Availability Heuristics อีกอุปสรรคที่ทำให้เราตัดสินใจผิด
ศาสตราจารย์ ดร. นภดล ร่มโพธิ์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ก่อนเริ่มอ่านผมขอถามคำถามนี้ก่อนครับ
“ท่านคิดว่า คำในภาษาอังกฤษ ที่เริ่มต้นด้วย K กับคำภาษาอังกฤษที่มีตัวอักษรตัวที่ 3 เป็นตัว K อันไหนมีมากกว่ากันครับ”
ตอบคำถามก่อนนะครับ แล้วค่อยอ่านกันต่อ
เอาล่ะ ถ้าผมถามอีกว่า “โอกาสที่ปีนี้หุ้นจะขึ้น มีสักกี่เปอร์เซ็นต์” ผมเชื่อว่าหลายคนก็คงคาดการณ์ไปต่าง ๆ นานา ซึ่งก็ต้องบอกว่าไม่มีใครเดาได้ถูก 100% หรอกครับ เพราะถ้าทำอย่างนั้นได้ ป่านนี้ก็รวยกันทุกคนแล้ว
แต่ประเด็นที่อยากจะบอกก็คือ คำตอบของคำถามข้างต้น บางทีมันเกิดจากสิ่งที่เรายังจำได้ต่างหาก เช่นถ้าปีที่ผ่านมาหุ้นตก เราก็ยังจำเหตุการณ์นั้นได้ เราจึงมักจะให้ค่าความน่าจะเป็นที่ปีนี้หุ้นจะตกอีกมากกว่าปกติ ที่เห็นชอบพูดกันบ่อย ๆ นั่นแหละครับ ว่าปีที่แล้วเผาหลอก ปีนี้จะเผาจริงล่ะนะ
ถ้ายังจำกันได้ในปี 2554 ที่เราเกิดน้ำท่วมใหญ่ ในปีต่อมา เวลาผมสอนหนังสือเรื่องเกี่ยวกับการตัดสินใจ
ผมลองถามนักศึกษาที่เรียนกับผมดูว่า โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2555 มีกี่ % เชื่อไหมครับ หลายคนตอบว่าเกิน 50% ทั้ง ๆ ที่ถ้าดูตามสถิติแล้ว น้ำท่วมในลักษณะนั้น มันนาน ๆ จะเกิดขึ้นสักที ถ้ามันควรเป็น 50% จริง มันควรเกิดปีเว้นปีซะด้วยซ้ำ
แต่คำตอบเหล่านั้น มันสูงผิดปกติ เพียงเพราะว่าคนตอบยังจำเหตุการณ์นั้นได้ดีไงครับ
เราเรียกสิ่งนี้ว่า Availability heuristic ครับ
กลับมาที่คำถามที่ผมถามไว้ตอนเริ่มต้นบทความ จริง ๆ คำถามนี้เป็นการทดลองของ Amos Tversky และ Daniel Kahneman ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการตัดสินใจ
คำตอบของท่านคืออะไรครับ ถ้าท่านเป็นเหมือนคนทั่วไปคำตอบจะเป็นคำที่ขึ้นต้นด้วย K ใช่ไหมครับ
ผิดครับ
เพราะความเป็นจริงคือ คำภาษาอังกฤษที่มี K เป็นตัวอักษรตัวที่ 3 มีจำนวนมากกว่าคำภาษาอังกฤษที่ขึ้นต้นด้วย K ถึง 3 เท่า
คำถามคือทำไมคนส่วนใหญ่ตอบผิด (ถ้าท่านตอบไม่ผิด แสดงว่าท่านไม่ใช่คนส่วนใหญ่) คำตอบคือคนส่วนใหญ่ นึกถึงคำที่ขึ้นต้นด้วย K เช่น Kangaroo Kitchen ได้ง่ายกว่าคำที่มี K เป็นตัวอักษรตัวที่ 3 เช่น Ask
หรือ Acknowledgement เราจึงมักจะ Overestimate สิ่งที่เราจำได้ไงครับ
ครั้งต่อไป เวลาเราคิดว่าหุ้น IPO ตัวหนึ่ง ราคาจะขึ้น ลองคิดดูอีกทีครับว่า ที่เราคิดว่าราคามันจะขึ้น
เป็นเพียงเพราะว่าเราเห็น IPO ของหุ้นอีกตัวก่อนหน้านี้ราคามันขึ้นหรือเปล่า
ลองหยุดคิดถึงสถิติต่าง ๆ แล้วถามตัวเองก่อนครับว่าที่เราประมาณการนั้น มันเป็นกลางไหมหรือจริง ๆ แล้ว มันเป็นเพียงแค่ เรายังจำเหตุการณ์นั้นได้เพราะว่ามันเพิ่งเกิดขึ้นเท่านั้นเอง
ระวังกันให้ดีนะครับ