จับตาปัญหาหนี้สินบริษัทจดทะเบียน(บจ.) น่าเป็นห่วง ครึ่งปีหลังโดนหั่นอันดับเครดิตแล้ว 6 บริษัท แถมอีก 4 บริษัทโดนปรับลดแนวโน้มเป็น "ลบ" ขณะเดียวกันพบ 43 บริษัทหนี้สินต่อทุน(D/E) ทะลุ 3 เท่า จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีเพียง 30 บริษัท สูงสุด 81.64 เท่า ผงะ 23 บริษัทอาการโคม่า หนี้สูง-สภาพคล่องต่ำ-ธุรกิจขาดทุน
*** 6 บจ.โดนหั่นอันดับเครดิต
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด รายงาน ครึ่งหลังของปีนี้ได้มีการทบทวนอันดับเครดิต บจ.หลายแห่ง สาเหตุสำคัญมาจากตัวเลขหนี้สินที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับผลประกอบการที่อ่อนแอลง โดยได้ปรับลดอันดับเครดิตแล้ว 6 บริษัท ดังนี้
1.บมจ.ถิรไทย (TRT) ถูกปรับลดอันดับเครดิตเป็น "BB+" จาก "BBB-" สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันและสถานะทางการเงินของบริษัทที่ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง โดยขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 60 ขณะที่ปี 62 แนวโน้มกำไรยังไม่ฟื้นตัว คาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 30 ล้านบาท ในปี 62 ส่งผลต่อกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้จะยังคงอ่อนแอ
ณ เดือน มิ.ย.62 หนี้สินรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 1.34 พันล้านบาท โดยเป็นเงินกู้ระยะสั้นเกิน 50% เพื่อใช้ในการดำเนินงาน บริษัทมีเงินสดประมาณ 170 ล้านบาท แต่มีหุ้นกู้ระยะยาวที่จะครบกำหนดภายในสิ้นปี 63 จำนวน 400 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ในระดับต่ำ คาดว่าบริษัทจำเป็นจะต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อนำมาใช้ไถ่ถอนหุ้นกู้คงเหลือทั้งหมด
2.บมจ.เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป (ACAP) ถูกปรับลดอันดับเครดิตเป็น "B" จาก "BB-" สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ถดถอยต่อความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท สถานะเงินสดของบริษัทถูกกดดันโดยการที่บริษัทไม่สามารถเรียกเงินคืนจากลูกหนี้หรือการขายหลักประกันได้ บริษัทไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงหลักฐานที่สะท้อนถึงความสามารถที่จะหาแหล่งเงินสดที่เพียงพอหรือการกู้ยืมใหม่สำหรับภาระหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระในระยะเวลาอันใกล้นี้
ณ เดือน มิ.ย.62 บริษัทมีเงินกู้ยืมรวม 3.34 พันล้านบาท เป็นหุ้นกู้ 2.68 พันล้านบาท ตั๋วแลกเงิน 80 ล้านบาท ตั๋วสัญญาใช้เงินกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน 442 ล้านบาท และตั๋วสัญญาใช้เงินกับบุคคลอื่นอีก 142 ล้านบาท โดยทริสฯ กำลังพิจารณาอย่างใกล้ชิดถึงความสามารถในการชำระหนี้
3.บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) ถูกปรับลดอันดับเครดิตเป็น "A-" จาก "A" สะท้อนถึงผลประกอบการของบริษัทที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากภาวะอุตสาหกรรมน้ำตาลยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่บริษัทมีความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาระหนี้สินของบริษัทปรับตัวสูงขึ้น
