"สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" สำรวจภาวะอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยประจำไตรมาส 1/62 พบสัญญาณการฟื้นตัวอย่างเด่นชัด ผลตอบแทนพลิกบวกเกือบทุกกลุ่ม จากปีก่อนติดลบ หลังตลาดหุ้นไทย-ต่างประเทศฟื้น สินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้น 3.5% เงินไหลเข้า 3.9 หมื่นล้านบาท เกินครึ่งของปีก่อนทั้งปี ชี้ Q2/62 ยังเป็นขาขึ้น แต่ให้เน้นกองทุนหุ้นต่างประเทศ ส่วนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว( LTF) ยังซื้อรับสิทธิทางภาษีได้
*** ผลตอบแทนฟื้นยกแผง-สินทรัพย์สุทธิบวก 3.5%
"ชญานี จึงมานนท์" นักวิเคราะห์กองทุน บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด เผยอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยไตรมาส 1/62 ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ ผลตอบแทนเฉลี่ยเกือบทุกกลุ่มเป็นบวก ต่างจากไตรมาส 4/61 ที่ผลตอบแทนส่วนใหญ่ติดลบ โดยกองทุนน้ำมันให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุด 24% รองลงมาคือกลุ่ม China Equity 18.3%, Global Technology 16.9%, Europe Equity 12.6% และ US Equity 12.3%
ทั้งนี้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิทั้งอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.5% จากสิ้นปีก่อน อยู่ที่ 5.2 ล้านล้านบาท
*** เงินไหลเข้า 3.9 หมื่นลบ. เกินครึ่งของทั้งปี 61
สำหรับไตรมาส 1/62 มีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 3.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากปีก่อนทั้งปีที่มีเงินไหลเข้าสุทธิเพียง 7 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่ไหลเข้ากองทุนตราสารหนี้
ขณะเดียวกันช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ มีกองทุนรวมเปิดใหม่ 30 กอง (ไม่รวม Term Fund) รวมเงินไหลเข้ากองทุนใหม่ทั้งหมด 1.9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นกองทุนหุ้น 15 กอง กองทุนผสม 11 กอง กองทุนตราสารหนี้ 3 กอง และกองทุนตราสารตลาดเงิน 1 กอง
*** กองทุนหุ้นฟื้น ผลตอบแทนพุ่งแตะ 7.7%
สำหรับกองทุนหุ้นในไตรมาส 1/62 ผลตอบแทนเฉลี่ยปรับขึ้นมาอยู่ที่ 7.7% ฟื้นตัวจากสิ้นปีก่อนที่ติดลบ 11.9% ซึ่งในภาพรวมผลตอบแทนเป็นไปในทิศทางตรงข้ามกับปีก่อน โดยเฉพาะกองทุนหุ้นต่างประเทศที่บางกลุ่มฟื้นตัวดีและสามารถหักกลบผลตอบแทนติดลบของปีก่อนได้ เช่น กลุ่ม China Equity ปีก่อนผลตอบแทนเฉลี่ย -18.2% ส่วนปีนี้พลิกกลับมาเป็นบวกที่ 18.3% เช่นเดียวกันกับกลุ่ม US Equity ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 12.3% ดีกว่าปีก่อนที่ -8.2% เป็นไปตามการฟื้นตัวของตลาดหุ้นโดยเฉพาะหุ้นสหรัฐฯ และจีนจากหลายปัจจัย เช่น การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนเรื่องการใช้ภาษีกับสินค้าของทั้ง 2 ประเทศ หรือการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)
ด้านกองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF-RMF) มีมูลค่าสินทรัพย์รวม 3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% จากสิ้นปีก่อน โดยผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุนกลุ่ม Equity Large-Cap ฟื้นตัวมาอยู่ที่ 4.4% จากสิ้นปีก่อนติลบ 10.7% และกลุ่มกองทุน Equity Small/Mid-Cap ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.8% จากสิ้นปีก่อนติดลบ 16.8% โดยสาเหตุเป็นไปตามทิศทางของดัชนี SET Index ที่ไตรมาส 1/62 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.8%
*** กองทุนหุ้นจีนผลตอบแทนพุ่ง
กองทุนหุ้นจีนทำผลงานได้โดดเด่นที่สุดในกลุ่มกองทุนต่างประเทศ โดย 7 ใน 10 อันดับแรกที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดของกองทุนหุ้นต่างประเทศ ลงทุนในตลาดหุ้นจีนทั้งหมด และ 6 ใน 7 ให้ผลตอบแทน 3 เดือน มากกว่า 20% สูงสุด 27.58% โดย 5 อันดับแรกที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด ได้แก่
ผลตอบแทนกองทุนหุ้นต่างประเทศ
|
บลจ.
