ผ่านไป 1 ไตรมาสสำหรับหุ้นไทยปี 62 โดยดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.8% มาปิดที่ 1,638.65 จุด จากสิ้นปีก่อนที่ 1,563.88 จุด และเคยขึ้นไปแตะจุดสูงสุดระดับ 1,671.75 จุด หรือ 6.9% โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิสูงสุด 3.25 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 2,716.76 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนรายย่อยมีสถานะเป็นขายสุทธิ 1.31 หมื่นล้านบาท และ 2.21 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ
*** กลุ่มเกษตรฯ-เทคโนโลยี พุ่งนำตลาด
ทั้งนี้ เมื่อแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ปรับตัวขึ้นสูงสุดถึง 9.04% ซึ่งหุ้นในกลุ่มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด 3 อันดับแรกคือ 1.บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 76.42% 2.บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) เพิ่มขึ้น 46.20% และ 3.บมจ.เซ็ปเป้ (SEPPE) เพิ่มขึ้น 35.77%
อุตสาหกรรมที่ปรับตัวขึ้นโดดเด่นรองลงมาคือ กลุ่มเทคโนโลยี เพิ่มขึ้น 7.12% โดยหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ บมจ.เจ มาร์ท (JMART) ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 69.83% 2.บมจ.เอ็ม เอฟ อี ซี (MFEC) เพิ่มขึ้น 24.11% และ 3.บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เพิ่มขึ้น 22.54%
ทั้งนี้ มีเพียงกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมกลุ่มเดียวที่ติดลบ 3.67% ส่วน mai ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.15%
อุตฯ ที่ราคาปรับขึ้นสูงสุด Q1/62
|
ชื่อย่ออุตสาหกรรม
|
%chg
|
AGRO
|
9.04
|
TECH
|
7.12
|
RESOURC
|
7.06
|
PRORCON
|
5.6
|
SERVICE
|
4.85
|
CONSUMP
|
2.96
|
mai
|
2.15
|
FINCIAL
|
1.23
|
INDUS
|
-3.67
|
*** กูรูชี้ เลือกตั้ง - เก็งงบ บจ. Q1/62 ฟื้น หนุนดัชนีแจ่ม
"เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม" ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส ระบุ สาเหตุที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นดีช่วงไตรมาส 1/62 เนื่องจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเริ่มมีความเชื่อมั่น หลังประเทศไทยมีการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบเกือบ 8 ปี ขณะเดียวกันมีแรงเก็งกำไรผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไตรมาส 1/62 ที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจะส่งผลบวกต่อกลุ่มพลังงาน ขณะที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนก็เริ่มผ่อนคลายลง
ด้าน "อาภาภรณ์ แสวงพรรค" ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) เสริมว่า ราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวในระดับที่สูง ส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น จากแรงซื้อเก็งกำไรงบ Q1/62 ที่จะออกมาดีกว่า Q4/61 ที่มีผลขาดทุนสต็อกน้ำมัน รวมถึงประเด็นการเมืองที่มีการเลือกตั้งในรอบหลายปี ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเพิ่มขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางของประเทศสำคัญของโลก เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ, ธนาคารกลางญี่ปุ่น, ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารแห่งประเทศไทย คงใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ จากความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลดีทำให้การลงทุนตลาดหุ้นน่าสนใจมากขึ้น เพราะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เงินฝาก และพันธบัตร
*** เซียนหุ้นยิ้ม พอร์ตพลิกบวก
ขณะที่เมื่อสำรวจความเห็นจากนักลงทุนรายใหญ่พบว่า พอร์ตการลงทุนของแต่ละรายสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกในไตรมาสนี้ จากสิ้นปีก่อนที่ส่วนใหญ่ติดลบ
"ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" นักลงทุนหุ้นเน้นคุณค่า (VI) เผยว่า ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นไทยไตรมาส 1/62 ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามตลาด จากปีก่อนที่ผลตอบแทนของพอร์ตติดลบตามตลาดรวม
"ปีก่อนตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงประมาณ 10% พอร์ตของผมอาจจะดีกว่านิดหน่อย แต่ก็ติดลบตาม SET Index" ดร.นิเวศน์ เผย
ด้าน "อนุรักษ์ บุญแสวง" หรือ โจ ลูกอีสาน อดีตนายกสมาคม VI ระบุว่า ปี 61 พอร์ตลงทุนติดลบ 11% เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี เนื่องจากตลาดหุ้นไทยผันผวนรุนแรง แต่ 3 เดือนแรกของปีนี้สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ใกล้เคียงกับ SET Idex
