กองทุนประหยัดภาษี SSF ฝืด สิ้น ต.ค.63 มีทรัพย์สินสุทธิแค่ 1.3 พันล้านบาท ไม่ถึง 1% ของอุตสาหกรรม เทียบ LTF ปีแรกสัดส่วนพุ่ง 3% ของกองทุนทั้งระบบ วงการชี้สิทธิประโยชน์ไม่จูงใจ จ่อถกคลังปรับเงื่อนไขเดือนนี้
*** SSF ปีแรกฝืด มีทรัพย์สินสุทธิแค่ 1.3 พันล้านบาท
"ชญานี จึงมานนท์" นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เผยว่า ข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค.63 กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมประมาณ 1.3 พันล้านบาท จาก 84 กองทุน คิดเป็นไม่ถึง 1% ของอุตสาหกรรมกองทุนรวม ซึ่งหากเทียบกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่เปิดขายปีแรกมีมูลค่าสูงระดับ 3% ของอุตสาหกรรมกองทุนรวม
อย่างไรก็ตาม กองทุนรวมเพื่อการออมแบบพิเศษ (SSFX) ที่เปิดขายช่วง เม.ย.-มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยให้สิทธิพิเศษลดหย่อนภาษีเพิ่มอีก 200,000 บาท ได้รับความสนใจจากนักลงทุนพอสมควร ซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์รวม 7.7 พันล้านบาท จากจำนวน 18 กองทุน (ไม่รวมกองทุน BEQSSF และ BM70SSF ของ บลจ.บัวหลวง ที่มีทั้งมูลค่าการลงทุนในแบบ SSFX และ SSF ปัจจุบัน 2 กองทุนนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 1.2 พันล้านบาท และ 985 ล้านบาท ตามลำดับ)
แต่เมื่อรวมมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน SSF และ SSFX จะอยู่ที่ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งก็ยังไม่ถึง 1% ของอุตสาหกรรมกองทุนรวมทั้งหมด
*** เปิดโผ TOP10 กองทุน SSF-SFFX
ทั้งนี้ กองทุน SSF จำนวน 84 กอง แม้ข้อกำหนดกองทุนทุนจะสามารถลงทุนสินทรัพย์ได้ทุกประเภท แต่จากการสำรวจนโยบายการลงทุนพบว่าส่วนใหญ่ยังเน้นลงทุนในตลาดตลาดทุนไทยและต่างประเทศเฉลี่ยกว่า 80% ขณะที่กองทุน SSFX มีข้อกำหนดของกองทุนต้องลงทุนในตลาดหุ้นไทยไม่ต่ำกว่า 65%
โดย 10 อันดับกองทุน SSF ที่มีมูลค่าสินทรัพย์สูงสุดได้แก่
TOP10 กองทุน SSF ที่มีทรัพย์สินสุทธิสูงสุด
|
ชื่อย่อกองทุน
|
บลจ.
|
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (ลบ.)
|
SCBEQ-SSF
|
ไทยพาณิชย์
|
793.59
|
K-STAR-SSF
|
กสิกรไทย
|
88.25
|
KFENS50SSF
|
กรุงศรี
|
81.65
|
SCBLT1-SSF
|
ไทยพาณิชย์
|
81.01
|
K-FIXEDPLUS-SSF
|
กสิกรไทย
|
74.80
|
KFDIVSSF
|
กรุงศรี
|
62.01
|
UOBEQ-SSF
|
ยูโอบี
|
38.02
|
ABTESSFX
|
อเบอร์ดีน
|
32.27
|
SCBLTSET-SSF
|
ไทยพาณิชย์
|
25.22
|
KFAFIXSSF
|
กรุงศรี
|
24.50
|
ที่มา : SETSMART ข้อมูล ณ 5 พ.ย.63
|
ส่วน 10 อันดับกองทุน SSFX ที่มีมูลค่าสินทรัพย์สูงสุด ได้แก่
TOP10 กองทุน SSFX ที่มีทรัพย์สินสุทธิสูงสุด
|
ชื่อย่อกองทุน
|
บลจ.
|
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (ลบ.)