|
ชื่อกองทุน
|
% ผลตอบแทน
|
กรุงศรี
|
กรุงศรีไชน่าเอแชร์อิควิตี้ ชนิดสะสมมูลค่า
|
27.58
|
กสิกร
|
เค ไชน่า คอนโทรล โวลาติลิตี้
|
21.24
|
ทหารไทย
|
ทหารไทย China Equity Index
|
20.4
|
วรรณ
|
วรรณ ออล ไชน่า อิควิตี้
|
20.28
|
ไทยพาณิชย์
|
ไทยพาณิชย์ หุ้นจีนเอแชร์
|
20.26
|
*** เปิดโผ TOP 5 กองทุนหุ้นไทย
สำหรับกองทุนหุ้นไทยที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดอยู่ในกลุ่ม Equity Small/Mid-Cap โดยให้ผลตอบแทนมากสุดถึง 8.3% โดย 5 อันดับแรกได้แก่
กองทุน Equity Small/Mid-Cap
|
บลจ.
|
ชื่อกองทุน
|
% ผลตอบแทน
|
กรุงไทย
|
กรุงไทยหุ้น Mid-Small Cap
|
8.3
|
แอสเซทพลัส
|
แอสเซทพลัส สมอล แอนด์ มิด แคป อิควิตี้
|
6.12
|
ทาลิส
|
ทาลิส MID-SMALL CAP หุ้นทุน
|
5.99
|
ภัทร
|
ภัทร SMALL AND MID CAP EQUITY
|
5.21
|
ไทยพาณิชย์
|
ไทยพาณิชย์หุ้นทุน Mid/Small Cap
|
5.01
|
จากตาราง กองทุนเปิด "กรุงไทยหุ้น mid-small Cap" ของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย ให้ผลตอบแทนสูงสุดถึง 8.3% โดยเน้นลงทุนในบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขนาดกลางและขนาดเล็ก ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)
ทั้งนี้ พอร์ตการลงทุน ณ 1 ก.พ.62 มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกลุ่ม พลังงานและสาธารณูปโภค 17.7%, เงินทุนและหลักทรัพย์ 12.6%, พาณิชย์ 5.79%, วัสดุก่อสร้าง 3.03%, สื่อและสิ่งพิมพ์ 5.73% และอื่น ๆ 55.15%
ขณะที่หุ้น 5 อันดับแรกในพอร์ตประกอบด้วย 1.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) 13.01% 2.บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) 4.28% 3. บมจ. โอสถสภา (OSP) 4.28% 4.บมจ.คอมเซเว่น (COM7) 3.63% 5.บมจ.ทีทีดับบลิว (TTW) 3.44%
ด้านกองทุนหุ้นกลุ่ม Equity Large-Cap ที่มีผลตอบแทนสูงสุด 3 เดือน 5 อันดับแรกดังนี้
กองทุน Equity Large-Cap
|
บลจ.
