"สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" สำรวจข้อมูลบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีแนวโน้มกำไรสุทธิปีนี้จะทำสถิติใหม่(นิวไฮ) โดยคัดเลือกผ่านการเปิดเผยข้อมูลของผู้บริหารและการประเมินของนักวิเคราะห์ พบว่ามี 18 บริษัทที่เข้าข่าย ดังนี้
18 หุ้นกำไรปี 62 จะทุบสถิติใหม่
|
ชื่อย่อหุ้น
|
คาดการณ์กำไรปี 62 (ลบ.)
|
กำไรสูงสุดเดิม (ลบ.)
|
กำไร H1/62
(ลบ.)
|
EA
|
6,174
|
4,975
|
2,653
|
KTC
|
6,158
|
5,140
|
2,913
|
BPP
|
5,091
|
4,155
|
2,394
|
TPIPP
|
4,570
|
3,699
|
2,234
|
MTC
|
4,386
|
3,713
|
2,026
|
GULF
|
3,981
|
3,451
|
2,896
|
SAWAD
|
3,618
|
2,768
|
1,717
|
OSP
|
3,395
|
3,005
|
1,599
|
CBG
|
2,228
|
1,490
|
972
|
THANI
|
1,959
|
1,641
|
1,007
|
COM7
|
1,163
|
891
|
544
|
JMT
|
656
|
506
|
293
|
NER
|
533
|
486
|
267
|
JMART
|
513
|
490
|
255
|
AU
|
230
|
147
|
123
|
AMANAH
|
223
|
164
|
109
|
SISB
|
170
|
104
|
95
|
CHAYO
|
110
|
85
|
61
|
* คาดการณ์กำไรปี 62 มาจากค่าเฉลี่ยของ IAA Consensus ณ 6 ก.ย.62
|
*** ธุรกิจเงินทุนติดโผมากสุด
กลุ่มธุรกิจเงินทุนติดโผถึง 7 บริษัท โดย บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) นักวิเคราะห์ประเมินว่ากำไรปีนี้จะทำได้มากกว่า 6 พันล้านบาท จากยอดสินเชื่อที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังรุกการตลาดผ่านการซื้ออาหาร เครื่องดื่ม, ประกัน และท่องเที่ยว ซึ่งครึ่งปีแรกกวาดกำไรสุทธิไปแล้วเกือบ 3 พันล้านบาท
ด้าน "ระเฑียร ศรีมงคล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC ได้แสดงความมั่นใจว่า กำไรสุทธิปีนี้ยังทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง คาดเติบโต 10-15% จากปีก่อนมีกำไรสุทธิ 5,140 ล้านบาท โดยคาดว่าผลประกอบการครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก เพราะจะได้ธุรกิจใหม่มาช่วยเสริม เช่น สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ, สินเชื่อนาโน และพิโกไฟแนนซ์
เช่นเดียวกับ บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) นักวิเคราะห์ประเมินกำไรปีนี้จะทำได้ระดับ 4.3 พันล้านบาท ตามพอร์ตสินเชื่อที่เติบโต 25-30% ขณะที่การเปิดให้บริการสินเชื่อรถจักรยานยนต์จะช่วยหนุนกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงการเปิดสาขาอย่างต่อเนื่องจะทำให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น โดยครึ่งปีแรกเปิดไปแล้ว 460 แห่ง ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 600 แห่ง ขณะที่ปัจจุบันมีสาขารวม 3,739 แห่ง
"ชูชาติ เพ็ชรอำไพ" ประธานกรรมการบริหาร MTC ระบุว่า ปีนี้กำไรจะทำนิวไฮต่อเนื่อง ตามการเปิดสาขาใหม่ และเสริมธุรกิจใหม่ ทำให้พอร์ตสินเชื่อยังเติบโตได้ในระดับ 25-30%
ต่อด้วย บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) นักวิเคราะห์ ประเมินกำไรปีนี้เฉลี่ย 3.6 พันล้านบาท โดยเป็นหนึ่งในหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์กลุ่มที่เติบโตสวนทางเศรษฐกิจได้ เพราะดีมานด์สินเชื่อเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มสินเชื่อในครึ่งปีหลังเติบโตต่อ ซึ่งบริษัทหันไปที่กลุ่มสินเชื่อ "บ้านแลกเงิน" (Land for Cash) ที่มีดีมานด์จำนวนมาก ในขณะที่ซัพพลายยังน้อย
"สาวธิดา แก้วบุตตา" ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร SAWAD เผยว่า ปีนี้กำไรจะทำสถิติใหม่ได้แน่นอน ตามเป้าหมายรายได้และสินเชื่อปีนี้ที่ตั้งเป้าเติบโต 20-30% โดยเฉพาะครึ่งปีหลังจะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ รวมถึงจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นภาคการบริโภคภาคเกษตรของรัฐบาล