|
K-SUPSTAR-SSFX
|
กสิกร
|
2,017.20
|
SCB70-SSFX
|
ไทยพาณิชย์
|
1,390.97
|
KFS100SSFX
|
กรุงศรี
|
1,309.52
|
SCBEQ-SSFX
|
ไทยพาณิชย์
|
793.59
|
SCBSET-SSFX
|
ไทยพาณิชย์
|
645.42
|
UOBEQ-SSFX
|
ยูโอบี
|
542.00
|
PHATRA SET50 ESG-SSFX
|
ภัทร
|
345.55
|
KTESGS-SSFX
|
กรุงไทย
|
320.76
|
KT70/30S-SSFX
|
กรุงไทย
|
263.24
|
T-ES-EQDSSFX
|
ธนชาต
|
188.34
|
ที่มา : SETSMART ข้อมูล ณ 5 พ.ย.63
|
*** วงการชี้สิทธิประโยชน์ไม่จูงใจนักลงทุน
"ชญานี จึงมานนท์" เผยต่อไปว่า สาเหตุที่กองทุน SSF ได้รับความสนใจจากนักลงทุนค่อนข้างน้อย มาจากหลายปัจจัย เช่น เงื่อนไขการลงทุนที่เปลี่ยนไปไม่ว่าจะเป็นจำนวนเงินสูงสุดที่ลงทุนได้หรือระยะเวลาการลงทุน ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับการวางแผนและความเข้าใจของนักลงทุนเอง รวมถึงภาวะการลงทุนในปัจจุบันที่ยังอยู่ในช่วงไม่ปกติทำให้นักลงทุนมีความระมัดระวังในการบริหารเงินลงทุน
ด้าน "วศิน วณิชย์วรนันต์" นายกสมาคม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ประเมินว่า สาเหตุที่ SSF ไม่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนมากนัก เนื่องจากมีลักษณะการลงทุนคล้ายกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ทำให้มีกำลังซื้อจากนักลงทุนน้อยเมื่อเทียบกับ RMF
ขณะเดียวกัน SSF ออกแบบมาเหมาะกับนักลงทุนที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี แต่กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวมีปัญหาด้านกำลังซื้อ ต่ำกว่ากลุ่มเป้าหมายของ RMF ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันส่งผลกระทบกับกำลังซื้อของกลุ่มนักลงทุนเริ่มต้นซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของ SSF แต่มองว่าในระยะยาวนักลงทุนจะหันมาให้ความสนใจกองทุนนี้มากขึ้น หากได้รับความรู้ในการลงทุนอย่างทั่วถึง
เช่นเดียวกับ "ไพบูลย์ นลินทรางกูร" ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) มองว่า SSF ให้สิทธิประโยชน์ที่ไม่ค่อยจูงใจผู้ลงทุนมากนัก เนื่องจากสิทธิประโยชน์ด้านภาษีของกองทุน SSF ถูกนำไปนับรวมกับกองทุน RMF ประกอบกับการกำหนดระยะเวลาการถือครองที่ต้องไม่น้อยกว่า 10 ปี ซึ่งมากกว่ากองทุน LTF แบบเดิม จึงทำให้คนที่มีศักยภาพในการซื้อกองทุนมองว่าไม่ได้ประโยชน์มากนัก จึงลดการลงทุนหรือเลือกไปลงทุนในรูปแบบอื่นแทน
*** FETCO จ่อถกคลังเดือนนี้ ปรับสิทธิประโชน์ SSF
"ไพบูลย์ นลินทรางกูร" ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ระบุว่า สภาธุรกิจตลาดทุนไทยเตรียมหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ในช่วงเดือนพ.ย.นี้ เนื่องจากอาจจะต้องปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์หรือวัตถุประสงค์ของกองทุน SSF เพื่อจูงใจนักลงทุนมากขึ้น โดยจะนำตัวเลขสถิติต่างๆ ไปนำเสนอ ถึงการไม่ได้รับความสนใจช่วงที่ผ่านมา สะท้อนได้จากเม็ดเงินที่เข้ามาค่อนข้างน้อย
ส่วน "วศิน วณิชย์วรนันต์" การปรับเกณฑ์เพื่อดึงดูดนักลงทุนนั้น ต้องพิจารณาวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน SSF ซึ่งมีเป้าหมายชัดเจนคือต้องการให้ผู้ลงทุนตระหนักถึงการออม ในทางกลับกันหากต้องการดึงดูดนักลงทุนก็อาจจะต้องให้สิทธิ์ทางภาษีและอื่นๆ คล้ายกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เดิม ซึ่งก็อาจขัดกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน SSF ด้วยเช่นกัน โดยเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังในการพิจารณา