ตลาดหุ้นไทยปีหนูสุดผันผวน หลังถูกสารพัดปัจจัยลบกดดัน ดัชนีตั้งแต่ต้นปี -3.39% ต่ำสุด -5.30% พบหุ้นร่วงระนาวถึง 489 บริษัท สูงสุดติดลบ 40% แถมมีถึง 161 บริษัท ราคาลดลงเกิน 10% แต่กูรูเริ่มมองบวก ชี้ดัชนีรับข่าวร้ายมากแล้ว ได้เวลาเก็บหุ้นพื้นฐานดีราคาถูก พบ 15 บริษัทอัพไซด์เกิน 15% แนวโน้มอัตราการจ่ายเงินปันผลสูงเกิน 4%
*** ดัชนีหุ้นไทยใกล้ฟื้นตัว
"อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล" ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ ประเมินว่า ตลาดหุ้นไทยรับปัจจัยลบไปมากแล้ว โดยเฉพาะสถานการณ์ระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งเชื่อว่าเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัยขึ้นในปัจจุบันจะทำให้การควบคุมโรคทำได้อย่างรวดเร็ว และผู้ป่วยใหม่จะทยอยลดลงในไม่ช้า และคาดว่าจะควบคุมโรคได้ภายใน 1-2 เดือน
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับการระบาดของโรค SARS โดยมีสมมติฐานให้รายได้จากการท่องเที่ยวในไตรมาส 1/63 หายไป 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อมูลค่าตลาดรวมหุ้นไทยลดลงประมาณ 1.07-1.14 ล้านล้านบาท หรือเทียบเท่าดัชนีหุ้นไทยประมาณ 100 จุด หรือที่แนวรับ 1,480 และ 1,500 จุด ถือเป็นจุดเข้าลงทุนอีกครั้ง โดยกลยุทธ์ระยะสั้นเลือกเก็งกำไรหุ้นขนาดใหญ่ที่ราคาปรับตัวลดลงแรงจนต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานอย่างมีนัยสำคัญ เพราะมีโอกาสฟื้นตัวตลาดดัชนีฯ
ด้าน "ณัฐชาติ เมฆมาสิน" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนิตี้ แนะนำ ทยอยสะสมหุ้นขนาดใหญ่ที่ราคาปรับตัวลดลงแรงในช่วงที่ผ่านมา เพราะจากการศึกษาพบว่าหากลงทุนในกลุ่มหุ้น SET100 ที่ราคาปรับตัวลงแรงต่ำกว่าระดับ -2SD จากค่าเฉลี่ย 200 วันทำการ โดยถือครอง 1 ปีเต็มจะให้ผลตอบแทนชนะตลาด
ขณะที่ "กิติชาญ ศิริสุขอาชา" ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ระบุว่า กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่หลายบริษัทราคาปรับตัวลดลงจนเข้าภาวะขยายมากเกินไปแล้ว (OverSold) จนราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นจุดน่าสนใจเข้าทยอยสะสม โดยเลือกหุ้นที่มีอัพไซด์มากกว่า 15% ขึ้นไป และแนวโน้มกำไรยังมีการเติบโต รวมถึงมีอัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Yield) มากกว่า 4%
*** พบ 15 บจ.อัพไซด์สูง ปันผลแจ่ม
"สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" คัดกรองหุ้นที่นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งแนะนำ โดยคัดเลือกหุ้นมีราคาปัจจุบันมีอัพไซด์จากราคาเฉลี่ยเหมาะสมของ IAA Consensus ณ 14 ก.พ.63 มากกว่า 15% และมีแนวโน้มอัตราการจ่ายเงินปันผลสูงเกิน 4% พบว่ามี 15 บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่เข้าข่ายดังนี้
หุ้นอัพไซด์สูง-ปันผลแจ่ม
|
ชื่อย่อหุ้น
|
ราคาเหมาะสม (บ.)