ด้าน บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) นักวิเคราะห์คาดการณ์กำไรสุทธิปีนี้เฉลี่ยเฉียด 2 พันล้านบาท โดยกำไรครึ่งปีแรกเติบโตระดับ 30% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการเติบโตต่อเนื่องถึง 14 ไตรมาส สะท้อนความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ และพอร์ตสินเชื่อที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับได้หันไปเน้นขยายกลุ่มลูกค้ารายใหญ่เพิ่มขึ้น ช่วยหนุนฐานสินเชื่อให้แข็งแรงกว่าเดิม
ฟาก บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) นักวิเคราะห์คาดกำไรปีนี้จะเดินหน้าทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง เพราะมีศักยภาพสูงในการบริหารจัดการหนี้ ขณะเดียวกันหนี้บางกองในพอร์ตตัดต้นทุนหมดแล้ว ทำให้สามารถรับรู้รายได้ 100%
"สุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMT คาดรายได้-กำไรปีนี้จะเติบโตระดับ 50% ทำนิวไฮต่อเนื่อง โดยคาดว่าผลประกอบการครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก ตามลักษณะธุรกิจ
ส่วน บมจ.อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง (AMANAH) นักวิเคราะห์คาดกำไรสุทธิจะเติบโต 30-40% นิวไฮต่อเนื่อง โดยจะเริ่มรับรู้การปรับแผนธุรกิจอย่างเต็มที่ โดยมีการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีศักยภาพ การบริหาร Loan Yield มีประสิทธิภาพมากขึ้นจาก 9.6 ในปี 58 ก่อนปรับแผนธุรกิจ ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 18.5% ขณะเดียวกันผลขาดทุนจากรถยึดน้อยลง และมีโอกาสที่สำรองส่วนเกินจะกลับมาเป็นรายได้ในอนาคต
บริษัทสุดท้ายในกลุ่มนี้คือ บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) นักวิเคราะห์คาดกำไรทะลุ 100 ล้านบาท หลังพอร์ตสินเชื่อเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่รายได้จากการบริหารหนี้ก็ดีต่อเนื่องเช่นกัน
"สุขสันต์ ยศะสินธุ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CHAYO เผยว่ารายได้และกำไรจะทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง จากการขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมและมีบริการที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจหลักที่ซื้อหนี้เสียเข้ามาบริหารก็ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง
*** หุ้นพลังงานติดโผ 4 บริษัท
ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานไม่น้อยหน้า ติดโผ 4 บริษัท นำโดย บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) นักวิเคราะห์คาดกำไรสุทธิปีนี้ทะลุ 6 พันล้านบาท หลังจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้าครบทุกโครงการ กำลังการผลิตรวม 664 เมกะวัตต์ และจะทำนิวไฮต่อเนื่องอย่างน้อยอีก 2-3 ปี จากธุรกิจใหม่ คือ Green diesel, Bio-PCM, รถยนต์ไฟฟ้า และ แบตเตอรี่
"อมร ทรัพย์ทวีกุล" รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA มั่นใจว่ากำไรปีนี้จะเติบโตทำสถิตใหม่ต่อเนื่อง เพราะรับรู้กำลังผลิตไฟฟ้าครบทุกโครงการ ขณะที่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล มียอดขายเพิ่มขึ้น จากอุปาทานของตลาดในภูมิภาคเพิ่มขึ้น เพราะประเทศอินโดนีเซียเร่งผลิต B100 ส่วนอินโดนีเซียก็มีการบังคับใช้ B20 ส่งผลให้มีการผลิตกลีเซอรีนซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้มากขึ้นด้วย
