โควิด-19 พ่นพิษใส่ บจ. ฉุดผลประกอบการ-สภาพคล่อง พบ 6 บจ.ประกาศงดจ่ายปันผลรักษาเงินสด ขณะที่ 4 บจ.แห่เลื่อนไถ่ถอนหุ้นกู้ เหตุหาเงินทุนไม่ทัน ขณะเดียวกันพบ 5 บจ.แบกหนี้สูง แต่สภาพคล่องเหือด ตลท.ลั่นจับตาใกล้ชิด สั่งชี้แจงทันทีหากพบความผิดปกติ
*** 6 บจ.งดจ่ายปันผลรักษาสภาพคล่อง
ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) 6 แห่ง ประกาศเปลี่ยนนโยบายเป็นงดจ่ายปันผล สำหรับผลประกอบการปี 62 ทั้งที่ได้เคยประกาศจ่ายปันผลไปแล้วเมื่อตอนแจ้งงบการเงินปี 62 เนื่องจากธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงมีเหตุให้ต้องสำรองเงินสดไว้เป็นสภาพคล่องหมุนเวียนชั่วคราว ประกอบด้วย
บจ.งดจ่ายปันผลรักษาสภาพคล่องช่วงโควิด-19
|
ชื่อย่อหุ้น
|
อัตราการจ่ายปันผลเดิม (บ./หุ้น)
|
BSM
|
0.01
|
CGH
|
0.0125
|
CWT
|
0.0381
|
CHO
|
0.021
|
CENTEL
|
0.55
|
TSC
|
N/A
|
"สัญชัย เนื่องสิทธิ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บิวเดอสมาร์ท (BSM) ระบุว่า การปรับนโยบายดังกล่าวเพื่อรองรับกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น ซึ่งเดิมบริษัทฯ มีมติจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 62 ที่ 0.01 บาท/หุ้น รวมเป็นเงิน 21.31 ล้านบาท แต่เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินไว้เป็นทุนหมุนเวียน เพราะไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อยอดขายและสภาพคล่อง จึงต้องของดจ่ายปันผล
เช่นเดียวกับ "ดร.รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์" รองประธานอาวุโสฝ่ายบริหารและการเงิน บมจ. โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) เผยว่า ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 และยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะยืดเยื้อไปอีกนานเพียงใด บริษัทฯ จึงต้องของดจ่ายเงินปันผล จากมติเดิมที่อนุมัติจ่าย 0.55 บาทต่อหุ้น เพื่อบริหารสภาพคล่องและกระแสเงินสดในสถานการความไม่แน่นอน
ขณะที่ "สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย" กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ช ทวี (CHO) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยกเลิกจ่ายปันผล เพื่อรักษาสภาพคล่องและเงินสดที่จะต้องใช้ในการดำเนินงาน รองรับความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
*** 4 บจ.ขอเลื่อนไถ่ถอนหุ้นกู้
ขณะเดียวกันพบว่า มี 4 บริษัท ขอเลื่อนไถ่ถอนหุ้นกู้ที่กำลังจะครบกำหนด เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแผนการจัดหาเงินทุน ประกอบด้วย
บจ.ขอเลื่อนไถ่ถอนหุ้นกู้
|
ชื่อย่อหุ้น
|
หุ้นกู้
|
มูลค่า (ลบ.)