|
ชื่อกองทุน
|
% ผลตอบแทน
|
กรุงศรี
|
กรุงศรีเอ็นแฮนซ์เซ็ท 50
|
3.52
|
ทิสโก้
|
ทิสโก้ ไฮ ดิวิเดนด์ หุ้นทุน
|
3.46
|
ยูโอบี
|
ยูโอบี สมาร์ท แอคทีฟ เซท 100 ดิวิเดนด์
|
3.36
|
ยูโอบี
|
ยูโอบี สมาร์ท แอคทีฟ เซท 100
|
3.19
|
ธนชาติ
|
ธนชาต SET50
|
3.19
|
จากตาราง 5 อันดับแรกของกองทุนในกลุ่ม Large-Cap ผลตอบแทนถือว่าใกล้เคียงกัน เนื่องจากหุ้นที่มีสัดส่วนการถือครอง 5 อันดับแรกคล้ายกัน โดยทั้งหมดถือหุ้น บมจ.ปตท.(PTT), บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT), บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL), บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC)
ทั้งนี้ กองทุนเปิด "กรุงศรีเอ็นแฮนซ์เซ็ท 50" ของ บลจ.กรุงศรี ให้ผลตอบแทนสูงสุดที่ 3.52%
*** LTF-RMF ผลตอบแทนฟื้น
ผลตอบแทนกองทุนประหยัดภาษีส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาส 1/62 โดยกองทุน RMF-Equity ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเกือบ 8% จากที่ติดลบ 11.1% ในปีก่อน ส่วนกองทุน LTF มีผลตอบแทนเฉลี่ย 4.4% จากติดลบ 11.7% ในปีก่อน
ทั้งนี้ สาเหตุที่กองทุน RMF-Equity ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า LTF นั้นเกิดจากของผลตอบแทนกองทุนหุ้นต่างประเทศที่เป็นกองทุน RMF
ด้านเงินไหลเข้า-ออกกองทุน LTF ในไตรมาส 1/62 มีเงินไหลออกสุทธิ 6.4 พันล้านบาท น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ไหลออก 1.4 หมื่นล้านบาท ส่วนกองทุน RMF นั้นมีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.5 พันล้านบาท มาจาก RMF-Equity จำนวน 925 ล้านบาท และ RMF-Fixed Income จำนวน 511 ล้านบาท และมีการเปิดกองทุน RMF-Allocation อีกหนึ่งกอง
ปัจจุบันกองทุน LTF มีจำนวนทั้งสิ้น 92 กอง รวมมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 3.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% จากปีก่อน และ กองทุนกลุ่ม RMF มีจำนวน 212 กอง รวมมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 2.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% แบ่งออกเป็น RMF-Equity จำนวน 1.3 แสนล้านบาท หรือ 48.6% ของมูลค่ากองทุน RMF ทั้งหมด ตามมาด้วย RMF - Fixed Income มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 7.8 หมื่นล้านบาท หรือ 28.6% ของมูลค่ากองทุน RMF ทั้งหมด
*** เปิดโผ TOP 5 กอง LTF-RMF
กองทุน LTF ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด 3 เดือนแรก ได้แก่
ผลตอบแทนกองทุน LTF
|
บลจ.
|
ชื่อกองทุน
|
% ผลตอบแทน
|
ทาลิส
|
ทาลิส DIVIDEND STOCKหุ้นระยะยาว ปันผล
|
7.54
|
กสิกร
|
เค มินิมั่ม โวลาติลิตี้ หุ้นระยะยาว
|
6.09
|
แอสเซทพลัส
|
แอสเซทพลัส สมอล แอนด์ มิด แคปอิควิตี้ หุ้นระยะยาว
|
5.85
|
ยูไนเต็ด
|
ยูไนเต็ด ไทย สมอล์ แอนด์ มิด แคป หุ้นระยะยาว
|
5.53
|
ทหารไทย
|
ทีเอ็มบี ไทย มิด สมอล ผันผวนต่ำหุ้นระยะยาว
|
5.45
|
จากตาราง กองทุนเปิด "ทาลิส DIVIDEND STOCK หุ้นระยะยาวปันผล" ของ บลจ.ทาลิส ให้ผลตอบแทนสูงสุด 7.54% ซึ่งหุ้น 5 อันดับแรกในพอร์ตประกอบด้วย 1.บมจ.ศุภาลัย (SPALI) 8.01% 2.บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์(QH) 7.98% 3.บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) 7.89% 4.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) 7.78% 5.บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) 6.99%
ส่วนกองทุน RMF ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด ได้แก่
ผลตอบแทนกองทุน RMF
|
บลจ.