4.บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) ถูกปรับลดอันดับเครดิตเป็น "BB" จากระดับ "BB+" สะท้อนการปรับตัวสูงขึ้นของระดับหนี้สินอย่างต่อเนื่อง จากแผนการลงทุนในธุรกิจโรงแรมและการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์โครงการใหม่ ขณะที่คาดว่าจะยังไม่ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างเต็มที่จนกระทั้งปี 65
คาดหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วจะเพิ่มสูงขึ้นจนอยู่ที่ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะเพิ่มขึ้นเป็น 70% ในปี 64 แต่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะลดลงไปอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 3% ช่วงปี 62-64 เป็นผลจากค่าใช้จ่ายในการบริหารและต้นทุนทางการเงินที่สูงซึ่งกดดันเงินทุนจากการดำเนินงาน
5.บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) หรือ FPT ถูกปรับลดอันดับเครดิตเป็น "A-" จาก "A" สะท้อนถึงความเสี่ยงทางการเงินและความเสี่ยงทางธุรกิจจะเพิ่มขึ้น หลังการซื้อกิจการของ บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ (GOLD) คาดภาระหนี้ของบริษัทที่ประเมินจากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ปรับปรุงแล้ว จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6-8 เท่า ในช่วงรอบปีบัญชี 62-65 จาก 4-5 เท่าก่อนซื้อกิจการ
ขณะที่สภาพแวดล้อมที่มีลักษณะเป็นวงจรขึ้นลงและมีการแข่งขันสูงของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทแผ่นดินทองฯ ดำเนินการนั้น อาจก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อสถานะทางธุรกิจของบริษัทได้ ส่วนการลดระดับหนี้จะมาจากการขายสินทรัพย์เข้าทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (FTREIT) และการขายสินทรัพย์ซึ่งไม่ใช่สินทรัพย์หลักของบริษัท ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี
6.บมจ.ยูนิเวนเจอร์ (UV) ถูกปรับลดอันดับเครดิตเป็น "BBB" จาก "BBB+" สะท้อนถึงขนาดธุรกิจและความหลากหลายทางธุรกิจที่เล็กลง หลังจากการขายหุ้น GOLD ซึ่ง ณ ปี 61 EBITDA ของบริษัทที่ 3.6 พันล้านบาท มาจาก GOLD ถึง 81%
ขณะที่ความหลากหลายในธุรกิจของบริษัทจะน้อยลง เพราะธุรกิจของ GOLD ครอบคลุมถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรร, อาคารสำนักงานให้เช่า, โครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน ส่งผลให้ธุรกิจของ UV เหลือเพียงการขายคอนโดมิเนียมและสังกะสีออกไซด์ แม้จะมีแผนเปิดโครงการคอนโดมิเนียมมากขึ้นและมีแผนลงทุนในอาคารสำนักงาน แต่อาจทำให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้นจากการลงทุนใหม่
บจ.ที่ถูกปรับลดอันดับเครดิต
|
ชื่อย่อหุ้น
|
ประเภทเครดิต
|
อันดับล่าสุด
|
อันดับเดิม
|
สาเหตุ
|
TRT
|
องค์กร
|
BBB-
|
BB+
|
หนี้สูง-ผลประกอบการอ่อนแอ
|
ACAP
|
องค์กร
|
BB
|
B
|
หนี้สูง-ผลประกอบการอ่อนแอ
|
KSL
|
องค์กร-หุ้นกู้
|
A
|
A-
|
หนี้สูง-ผลประกอบการอ่อนแอ
|
GRAND
|
องค์กร
|
BB+
|
BB
|
หนี้สูง-ผลประกอบการอ่อนแอ
|
FPT
|
องค์กร-หุ้นกู้
|
A
|
A-
|
หนี้พุ่งหลังซื้อ GOLD
|
UV
|
องค์กร-หุ้นกู้
|
BBB+
|
BBB
|
ขนาดธุรกิจเล็กลงหลังขาย GOLD
|
***4 บจ.โดนปรับลดแนวโน้มเป็น "ลบ"
ขณะเดียวกันมี 4 บริษัท แม้จะยังไม่ถูกปรับลดอันดับเครดิต แต่ถูกปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น "ลบ" จากเดิม "คงที่" ซึ่งมาจากภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด ประกอบด้วย
