ปัญหาหนี้สินของบริษัทจดทะเบียน(บจ.) เริ่มส่งสัญญาณความเสี่ยงขึ้นมาอีกระลอก หลายบริษัทสภาพคล่องเริ่มตึงจนต้องประกาศเพิ่มทุนระดมเงินไปชำระหนี้ ขณะที่ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" สำรวจงบการเงินบริษัทจดทะเบียน(บจ.) งวดปี 61 พบ 71 บริษัท มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E)มากกว่า 3 เท่า เพิ่มขึ้นจากงวดปี 60 ที่มีเพียง 60 บริษัท ซึ่งเมื่อตัดบริษัทกลุ่มธนาคาร-การเงินออกก็ยังเหลือถึง 42 บริษัท มากกว่าปี 60 ที่มีเพียง 30 บริษัท
*** 20 บจ.เริ่มวิกฤติ แบกหนี้สวนทางสภาพคล่อง
ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกในรายละเอียดพบว่ามีถึง 20 บริษัทที่น่าเป็นห่วง เพราะมีหนี้สูง แต่สภาพคล่องต่ำ ประกอบด้วย
หุ้นหนี้สูง-สภาพคล่องต่ำ
|
ชื่อย่อหุ้น
|
D/E
(เท่า)
|
Quick Ratio (เท่า)
|
Current Ratio (เท่า)
|
Interest Coverage Ratio (เท่า)
|
SPORT*
|
408.52
|
0.26
|
0.39
|
-1.85
|
PACE*
|
16.08
|
0.12
|
0.67
|
-5.43
|
FC*
|
14.22
|
0.07
|
0.17
|
-8.18
|
THAI
|
12.21
|
0.27
|
0.56
|
-1.57
|
CHOW
|
8.87
|
0.28
|
0.61
|
0.79
|
UMS*
|
7.1
|
0.32
|
0.34
|
-1.06
|
JUTHA*
|
6.99
|
0.05
|
0.13
|
-0.25
|
EFORL*
|
6.65
|
0.31
|
0.69
|
-1.65
|
DTAC
|
5.88
|
0.41
|
0.54
|
-3.29
|
NEWS*
|
5.54
|
0.19
|
0.47
|
-2.51
|
POST
|
5.37
|
0.3
|
0.45
|
-1.27
|
SDC
|
5.3
|
0.45
|
0.63
|
-5.18
|
TFI*
|
4.99
|
0.15
|
0.34
|
-2.21
|
SAMART
|
4.98
|
0.53
|
0.98
|
-0.48
|
SQ
|
4.53
|
0.29
|
0.55
|
-0.46
|
KKC
|
3.55
|
0.31
|
0.88
|
-2.89
|
MILL
|
3.4
|
0.21
|
0.64
|
0.48
|
PERM
|
3.36
|
0.12
|
0.93
|
0.46
|
PPPM
|
3.11
|
0.15
|
0.8
|
0.18
|
JCKH
|
3.03
|
0.08
|
0.29
|
-7.21
|
หมายเหตุ : * คือบริษัทที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย “C”
|
ข้อมูลข้างต้นประเมินจาก 1.บริษัทที่มี D/E เกิน 3 เท่า
2.อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว(Quick Ratio) ต่ำกว่า 1 เท่า คำนวณจาก (สินทรัพย์หมุนเวียน-สินค้าคงเหลือ)/หนี้สินหมุนเวียน เป็นการวัดส่วนของสินทรัพย์ที่ได้หักค่าสินค้าคงเหลือที่เป็นสินทรัพย์ระยะสั้นและมีความคล่องตัวในการเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ต่ำสุดออก เพื่อให้ทราบถึงสภาพคล่องที่แท้จริงของกิจการ
3.บริษัทที่มีอัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio) ต่ำกว่า 1 เท่า คำนวณจาก สินทรัพย์หมุนเวียน/หนี้สินหมุนเวียน ค่านี้ใช้วัดความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้น
4.อัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio) ต่ำกว่า 1 เท่า คำนวณจาก (กำไรสุทธิ+ภาษีเงินได้-ดอกเบี้ยจ่าย)/ดอกเบี้ยจ่าย ใช้วัดความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ หากมากกว่า 1 เท่าแสดงว่าธุรกิจของผู้ประกอบการมีความสามารถที่จะจ่ายชำระค่าดอกเบี้ยได้ทั้งหมด แต่หากต่ำกว่า 1 เท่า แสดงว่าธุรกิจมีความสามารถในการจ่ายชำระดอกเบี้ยได้เพียงบางส่วนเท่านั้น และถ้าหากผลลัพธ์ที่ได้ออกมามีค่าเท่ากับ 0 หรือติดลบ เท่ากับว่าธุรกิจของผู้ประกอบการไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยได้เลย ซึ่งจะพัฒนากลายเป็นปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินในที่สุด