|
กำหนดไถ่ถอนเดิม
|
ขอเลื่อน (เดือน)
|
%ดอกเบี้ยใหม่
|
%ดอกเบี้ยเดิม
|
PSL
|
PSL206A
|
1,960
|
9 มิ.ย.63
|
18
|
6.5
|
5
|
CWT
|
CWT205A
|
337
|
23 พ.ค.63
|
12
|
6.75
|
5.75
|
MIDA
|
MIDA204A
|
612
|
24 ม.ย.63
|
24
|
6
|
5.5
|
ACAP
|
ACAP202A
|
395
|
7 ก.พ. 63
|
12
|
7.5
|
6
|
ทั้ง 4 บริษัทได้ขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขยายเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้ไม่ต่ำกว่า 1 ปี โดย บมจ.เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป (ACAP) และ บมจ.ไมด้า แอสเซ็ท (MIDA) ผ่านการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นกู้แล้ว ขณะที่้ บมจ.พรีเชียส ชิพปิ้ง (PSL) และ บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT) เตรียมประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขออนุมัติวันที่ 19 พ.ค.63 และ 22 พ.ค.63 ตามลำดับ
โดยการขอขยายเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้ของทั้ง 4 บริษัท มีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้กับผู้ถือหุ้นกู้ สูงสุดคือ ACAP ที่เดิมจ่าย 6% ต่อปี เพิ่มเป็น 7.5% ต่อปี
"วีระพล ไชยธีรัตต์" ประธานกรรมการบริหาร CWT ระบุว่า โควิด-19 ส่งผลต่อแผนการจัดหาเงินทุนเพื่อนำมาไถ่ถอนหุ้นกู้ เช่นการหุ้นกู้ใหม่ก็ขายไม่ได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากนักลงทุนชะลอการลงทุนลดความเสี่ยงในภาวะโรคระบาด ขณะที่การขอสินเชื่อกับสถาบันการก็ติดขัดด้านกระบวนการทำให้เกิดความล่าช้า
"อริยา ติรณะประกิจ" รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) มองว่า การขอเลื่อนไถ่ถอนหุ้นกู้ส่วนใหญ่เกิดกับ บจ.ขนาดกลาง-เล็ก ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลต่อสภาพคล่องและเงินสด จึงต้องขอยืดหนี้ออกไปก่อน อย่างไรก็ตามจำนวนการขอเลื่อนยังไม่มากอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะหุ้นกู้ของ บจ.ขนาดใหญ่ก็ยังไม่มีปัญหาและสามารถไถ่ถอนได้ตามกำหนดทุกราย
*** ACAP ผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้
ขณะที่ล่าสุด ACAP ได้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ ACAP212A ซึ่งครบกำหนด 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ดอกเบี้ยค้างรวม 3.7 ล้านบาท โดย ACAP ชี้แจงสาเหตุว่า ลูกหนี้ของบริษัท 2 รายไม่ชำระหนี้ตามกำหนด เพราะธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิ-19 จึงส่งผลต่อการชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ดังกล่าว
อย่างไรก็ตามการผิดนัดชำระดอกเบี้ยครั้งนี้ มูลหนี้ดอกเบี้ยรวมกันไม่เกิน 500 ล้านบาท จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการผิดนัดชำระหุ้นกู้รุ่นอื่นๆ ที่เหลือ
หุ้นกู้ ACAP212A มีมูลค่า 229.8 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน 15 ก.พ.64
*** ตลท.จับตา บจ.กลุ่มเสี่ยงใกล้ชิด
"แมนพงศ์ เสนาณรงค์" รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่ระหว่างการติดตามข้อมูล บจ.ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนส่งผลต่อการบริหารสภาพคล่องทางการเงิน โดยได้มีการสอบถามไปยังกลุ่ม บจ.ดังกล่าวเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมและแผนการรองรับ ซึ่งหากมีเหตุการผิดชำระหรือเลื่อนไถ่ถอน ต้องชี้แจงข้อมูลและเหตุผลให้นักลงทุนทราบทันที
"เรามอนิเตอร์กลุ่ม บจ.ที่มีปัญหาสภาพคล่องตลอดเวลาอยู่แล้ว กลุ่มที่จับตาเป็นพิเศษคือบริษัทที่มีหนี้สินที่ต้องชำระใน 12 เดือนข้างหน้า แต่ผลประกอบการขาดทุน เงินสดจากการดำเนินงานติดลบ มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสูง (Interest-Bearing Debt) อัตราความสามารถการชำระดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio) ต่ำ โดยจะทำการสอบถามถึงแผนการรองรับ หากจะมีอะไรผิดปกติต้องแจ้งให้นักลงทุนทราบทันที ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ตลท.อยู่แล้วสำหรับดูแลการเปิดเผยข้อมูลของ บจ. อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับ บจ.นั้น ๆ ว่าจะมีวิธีการจัดการอย่างไร ตลท.ไม่มีสิทธิหรือหน้าที่เข้าไปก้าวก่าย" แมนพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่สำรวจพบว่ามี บจ.ที่มีปัญหาด้านสภาพคล่องไม่มากนัก ไม่เกิน 3% ของ บจ.ทั้งหมด แต่ประเด็นเรื่องการผิดชำระหนี้ มักส่งผลทางจิตวิทยาการลงทุนในวงกว้าง แม้มูลค่าหนี้จะไม่สูงมากก็ตาม ซึ่งนักลงทุนต้องระมัดระวังและศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ
*** พบ 5 บจ.สภาพคล่องเหือด
"สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" สำรวจงบการเงิน บจ. ณ ไตรมาส 1/63 พบว่ามี 5 บริษัท ที่มีสภาพคล่องต่ำและมีหนี้สินสูง โดยคัดกรองจากบริษัทที่มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยเกิน 2 เท่า, อัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ยต่ำกว่า 1 เท่า, กระแสเงินสดจากการดำเนินงานติดลบ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 1/63 ขาดทุน ประกอบด้วย
หุ้นสภาพคล่องต่ำ
|
ชื่อย่อหุ้น
|
IDB/E (เท่า)
|
อัตราความสามารถชำระดอกเบี้ย (เท่า)
|
เงินสดจากการดำเนินงาน Q1/63 (ลบ.)