1.บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผลการดำเนินงานที่อ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากภาวะเศรษฐกิจชะลอส่งผลกระทบต่อการชะลอการลงทุนและความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่เช่าของบริษัทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.40 หมื่นล้านบาท ณ มิ.ย.62 จาก 3.23 หมื่นล้านบาทในปี 60 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 8 เท่าในปี 61 และในช่วงครึ่งแรกของปี 62 จากระดับ 5.6 เท่าในปี 59
2.บมจ.ไทยโซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) สถานะทางการเงินของบริษัทจะถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า จากการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงการ "โอนิโกเบ" ถึงแม้ว่าจำนวนเงินลงทุนจะลดลงก็ตาม ซึ่งการที่บริษัทไม่สามารถขายหุ้นในสัดส่วน 40% ของโครงการได้ตามแผนการที่วางไว้นั้น จะส่งผลทำให้โครงสร้างหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นตลอดระยะเวลาของการลงทุนในโครงการนี้
แม้บริษัทคาดหวังว่าจะได้รับเงินจากเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) จำนวน 950 ล้านบาทในเดือนต.ค.นี้ แต่มองว่าบริษัทน่าจะนำจำนวนเงินดังกล่าวไปใช้เพื่อการลงทุนครั้งใหม่มากกว่าที่จะนำไปใช้เพื่อลดภาระหนี้ของโครงการ "โอนิโกเบ" คาดว่าระหว่างปี 63-65 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นจนถึงระดับ 70% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าในช่วงปี 63-64
โดยการลงทุนใหม่ใดใดที่ใช้เงินกู้เป็นหลักในระหว่างการพัฒนาโครงการโอนิโกเบจะถือเป็นปัจจัยที่อาจทำให้มีการทบทวนอันดับเครดิตในเชิงลบได้ นอกจากนี้สภาพคล่องของบริษัทมีความตึงตัวเนื่องจากบริษัทมีหุ้นกู้จำนวน 2 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนต.ค.นี้ หลังจากที่ได้ประเมินระดับกระแสเงินสดและจำนวนเงินที่มีอยู่ในมือแล้วคาดว่าบริษัทจำเป็นจะต้องทำการกู้ยืมเพื่อไถ่ถอนหุ้นกู้ดังกล่าว (รีไฟแนนซ์)
3.บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) มีภาระหนี้สินที่สูงกว่าคาด แต่ความสามารถในการทำกำไรก็ต่ำกว่าคาดการณ์เช่นกัน แม้ว่าบริษัทมีแผนจะลดระดับหนี้สินลงก็ตาม แต่ยังต้องรอดูว่าจะสามารถทำได้ตามแผนหรือไม่ โดยสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทตึงตัว ณ เดือนมี.ค.62 บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 1.07 หมื่นล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้ 8.9 พันล้านบาท เงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินจำนวน 1.3 พันล้านบาท และเงินกู้ระยะยาวโครงการจำนวน 0.5 พันล้านบาท
โดยแหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 2.9 พันล้านบาท วงเงินกู้จากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้และไม่ติดเงื่อนไขในการเบิกซึ่งสามารถเบิกใช้ได้ทันทีจำนวน 1.6 พันล้านบาท ที่ดินซึ่งไม่ติดภาระค้ำประกันซึ่งมีมูลค่าตามบัญชีประมาณ 3.1 พันล้านบาท และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท
4.บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ระดับภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการซื้อกิจการของ บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) ในปี 59 มูลค่าประมาณ 2.10 แสนล้านบาท โดยใช้เงินกู้เป็นแหล่งเงินทุนบางส่วน ต่อมาช่วงปลายปี 61 ยังได้ซื้อกิจการของ บมจ.ไว้ท์กรุ๊ป (WG) โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 3 พันล้านบาท ส่งผลให้หนี้สินทางการเงินสุทธิของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเป็นประมาณ 1.54 แสนล้านบาท ณ มี.ค.62