*** ผงะ ! SPORT หนี้สินต่อทุน 408.52 เท่า
บมจ.สยามสปอร์ต ซินดิเคท (SPORT) เป็นบริษัทที่มีหนี้สินต่อทุนสูงสุดถึง 408.52 เท่า โดยปัจจุบันมีหนี้สินรวมถึง 1,594.39 ล้านบาท แต่มีส่วนผู้ถือหุ้นเพียง 3.90 ล้านบาท เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่ถูก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ขึ้นเครื่องหมาย "C" และเมื่อสำรวจรายละเอียดหนี้สินพบว่า มีหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยราว 820 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น ขณะที่ผลประกอบการจากการดำเนินธุรกิจขาดทุนต่อเนื่องมา 5 ปีติดต่อกัน อัตราส่วนสภาพคล่องต่างๆต่ำกว่า 1 เท่าทั้งสิ้น ที่สำคัญอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยติดลบ
โดยเมื่อกลางปี 61 ได้ทำการเพิ่มทุนกว่า 300 ล้านบาท เพื่อนำมาชำระหนี้และแก้ไขส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ แต่ก็ยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้น เพราะธุรกิจยังขาดทุนต่อเนื่อง จนเมื่อต้นปีที่ผ่านมาต้องกู้ยืมเงินจาก "เมืองทองยูไนเต็ด" และ "โหลทองโฮลดิ้ง" 31.45 ล้านบาท เพื่อนำมาเติมสภาพคล่อง
*** 16 จาก 20 บริษัท ความสามารถจ่ายดอกเบี้ยติดลบ
ขณะที่ 16 จาก 20 บริษัทข้างต้น อัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยติดลบ เท่ากับเป็นบริษัทที่ขาดสภาพคล่องจากการดำเนินธุรกิจ โดยทุกบริษัทผลการดำเนินงานปี 61 ขาดทุนทั้งสิ้น ซึ่ง บมจ.ฟู้ด แคปปิตอล(FC)อัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยติดลบสูงสุดถึง 8.18% รองลงมาคือ บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น(PACE)ระดับ 5.43% โดยทั้ง 2 บริษัทติดอยู่ในกลุ่ม บจ.ที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย "C"
ขณะเดียวกันในกลุ่มนี้มีถึง 7 บริษัทที่ขาดทุนติดต่อกันมากกว่า 5 ปี ประกอบด้วย
บจ.ที่ขาดทุนเกิน 5 ปีติด
|
ชื่อย่อหุ้น
|
ขาดทุนต่อเนื่อง (ปี)
|
NEWS
|
9
|
JUTHA
|
8
|
FC
|
7
|
UMS
|
7
|
SPORT
|
5
|
POST
|
5
|
JCKH
|
5
|
*** 4 บจ.เรียกเพิ่มทุนคืนหนี้
ทั้งนี้ 4 บริษัท เริ่มขยับตัวแก้ปัญหาหนี้สินด้วยการขายหุ้นเพิ่มทุนเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง ประกอบด้วย 1.บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE) เพิ่มทุน 8,026 หุ้น พาร์ 1 บาท ขายผู้ถือหุ้นเดิม (RO) สัดส่วน 3:2 ราคา 0.25 บาท/หุ้น มูลค่ารวม 2,006 ล้านบาท
2.บมจ.พีพี ไพร์ม (PPPM) เพิ่มทุน 382 ล้านหุ้น พาร์ 1 บาท จำนวน 282 ล้านหุ้น ขาย RO สัดส่วน 2:1 ราคา 2 บาท/หุ้น ที่เหลือขายให้บุคคลวงในจำกัด (PP) ราคาหุ้นละ 2.28 บาท/หุ้น รวมมูลรวมราว 677 ล้านบาท
3.บมจ.เพิ่มสินสตีลเวิคส์ (PERM) เพิ่มทุนจำนวน 250 ล้านหุ้น พาร์ 1 บาท ขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น 2 : 1 ราคา 1 บาท/หุ้น รวมมูลค่า 250 ล้านบาท
4.บมจ.เจซีเค ฮอสพิทอลลิตี้ (JCKH) เพิ่มทุน 188 ล้านหุ้น ขาย RO รวม 125 ล้านหุ้น ที่เหลือขาย PP แต่ยังไม่กำหนดรายละเอียดราคาเสนอขาย
*** วงการแนะเลี่ยงเก็งกำไร ชี้เสี่ยงสูง
"กิจพล ไพรไพศาลกิจ" ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ระบุว่า หุ้นกลุ่มดังกล่าวมีความเสี่ยงสูง แนะนำหลีกเลี่ยง แม้บางครั้งราคาจะดีดตัวหวือหวา เพราะส่วนใหญ่เป็นหุ้นเก็งกำไรตามข่าวต่างๆ
"หุ้นกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีปัญหา เป็นช่วงขาลงของธุรกิจ ในแง่พื้นฐานก็ไม่น่าลงทุนอยู่แล้ว ไม่ควรเข้าไปเก็งกำไร แม้บางช่วงราคาจะดีดตัวตามข่าว เพราะความเสี่ยงสูงมาก หลายบริษัทเป็นหุ้นที่ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯขึ้นเครื่องหมาย C เตือนไว้แล้ว นักลงทุนควรหลีกเลี่ยง เพราะเกือบทั้งหมดพื้นฐานมีปัญหา โดยเฉพาะเรื่องหนี้สิ้น ซึ่ง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ก็มีตัวอย่างให้ดูเป็นบทเรียนมาแล้ว ที่หลายบริษัทถูกพักการซื้อขายไป หรือไม่ก็ต้องถูกบังคับเพิ่มทุน" กิจพล ระบุ
ด้าน "ชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ" ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานค้าหลักทรัพย์บุคคล บัวหลวง เสริมว่า บจ.ส่วนใหญ่ข้างต้นเป็นบริษัทขนาดกลาง-เล็ก ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศเป็นหลัก โดยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว แม้จะมีสัญญาณที่ดีบ้าง แต่ยังเป็นการเติบโตที่ค่อนข้างช้า
“ผลประกอบการของ บจ.เหล่านี้สะท้อนได้ถึงสภาพเศรษฐกิจในประเทศ ที่เหมือนจะดีขึ้น แต่ไม่ชัดเจนและยังเติบโตช้ากว่าที่ควรจะเป็น นักลงทุนต้องระมัดระวังการลงทุนหุ้นในกลุ่มดังกล่าว" ชัยพร เสริม
ขณะที่ "แมนพงศ์ เสนาณรงค์" รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลท. เพิ่มเติมว่า ปัญหาหนี้สินในกลุ่ม บจ.ข้างต้นต้องดูรายละเอียดแต่ละบริษัทว่าเกิดจากการบริหารผิดพลาดหรือเกิดจากอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวช่วงหลายปีหลัง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับ บจ.ทั้งตลาดฯ ส่วนใหญ่ยังมีสภาพคล่องที่ดี หลายบริษัทยังมีเงินสดเหลือ หลายบริษัทมีการขยายธุรกิจใหม่ และหลายบริษัทก็ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง
"ตลท. เรามอนิเตอร์หุ้นกลุ่มนี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะบริษัทที่มีหนี้สูง มีผลขาดทุนต่อเนื่อง เรามีคณะทำงานดูแลบริษัทจดทะเบียนในการช่วยหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทในการนำไปปรับใช้ได้มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน นักลงทุนเองก็ต้องศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ" รองผู้จัดการ ตลท. เผย
***หมายเหตุ
บทความชิ้นนี้เป็นการนำเสนอข้อมูลจากงบการเงินของบริษัทจดทะเบียน เพื่อนำเสนอให้นักลงทุนไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจ มิได้มีเจตนาชี้นำว่าบริษัทที่อยู่ในเงื่อนไขข้างต้นจะผิดนัดชำระหนี้แต่อย่างใด