|
ชื่อกองทุน
|
% ผลตอบแทน
|
ทหารไทย
|
ทหารไทย China Opportunity เพื่อการเลี้ยงชีพ
|
19.24
|
กรุงศรี
|
กรุงศรีโลกบอลเทคโนโลยีอิควิตี้เพื่อการเลี้ยงชีพ
|
16.7
|
บัวหลวง
|
บัวหลวงโกลบอลอินโนเวชั่นและเทคโนโลยีเพื่อการเลี้ยงชีพ
|
15.84
|
แอสเซทพลัส
|
แอสเซทพลัส โรโบติกส์ เพื่อการเลี้ยงชีพ
|
15.08
|
กสิกร
|
เค ยูโรเปียน หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ
|
14.19
|
จากตาราง 5 อันดับแรกเป็นกองทุน RMF ที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศทั้งสิ้น ซึ่งผลตอบแทนปรับตัวขึ้นสูงตามการฟื้นตัวของตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะ จีน สหรัฐฯ และยุโรป ทั้งนี้ กองทุนเปิด "ทหารไทย China Opportunity เพื่อการเลี้ยงชีพ" ของ บลจ.ทหารไทย ให้ผลตอบแทนสูงสุด 19.24%
*** กองทุนหุ้นต่างประเทศยังเป็นขาขึ้น
"สานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล" ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายที่ปรึกษาการบริหารเงิน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) ประเมินว่า แนวโน้มการลงทุนในไตรมาส 2/62 ยังคงให้เน้นกองทุนหุ้นต่างประเทศ เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจจะส่งผลกระทบต่อหุ้นไทยได้
สำหรับนักลงทุนที่จะซื้อกองทุน LTF ยังสามารถซื้อได้ เนื่องจากปีนี้ยังได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี แม้ปีหน้าอาจจะไม่มีการต่ออายุสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ซึ่งต้องรอติดตามข้อสรุปที่แน่ชัดอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามในแง่ของตลาดหุ้นไทยจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก หากมีการยกเลิก LTF เนื่องจากผู้ที่ซื้อ LTF ก่อนหน้านี้ต้องถือให้ครบ 5 ปี หรือ 7 ปีปฏิทิน ตามข้อกำหนด ซึ่งแต่ละคนมีช่วงเวลาการซื้อต่างกัน
"ผมเชื่อว่าคนที่ลงทุน LTF มานาน ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนระยะยาว เพราะเงินที่ลงทุนจะถูกล็อกไว้ 5-7 ปี ซึ่งคงเป็นเงินเย็นที่ไม่ได้มีความจำเป็นจะใช้อะไรอยู่แล้ว ถึงได้มาลงทุนส่วนนี้ ถ้าขายออกมาแล้วเก็บไว้เฉยๆ ก็คงน่าเสียดายโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนในระยะยาว แถมต้องมานั่งคิดกันต่อว่าจะเอาไปลงทุนอะไรดี การที่ขาย LTF ออกมาแล้วต้องมานั่งคิดต่อแบบนี้สู้อยู่เฉยๆ และลงทุนกับ LTF ต่อไป ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า หรือถ้าขายออกมาจริง ผมก็เชื่อว่าด้วยเงินที่มีแนวโน้มจะเก็บระยะยาวอยู่แล้ว สุดท้ายก็จะมีบางส่วนไหลกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ไม่รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนตรงในหุ้นเองเลย หรือผ่านกองทุนรวมหุ้นไทย" สานุพงศ์ กล่าว