แต่แผนการลดภาระหนี้สินของบริษัทมีอุปสรรคจากอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอและจากการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้การเติบโตของกำไรและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่ำกว่าเป้าหมาย อีกทั้งยังส่งผลให้แผนการลดภาระหนี้สินของบริษัทเป็นไปได้ช้ากว่าประมาณการครั้งก่อน โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA อยู่ที่ 7.3 เท่า ณ เดือนมี.ค.62
คาดว่าระดับภาระหนี้สินจะยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 7.2 เท่า ณ สิ้นปี 62 และประมาณ 6 เท่า ณ สิ้นปี 63 โดยบริษัทมีความจำเป็นจะต้องใช้เงินกู้ใหม่เพื่อชำระคืนหนี้เงินกู้เดิมที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 24 เดือนข้างหน้า
บจ.ที่ถูกปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิต
|
ชื่อย่อหุ้น
|
แนวโน้มล่าสุด
|
แนวโน้มเดิม
|
สาเหตุ
|
WHA
|
ลบ
|
คงที่
|
หนี้เพิ่มขึ้น
|
TSE
|
ลบ
|
คงที่
|
หนี้เพิ่มขึ้น
|
PF
|
ลบ
|
คงที่
|
หนี้เพิ่มขึ้น
|
BJC
|
ลบ
|
คงที่
|
หนี้เพิ่มขึ้น
|
*** พบ 43 บจ. D/E ทะลุ 3 เท่า
นอกจากนี้เมื่อสำรวจหนี้สินต่อทุนของ บจ. ณ งบการเงิน 6 เดือนปี 62 โดยไม่รวมกลุ่มธุรกิจการเงิน พบว่ามี 43 บริษัทที่หนี้สินต่อทุนสูงเกิน 3 เท่า มากกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีเพียง 30 บริษัท ซึ่งมีถึง 18 บริษัทที่ D/E เกิน 5 เท่า สูงสุดคือ บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE) มีหนี้สินต่อทุน 81.64 เท่า ขณะที่กลุ่ม เทคโนโลยี และ อสังหาริมทรัพย์ เป็นอุตสาหกรรมที่มีจำนวนบริษัทติดโผสูงสุด 7 บริษัทเท่ากัน
*** ตลท.ชี้เศรษฐกิจชะลอส่งผลกระทบ
"แมนพงศ์ เสนาณรงค์" รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงาน บจ.ครึ่งแรกของปี 62 อ่อนตัวลงมาก เพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว โดยความสามารถการทำกำไรของ บจ.มีอัตรากำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 7.7% ลดลงจาก 9.9% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 6.7% ลดลงจาก 7.9% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลกระทบนี้ทำให้ บจ.มีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนสูงขึ้น ทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้น โดย ณ สิ้นไตรมาส 2/62 อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 1.36 เท่า จากช่วงเดียวกันในปีก่อนที่ 1.26 เท่า
"ปัญหาหนี้สินในกลุ่ม บจ.ข้างต้นต้องดูรายละเอียดแต่ละบริษัทว่าเกิดจากการบริหารผิดพลาดหรือเกิดจากอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับ บจ.ทั้งตลาดฯ ส่วนใหญ่ยังมีสภาพคล่องที่ดี หลายบริษัทยังมีเงินสดเหลือ หลายบริษัทมีการขยายธุรกิจใหม่ และหลายบริษัทก็ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ตลท.มอนิเตอร์หุ้นกลุ่มนี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะบริษัทที่มีหนี้สูง มีผลขาดทุนต่อเนื่อง เรามีคณะทำงานดูแลบริษัทจดทะเบียนในการช่วยหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทในการนำไปปรับใช้ได้มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน นักลงทุนเองก็ต้องศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ" รองผู้จัดการ ตลท. เผย
*** พบ 23 บจ.อาการโคม่า
ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกในรายละเอียดพบว่ามีถึง 23 บริษัทที่น่าเป็นห่วง เพราะมีหนี้สูง แต่สภาพคล่องต่ำ และทุกบริษัทมีผลประกอบการปี 61 และ 6 เดือนแรกปี 62 ขาดทุน ประกอบด้วย
หุ้นหนี้สูง-สภาพคล่องต่ำ
|
ชื่อย่อหุ้น
|
D/E
(เท่า)
|
Quick Ratio (เท่า)
|
Current Ratio
(เท่า)
|
Interest Coverage (เท่า)
|
PACE*
|
81.64
|
0.05
|
0.05
|
-3.13
|
PRIME*
|
27.79
|
0.01
|
0.01
|
0.29
|
THAI
|
14.63
|
0.29
|
0.29
|
-5.19
|
JUTHA*
|
13.24
|
0.03
|
0.03
|
-2.24
|
POST*
|
10.27
|
0.19
|
0.19
|
-4.27
|
JCKH*
|
9.47
|
0.11
|
0.11
|
-20.42
|
HYDRO*
|
7.61
|
0.36
|
0.36
|
-14.73
|
CHOW
|
7.58
|
0.47
|
0.47
|
0.89
|
APEX*
|
7.18
|
0.03
|
0.03
|
-0.11
|
MPG*
|
7.08
|
0.08
|
0.08
|
-136.33
|
UMS*
|
6.87
|
0.11
|
0.11
|
-0.43
|
ITD
|
6.68
|
0.35
|
0.35
|
0.85
|
SDC
|
6.3
|
0.34
|
0.34
|
-0.1
|
TFI*
|
5.97
|
0.12
|
0.12
|
-1.39
|
KKC
|
5.66
|
0.3
|
0.3
|
-4.39
|
EFORL*
|
4.94
|
0.25
|
0.25
|
-1.58
|
TRC
|
3.93
|
0.23
|
0.23
|
-8.82
|
BRR
|
3.91
|
0.13
|
0.13
|
0.58
|
PPPM
|
3.85
|
0.11
|
0.11
|
-2.28
|
A
|
3.64
|
0.16
|
0.16
|
0.28
|
OHTL
|
3.5
|
0.22
|
0.22
|
-31.42
|
CI
|
3.41
|
0.4
|
0.4
|
-3.61
|
MALEE
|
3.32
|
0.42
|
0.42
|
-3.81
|
* บจ.ที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C
** ข้อมูลงบการเงิน ณ ไตรมาส 2/62
|
ข้อมูลข้างต้นประเมินจาก 1.บริษัทที่มี D/E เกิน 3 เท่า
2.อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick Ratio) ต่ำกว่า 1 เท่า คำนวณจาก (สินทรัพย์หมุนเวียน-สินค้าคงเหลือ)/หนี้สินหมุนเวียน เป็นการวัดส่วนของสินทรัพย์ที่ได้หักค่าสินค้าคงเหลือที่เป็นสินทรัพย์ระยะสั้นและมีความคล่องตัวในการเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ต่ำสุดออก เพื่อให้ทราบถึงสภาพคล่องที่แท้จริงของกิจการ
3.บริษัทที่มีอัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio) ต่ำกว่า 1 เท่า คำนวณจากสินทรัพย์หมุนเวียน/หนี้สินหมุนเวียน ใช้วัดความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้น
4.อัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio) ต่ำกว่า 1 เท่า คำนวณจาก (กำไรสุทธิ+ภาษีเงินได้-ดอกเบี้ยจ่าย)/ดอกเบี้ยจ่าย ใช้วัดความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งหากต่ำกว่า 1 เท่า แสดงว่าธุรกิจมีความสามารถในการจ่ายชำระดอกเบี้ยได้เพียงบางส่วนเท่านั้น และถ้าหากผลลัพธ์ที่ได้ออกมามีค่าเท่ากับ 0 หรือติดลบ เท่ากับว่าธุรกิจของผู้ประกอบการไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยได้เลย ซึ่งจะพัฒนากลายเป็นปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินในที่สุด
*** หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นการนำเสนอข้อมูลจากงบการเงินของบริษัทจดทะเบียน เพื่อนำเสนอให้นักลงทุนไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจ มิได้มีเจตนาชี้นำว่าบริษัทที่อยู่ในเงื่อนไขข้างต้นจะผิดนัดชำระหนี้แต่อย่างใด