกับพาร์ตเนอร์ในเมืองไทยแต่ยังไม่ขอเอ่ยชื่อ แล้วก็ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยด้วย เราลองเทสต์ดู feed เข้า grid เลย คาดว่าปีนี้น่าจะได้เห็นเราจะมีการประกาศข่าวแน่นอน”