|
กำไรปี 62
(ลบ.)
|
กำไร Q1/63 (ลบ.)
|
หนี้ที่ครบกำหนดใน 1 ปี (ลบ.)
|
AAV
|
2.92
|
-2.47
|
-565
|
-474
|
-671
|
6,615.55
|
ERW
|
2.8
|
0.22
|
-24
|
446
|
-103
|
852.17
|
GRAND
|
2.37
|
-0.48
|
-169
|
-304
|
-163
|
1,815.63
|
TFI
|
64.51
|
-2.01
|
-19
|
-185
|
-88
|
660.22
|
UMS
|
11.15
|
-1.14
|
-0.34
|
-42
|
-13
|
530
|
ทั้งนี้เมื่อสำรวจงบการเงินเพิ่มเติมใน 5 บริษัทข้างต้นพบว่า ทั้งหมดมีหนี้สินระยะสั้นและหนี้สินระยะยาวที่ครบกำหนดชำระภายใน 1 ปี สูงว่าเงินสดจากการดำเนินงาน โดยส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินและหนี้สินในส่วนสัญญาเช่าการเงิน
หมายเหตุ : Interest Coverage Ratio คำนวณจาก (กำไรสุทธิ+ภาษีเงินได้-ดอกเบี้ยจ่าย)/ดอกเบี้ยจ่าย ใช้วัดความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งหากต่ำกว่า 1 เท่า แสดงว่าธุรกิจมีความสามารถในการจ่ายชำระดอกเบี้ยได้เพียงบางส่วนเท่านั้น และหากติดลบเท่ากับว่าธุรกิจไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยได้เลย ซึ่งจะพัฒนากลายเป็นปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินในที่สุด
*** AAV-GRAND มีหุ้นกู้ใกล้ครบกำหนดกว่า 2.5 พันลบ.
นอกจากนี้พบว่ามี 2 บริษัทที่มีหุ้นกู้ใกล้ครบกำหนดไถ่ถอนภายใน 1 ปี ได้แก่ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) มีหุ้นกู้ 1 ชุด (TAA205A) มูลค่า 999.96 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอน 19 พ.ค.นี้
ขณะที่ บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) มีหุ้นกู้ 3 ชุดที่จะครบกำหนดไถ่ถอนภายใน 1 ปี ประกอบด้วย GRAND206A ครบกำหนดไถ่ถอน 20 มิ.ย.63 มูลค่า 491.7 ล้านบาท , GRAND20OA ครบกำหนดไถ่ถอน 19 ต.ค.63 มูลค่า 467.9 ล้านบาท และ GRAND211A ครบกำหนดไถ่ถอน 17 ม.ค.64 มูลค่า 600 ล้านบาท
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นการนำเสนอข้อมูลจากงบการเงินของบริษัทจดทะเบียน เพื่อนำเสนอให้นักลงทุนไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจ มิได้มีเจตนาชี้นำว่าบริษัทที่อยู่ในเงื่อนไขข้างต้นจะผิดนัดชำระหนี้แต่อย่างใด