ต่อด้วย บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) นักวิเคราะห์คาดกำไรปีนี้จะทำได้มากกว่า 5 พันล้านบาท ทำสถิติใหม่ เพราะจะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าใหม่หลายโครงการ โดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง คาดกำลังการผลิตตามสัดส่วนถือหุ้นสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 2,460 เมกะวัตต์ จากปีก่อนที่ 2,140 เมกะวัตต์ ขณะที่มีการบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้นทำให้อัตรากำไรสุทธิครึ่งปีแรกปรับเพิ่มเป็น 41% จากปีก่อนที่ 33%
ด้าน บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) นักวิเคราะห์คาดกำไรปีนี้เฉลี่ย 4.5 พันล้านบาท ทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง หลังรับรู้กำลังการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ครบ 440 เมกะวัตต์ และอัตราการใช้กำลังการผลิตปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน
เช่นเดียวกับ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) นักวิเคราะห์คาดกำไรสุทธิจะเดินหน้าทำนิวไฮต่อเนื่องถึงปี 66 เพราะเป็นเป็นผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของไทยที่มีทั้งโรงไฟฟ้า IPP, SPP, VSPP ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิง Conventional หรือ Renewable โดยล่าสุดมีกำลังการผลิตในมือตามสัดส่วนการถือหุ้นทั้งสิ้น 6,900 เมกะวัตต์ แต่จำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้วเพียง 2,700 เมกะวัตต์ เหลือทยอยรับรู้อีกกว่า 4,200 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ปัจจุบันได้มีการขยายธุรกิจไปยังโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมรายได้และกำไรที่แน่นอนอีกทางหนึ่ง
*** OSP-CBG-AU เด่นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม
ขณะที่หุ้นในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่มีแนวโน้มกำไรเติบโตโดดเด่น คือ บมจ.โอสถสภา (OSP) นักวิเคราะห์คาดกำไรแตะระดับ 3.4 พันล้านบาท ทำสถิติใหม่ จากการเข้ามาของทีมผู้บริหารชุดใหม่และกลยุทธ์ในการบริหารรูปแบบใหม่ ๆ ที่สามารถสร้างยอดขายเติบโตทุกกลุ่มสินค้า ขณะที่มีการบริหารจัดการต้นทุน-ค่าใช้จ่ายได้ดีมาก มาร์จิ้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยประเมินว่าบริษัทมีการรักษาการเติบโตของกำไรระดับ 10-15% ได้อีกหลายปี
ด้าน บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) นักวิเคราะห์มองกำไรปีนี้มีจะทะลุ 2 พันล้านบาท หลังครึ่งปีแรกทำได้เกือบ 1 พันล้านบาท เติบโตกว่า 160% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังดำเนินกลยุทธ์ลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นทั้งในและต่างประเทศ ทำให้มาร์จิ้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ยอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงธุรกิจที่ประเทศอังกฤษเริ่มขาดทุนลดลงต่อเนื่อง โดยคาดว่ากำไรครึ่งปีหลังจะทำได้มากกว่าครึ่งปีแรก เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ
อีกหนึ่งบริษัทคือ บมจ.อาฟเตอร์ ยู (AU) นักวิเคราะห์กำไรปีนี้นิวไฮแน่นอน เพราะครึ่งปีแรกทำได้ถึง 123 ล้านบาท เกือบเท่ากับปีก่อนทั้งปีที่ทำได้ 147 ล้านบาท หลังบริษัทดำเนินกลยุทธ์การบริหารและรูปแบบการขายช่องทางใหม่ ๆ รวมถึงมีสินค้าใหม่หลายรายการเพิ่มความหลากหลายให้กับลูกค้า ทำให้ยอดขายและมาร์จิ้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่เริ่มรับรู้ยอดขายสาขาใหม่หลายแห่งที่ได้ลงทุนไปก่อนหน้านี้ โดยคาดว่ากำไรปีนี้จะทำได้มากกว่า 200 ล้านบาท