|
%upside
|
%Div.Yield 63
|
EPG
|
7.63
|
50
|
4.2
|
TOP
|
71.82
|
35
|
4.4
|
BBL
|
190.4
|
29
|
4.5
|
SEAFCO
|
8.05
|
27
|
4.2
|
IVL
|
37.32
|
25
|
4
|
MAJOR
|
27.67
|
21
|
5.6
|
ADVANC
|
247
|
21
|
4.1
|
LH
|
11.6
|
21
|
7
|
AP
|
8.56
|
21
|
5.3
|
SPRC
|
10.7
|
19
|
5.8
|
PTTEP
|
146.6
|
18
|
4.6
|
PTT
|
50.5
|
17
|
4.4
|
KTB
|
18.71
|
16
|
4.9
|
PTTGC
|
60.45
|
16
|
4.2
|
BTS
|
14.69
|
16
|
4
|
15 บจ.ข้างต้นเป็นหุ้นที่มีนักวิเคราะห์ทำการศึกษาเกินกว่า 10 ราย และมีการให้คำแนะนำ "ซื้อ" มากกว่า 50% ซึ่งส่วนใหญ่ราคาปรับตัวลดลงตามภาวะตลาดจนต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน แต่นักวิเคราะห์ยังมองว่าบริษัทกำไรสุทธิปีนี้จะเติบโตจากปีก่อน
บมจ.อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป (EPG) มีอัพไซด์สูงสุดถึง 50% โดยราคา ณ 14 ก.พ.63 อยู่ที่ 5.1 บาท แต่ราคาเหมาะสมเฉลี่ยอยู่ที่ 7.63 บาท โดยคาดการณ์อัตราการจ่ายเงินปันผลปีนี้ถึง 4.2%
ส่วน ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เป็นบริษัทที่นักวิเคราะห์แนะนำ "ซื้อ" สูงสุด ถึง 19 บล. โดยไม่มีใครแนะนำ "ถือ" - "ขาย" เลย ซึ่งราคาล่าสุดมีอัพไซด์ถึง 29% และคาดหวังอัตราการจ่ายเงินปันผลระดับ 4.5%
ฟาก บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) ถูกคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการจ่ายเงินปันผลปีนี้สูงสุดถึง 7% ขณะที่ราคาล่าสุดมีอัพไซด์ระดับ 21%
*** 5 บจ.เทรดต่ำบุ๊ค
นอกจากนี้พบว่ามี 5 บจ.ที่ราคาปัจจุบันซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (Book Value) ได้แก่
หุ้นเทรดต่ำบุ๊ค
|
ชื่อย่อหุ้น
|
ราคาล่าสุด (บ.)
|
Book Value (บ.)
|
P/BV (เท่า)
|
BBL
|
147.5
|
225.36
|
0.65
|
KTB
|
16.1
|
24.01
|
0.67
|
PTTGC
|
52.25
|
63.64
|
0.82
|
AP
|
7.1
|
8.08
|
0.88
|
TOP
|
53.25
|
58.08
|
0.92
|
ทั้ง 5 บริษัทอยู่ในกลุ่มธุรกิจ ธนาคารพาณิชย์, อสังหาริมทรัพย์, ปิโตรเคมี และ พลังงาน โดยมี อัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) ต่ำกว่าอุตสาหกรรมทั้งหมด โดย ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าบัญชีมากที่สุด โดยราคาล่าสุดอยู่ที่ 147.5 บาท แต่มูลค่าทางบัญชีอยู่ที่ 225.36 บาท หรือมี P/BV เพียง 0.65 เท่า ซึ่งต่ำกว่าอุตสาหกรรมที่มี P/BV ที่ 0.89 เท่า
*** กูรูแนะทยอยลงทุนอย่างระมัดระวัง
"กิจพณ ไพรไพศาลกิจ" ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ระบุว่า แม้จะมีจังหวะในการเข้าสะสมหุ้นพื้นฐานดีราคาถูก แต่ให้เลือกลงทุนอย่างระมัดระวัง เพราะหลายบริษัทยังไม่ประกาศงบการเงินปี 62 ซึ่งหากต่ำกว่าคาดการณ์จะส่งผลต่อราคาหุ้น โดยให้ลงทุนสัดส่วนเพียง 70% ของพอร์ต และถือเงินสด 30%
เช่นเดียวกับ "มงคล พ่วงเภตรา" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) เสริมว่า ควรเลือกลงทุนหุ้นในกลุ่มอุสาหกรรมที่ยังเป็นขาขึ้น ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และนักลงทุนต้องวิเคราะห์พื้นฐานเพื่อหาราคาเหมาะสมที่แท้จริง เพราะบางครั้งนักวิเคราะห์อาจจะคาดการณ์คลาดเคลื่อนได้ ขณะเดียวกันให้เลือกหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลระดับสูงสม่ำเสมอมากกว่าการคาดหวังที่ราคาหุ้น เพราะมองว่าตลาดหุ้นไทยจะยังคงผันผวนต่อเนื่องในปีนี้