ขณะที่ "กิติชัย เตชะงามเลิศ" อีกหนึ่งนักลงทุน VI รายใหญ่ เผยว่า พอร์ตหุ้นในไตรมาส 1/62 ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 10% ฟื้นตัวจากปีก่อนที่พอร์ตรวมติดลบ
ฟาก "สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล" หรือ เสี่ยปู่ ระบุว่า พอร์ตหุ้นปีนี้ฟื้นตัวดีขึ้นตามตลาดรวม จากปีก่อนที่ติดลบค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม "วัชระ แก้วสว่าง" หรือเสี่ยป๋อง เซียนหุ้นสายเทคนิครายใหญ่ ยอมรับว่า พอร์ตการลงทุนช่วงต้นปีนี้ไม่ค่อยดีนัก โดยรวมยังติดลบ 4-5% แม้ตลาดจะปรับตัวขึ้นมาเฉลี่ยกว่า 4% โดยมองว่าตลาดหุ้นไทยปัจจุบันลงทุนยากขึ้น เพราะมีตัวแปรใหม่เพิ่มขึ้น เช่น บล็อกเทรด, DW และโรบอทเทรด ซึ่งทำให้การประเมินทางเทคนิคแปรปรวน
*** ยังไม่วางใจ แห่ลดพอร์ต-กำเงินสด
ทั้งนี้ นักลงทุนรายใหญ่ยังไม่ได้ให้ความมั่นใจกับตลาดหุ้นไทยมากนัก เนื่องจากยังมีปัจจัยลบหลายประเด็นที่ค่อยกดดันตลาดฯอยู่ อาทิ เสถียรภาพการเมืองหลังเลือกตั้ง, กำไร บจ.ยังชะลอตัว และปัญหาจากต่างประเทศ เช่น สงครามการค้า เศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณชะลอตัว โดยส่วนใหญ่ปรับมาถือเงินสดมากขึ้น
"วัชระ แก้วสว่าง" เผยว่า ปัจจุบันถือเงินสดมากกว่า 80% โดยปรับพอร์ตลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีก่อน
"ผมกลัวการลงทุนมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะมีความผันผวนมาก เคยล้างพอร์ตไปตอนต้นปี 61 แต่ก็ทยอยเทรดระหว่างทาง ผลก็คือยังขาดทุน ทั้งปีเฉลี่ยเสียไปเกือบ 10% ตอนนี้พยายามเล่นน้อยลง จะเน้นประคองตัวเองไปก่อน จนกว่าจะมีสัญญาณที่เป็นขาขึ้นชัดเจน" เสี่ยป๋อง ยอมรับ
ขณะที่ "ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" เผยว่า ปัจจุบันถือเงินสด 10% จากปกติจะลงทุนในหุ้น 100% โดยมีความกังวลเกี่ยวกับกำไร บจ.ที่เริ่มเติบโตชะลอตัว หลายบริษัทมีปัญหาสภาพคล่อง มีการประกาศเพิ่มทุนมากขึ้น รวมถึงปัจจัยภายนอกที่คอยกดดันตลาดอย่างต่อเนื่อง
ด้าน "กิติชัย เตชะงามเลิศ" ปรับลดพอร์ตหุ้นเหลือ 35-40% จากเดิมมากกว่า 50% โดยปรับเพิ่มอยู่ในพอร์ตการลงทุนอสังหาริมทรัพย์เป็น 60-65% เนื่องจากคาดหวังผลตอบแทนได้ดีกว่า ซึ่งห่วงปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น
*** โบรกฯ มองบวก Q2/62 หุ้นไทยไปต่อ
"เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม" มองว่า ตลาดหุ้นไทยไตรมาส 2/62 จะยังเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง จากการที่จะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง และกำไร บจ. ไตรมาส 1/62 จะที่ดีขึ้น รวมถึงกระแสของ Fund Flow ที่จะไหลกลับ
"เรามีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยไตรมาส 2 นี้ ตัวหนุนหลักๆ มาจากการเมือง แม้ว่าช่วงการจัดตั้งรัฐบาลอาจขลุกขลัก มีอุปสรรค แต่โดยภาพใหญ่เรามองเป็นพัฒนาการบวก เนื่องจากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง" เทิดศักดิ์ กล่าว
ด้าน "กรภัทร วรเชษฐ์" ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการ การลงทุนบริษัทหลักทรัพย์ บล.โนมูระ พัฒนสิน เผยว่า SET Index ไตรมาส 2/62 มีแนวโน้มเป็นขาขึ้น ปัจจัยบวกสำคัญมาจากการที่ดัชนีเอ็มเอสซีไอ (MSCI) ประกาศนำใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทยรวมคำนวณน้ำหนักหุ้นไทยในดัชนี MSCI Emerging Markets Index เพิ่มเป็น 3% จากเดิมที่ 2.5% ทำให้คาดว่าจะมีเม็ดเงิน จากกองทุน Passive Fund ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาทเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยและคาดว่ามีกองทุนอื่นเข้ามาลงทุนเพิ่มมูลค่ารวม 6 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ คาดว่า เม็ดเงินลงทุนต่างชาติจะเริ่มทยอยเข้ามาตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย.นี้ ขณะที่หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ออกมาลักษณะได้เสียงข้างมาก จะยิ่งเป็นผลบวกต่อเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้ามา มากขึ้นเพราะธนาคารกลางต่างๆ พร้อมใจใช้นโยบายผ่อนคลายการเงิน ทำให้เม็ดเงินสภาพคล่องในโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งจะไหลกลับมาลงทุนในตลาดเกิดใหม่รวมถึงตลาดหุ้นไทย ทั้งนี้ประเมินว่า ดัชนีฯ ช่วงไตรมาส 2/62 มีแนวรับที่ระดับ 1,620 จุดแนวต้านที่ระดับ 1,670-1,780จุด
อย่างไรก็ตาม "ณัฐชาต เมฆมาสิน" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กลับมองว่า หุ้นไตรมาส 2 นี้ จะยังแกว่งตัวในกรอบแคบเป็นหลัก โดยให้การเคลื่อนไหวกรอบ 100 จุด หรือดัชนีที่ 1,580-1,680 จุด เพราะเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดยาว และสถิติส่วนใหญ่ เดือนพ.ค. ต่างชาติมักขายหุ้นไทย เพราะต้องมีการปรับพอร์ตหลังมีการรับเงินปันผล