*** COM7-JMART มาแน่
ด้านผู้ประกอบการขายมือถือติดโผมา 2 บริษัท ได้แก่ บมจ.คอมเซเว่น (COM7) นักวิเคราะห์คาดกำไรปีนี้ทะลุ 1 พันล้านบาท เดินหน้าทำสถิติใหม่ โดยคาดว่ายอดขายจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง จากการขยายสาขา และการเปิดตัว iPhone 11 ซึ่งมองว่าสาขาใหม่ ๆ จะดำเนินได้เต็มที่เต็มปี ขณะเดียวกันช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ใกล้จะพร้อมดำเนินการแล้ว
"สุระ คณิตทวีกุล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร COM7 เผยว่า ปีนี้มีผลประกอบการมีโอกาสทำสถิติใหม่ แม้จะยังเป้ารายได้ปีนี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% โดยจะโดดเด่นในครึ่งปีหลัง เพราะนอกจากจะเป็นไฮซีซั่นของธุรกิจ ยังมีสินค้าใหม่ๆ ออกมา โดยเฉพาะสินค้ากลุ่ม Apple ที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ทั้งระบบปฏิบัติการอุปกรณ์
ฟาก บมจ.เจ มาร์ท (JMART) นักวิเคราะห์คาด ปีนี้กำไรจะเทิร์นอะราวด์พร้อมทำสถิติใหม่ทะลุ 500 ล้านบาท แซงหน้าสถิติเดิม 490 ล้านบาทเมื่อปี 60 และพลิกกำไรจากปีก่อนขาดทุน 277 ล้านบาท โดยได้ปรับกลยุทธ์ไม่จำกัดอยู่ในธุรกิจมือถืออย่างเดียวอีกต่อไป แต่บริการจะครอบคลุมไปถึง Consumer finance เพื่อสร้าง Ecosystem ของตนเอง เริ่มต้นตั้งแต่การจำหน่าย (JMART-SINGER-J), ให้สินเชื่อ-ให้ยืม (JFintech-SINGER), ติดตาม-บริหารหนี้ (JMT) ซึ่งมองเป็นโอกาสที่จะสร้างการเติบโตไปอีกระดับโดยเฉพาะใน Untapped demand ในระดับล่างที่ผู้เล่นรายอื่นเข้าไม่ถึง
"อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMART คาดปีนี้กำไรสุทธิทำสถิติสูงสุดใหม่ เพราะทุกธุรกิจในเครือมีการเติบโตอย่างโดดเด่น บางบริษัท เช่น บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) เริ่มกลับมาสร้างกำไร ส่วน บมจ.เจเอเอส แอสเซ็ท (J) หลังจากได้ปรับกลยุทธ์การบริหารใหม่เชื่อว่าปีนี้จะพลิกกลับมากำไรได้ ส่วน JMT และ J FINTECH มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
*** น้องใหม่ SISB-NER ฟันกำไรนิวไฮต่อเนื่อง
ด้านหุ้นน้องใหม่ที่ผลงานไอพีโอไม่ค่อยดีนักตอนเข้าซื้อขายเมื่อปลายปีก่อน กลับเดินหน้าสร้างกำไรนิวไฮต่อเนื่อง โดยหุ้นโรงเรียนอย่าง บมจ.เอสไอเอสบี (SISB) ฟาดกำไรครึ่งปีแรก 95 ล้านบาท เกือบเท่าปีก่อนทั้งปีที่ทำได้ 104 ล้านบาท โดยนักวิเคราะห์คาดปีนี้ทำได้ระดับ 170 ล้านบาท หลังมีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดทั้งปีเพิ่มขึ้น 200-250 ราย ประกอบกับมีการปรับขึ้นค่าเทอมตามรอบ ทำให้รายได้-กำไรจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
"ยิว ฮอค โคว" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SISB ระบุ คาดผลประกอบการปีนี้จะทำสถิติใหม่ เพราะช่วงครึ่งปีหลังจะมีนักเรียนเพิ่มขึ้น ประกอบกับจะมีการปรับขึ้นค่าเทอมอีก 5% จากปกติ 4-5 แสนบาทต่อเทอม ซึ่งจะสนับสนุนรายได้ปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 20%
เช่นเดียวกับ บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) นักวิเคราะห์คาดกำไรปีนี้จะทะลุ 500 ล้านบาท โดยครึ่งปีแรกทำได้แล้ว 267 ล้านบาท จากปริมาณขายและราคาขายเพิ่มขึ้น ทำให้ศักยภาพในการทำกำไรดีขึ้น ประกอบกับการยางแห่งประเทศไทยได้ใช้มาตรการรักษาเสถียรภาพราคายาง ทำให้อุปาทานส่วนเกินลดลง ส่งผลดีต่อธุรกิจโดยตรง
"ชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NER คาดกำไรปีนี้จะทำนิวไฮแน่นอน เพราะมีปริมาณขายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าจากจีน นอกจากนี้ยังรับรู้กำลังผลิตใหม่อีก 6 หมื่นตันต่อปี ที่สำคัญราคายางที่ปรับขึ้น ส่งผลต่อมาร์จิ้นให้ดีขึ้น คาดปีนี้รายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 30%