กลยุทธ์สร้างสมดุลของธุรกิจครอบครัว
โดย นิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย
หัวหน้าสายงาน Clients and Markets และหุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย
บริษัท PwC ประเทศไทย
ช่วงนี้ผมขอพูดถึงธุรกิจครอบครัวบ่อยหน่อยนะครับ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดความท้าทายทางเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยของเราด้วย และธุรกิจครอบครัวของไทยถือได้ว่าเป็นกระดูกสันหลังของระบบเศรษฐกิจไทย เป็นกลไกก่อให้เกิดการจ้างงาน และช่วยสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การบริหารธุรกิจครอบครัวให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะเมื่อต้องดำเนินธุรกิจท่ามกลางความผันผวนของโลกธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้การบริหารจัดการยากมากขึ้นอีก ผมมองว่า หัวใจสำคัญของการสร้างความเติบโตของธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์ใด ๆ คือการสร้างสมดุลระหว่างการบริหารความเป็นเจ้าของ (Manage Ownership) และการบริหารธุรกิจ (Manage Business) ไปพร้อม ๆ กัน
บทความ ‘The Owner’s Agenda: Balancing family and business’ ของ PwC ตะวันออกกลาง ได้ให้แนวทางการสร้างสมดุลระหว่างการบริหารความเป็นเจ้าของ (Manage Ownership) และการบริหารธุรกิจไว้อย่างน่าสนใจ ผมจึงอยากนำมาเล่าให้ฟังครับ ในบทความบอกว่า การบริหารความเป็นเจ้าของเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวซึ่งมีความซับซ้อน และจุดนี้เองทำให้ธุรกิจครอบครัวแตกต่างจากธุรกิจประเภทอื่น ๆ โดยกลยุทธ์การจัดการความเป็นเจ้าของมีอยู่ 4 หัวข้อหลักดังนี้
หนึ่ง กำหนดเป้าหมายและคุณค่า (Purpose and Values) ในบทความครั้งก่อน ผมมีพูดถึงข้อนี้ว่า ธุรกิจครอบครัวต้องกำหนดเป้าหมายและคุณค่าให้ชัดเจน รวมถึงวิธีการปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับคุณค่านั้นด้วย ถ้าเป็นไปได้ ผู้นำธุรกิจควรเขียนเป้าหมายและคุณค่าให้เป็นลายลักษณ์อักษร มิฉะนั้น เมื่อเวลาผ่านไปสมาชิกในครอบครัวอาจมีเป้าหมายและคุณค่าที่ต่างไป อาจทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้
สอง กำหนดการกำกับดูแลที่ชัดเจน (Governance) จะก่อให้เกิดความสมานฉันท์ระหว่างสมาชิกครอบครัว ในข้อนี้ทำได้หลายวิธี เช่น จัดตั้งสภาครอบครัว (Family Council) และธรรมนูญครอบครัว (Family Charter) เพื่อจัดระเบียบและการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวอย่างเป็นธรรม และหากมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ต้องยึดมั่นในความยุติธรรมและความโปร่งใส ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้ง และความตึงเครียดระหว่างสมาชิกได้
สาม วางแผนต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity) ผู้นำธุรกิจต้องจัดทำแผนต่อเนื่องทางธุรกิจ กำหนดรายละเอียดวิธีปฏิบัติอย่างชัดเจนให้เหมาะสมกับขนาดและความซับซ้อนของบริษัท และสุดท้ายคือ ข้อสี่ วางแผนจัดการความมั่งคั่ง (Wealth) เพื่อจัดการทรัพย์สินและความมั่งคั่งสำหรับการส่งมอบกิจการครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นอย่างยั่งยืน
นอกจากการบริหารความเป็นเจ้าของแล้ว การบริหารธุรกิจก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน บทความระบุต่อว่า กลยุทธ์การบริหารธุรกิจครอบครัวมุ่งเน้นไปที่ 7 หัวข้อหลัก คือ หนึ่ง บริหารความเป็นเจ้าของ (Ownership) ซึ่งได้กล่าวไปแล้วข้างต้น สอง การจัดการเงินทุน (Capital) ด้วยการรักษาแหล่งเงินทุนเดิมที่แข็งแกร่ง พร้อมกับมองหาและพิจารณาแหล่งเงินทุนใหม่ และจัดโครงสร้างการใช้เงินทุนให้เหมาะกับรูปแบบธุรกิจ สาม เพิ่มรูปแบบดำเนินธุรกิจและการเติบโต (Deals and Growth) สร้างการเติบโตด้วยการมองหารูปแบบธุรกิจเพิ่มเติม เช่น เข้าซื้อกิจการ หรือร่วมมือกับสตาร์ทอัพ การขายธุรกิจบางส่วนที่ไม่ถนัด เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนซึ่งจะต้องสอดคล้องกับเป้าหมายและคุณค่าของธุรกิจครอบครัวในระยะยาว
สี่ กลยุทธ์ดิจิทัลและเทคโนโลยี (Digital and Transformation) ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญภายใต้การบริหารของผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ เพื่อนำธุรกิจก้าวทันกระแสการเปลี่ยนแปลง สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจครอบครัว และช่วยให้กิจการสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ในข้อนี้ ผมเองมองว่า การนำองค์กรเข้าสู่ดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การทำให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นและประสบความความสำเร็จยังเป็นความท้าทายของธุรกิจครอบครัวไทยหลาย ๆ ราย
ห้า ความเสี่ยงและกฎระเบียบ (Risk and Regulation) ผู้นำต้องทำความเข้าใจและประเมินความเสี่ยงที่ธุรกิจต้องเจอล่วงหน้า และวางแผนการดำเนินธุรกิจตามกฎระเบียบให้ถูกต้องเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
หก สร้างและดึงดูดพนักงานที่มีทักษะ (Talent) การสร้างทักษะพนักงานทำได้หลายวิธี เช่น ผ่านการเรียนรู้จากเว็บไซต์ แอปพลิเคชันต่าง ๆ หรือหลักสูตรการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับทักษะที่จำเป็นในอนาคต นอกจากนั้น การสร้างแบรนด์ธุรกิจของเราให้เป็นองค์กรที่ทาเลนต์อยากร่วมงานด้วย ก็จะช่วยดึงพนักงานที่มีความสามารถเข้ามาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว
เจ็ด ผลประกอบการ (Profitability) เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้ประเมินความสำเร็จของธุรกิจครอบครัว การทบทวนผลประกอบการอยู่เสมอจะทำให้ผู้นำธุรกิจกำหนดเป้าหมาย และกลยุทธ์ที่เหมาะสม เพื่อความต่อเนื่องของธุรกิจ จะเห็นได้ว่าในส่วนของการบริหารธุรกิจนี้ มุ่งเน้นให้ธุรกิจครอบครัวเตรียมพร้อมรับมือและปรับตัวตามสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และตลอดเวลาครับ
ผมหวังว่า เจ้าของธุรกิจครอบครัวจะได้รับประโยชน์จากแนวทางที่นำมาแชร์ให้ฟังนี้ ลองนำไปปรับใช้ สร้างสมดุลระหว่างความเป็นเจ้าของและการบริหารธุรกิจของท่านดูนะครับ เพราะนี่คือหัวใจหลักของการบริหารธุรกิจครอบครัวให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนครับ