หุ้นไทยวิ่งสวนทางกำไร บจ. ดันพี/อีพุ่งเฉียด 30 เท่า สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จับตาต่างชาติ-สถาบัน เริ่มขายย้ายหาตลาดฯที่ถูกกว่า ผงะ!พบ 23 บจ. พี/อีสูงระดับ 112-2,921 เท่า กูรูชี้"เลี่ยงได้เลี่ยง" คาดผลงานยังไม่ฟื้น อาจโดนแรงเทขาย
*** พี/อีหุ้นไทยทุบสถิติสูงสุดเฉียด 30 เท่า
"สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" สำรวจข้อมูลสถิติตลาดหุ้นไทยต้นปี 64 พบว่า ล่าสุด (5 ก.พ.64) อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (พี/อี) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) อยู่ที่ 29.88 เท่า สูงสุดเป็นประวัติการณ์ มากกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (59-63) ที่อยู่ระดับเฉลี่ย 20.12 เท่า
ทั้งนี้ พี/อี หุ้นไทยเริ่มทะลุระดับ 20 เท่าเมื่อเดือน ก.ค.63 ครั้งแรกในรอบ 46 เดือน (ครั้งสุดท้าย ต.ค.59) และปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ในระดับสูงสุดเป็นสถิติใหม่ในเดือน ก.พ.64
"วัชเรนทร์ จงยรรยง" ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)โกลเบล็ก เปิดเผยว่า สาเหตุที่ทำให้พี/อีของตลาดหุ้นไทย ทะยานแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ส่วนใหญ่ปรับตัวลง จากผลกระทบโควิด-19 สวนทางกับภาพรวมดัชนีที่ปรับตัวขึ้นตั้งแต่ปลายปีก่อนต่อเนื่องถึงต้นปีนี้ เพราะนักลงทุนคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังมีวัคซีนป้องกันโควิด-19
ด้าน "วิน พรหมแพทย์" ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) พรินซิเพิล เสริมว่า การลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกตั้งแต่ช่วงปลายปี 63 ถึงต้นปีนี้ เป็นขาขึ้นรับข่าววัคซีนป้องกันโควิด-19 และจากสภาพคล่องที่ล้นระบบ แต่ผลประกอบการ บจ.ยังอยู่ในช่วงของการรับรู้ผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้ในแง่ Valuation ขยับตัวอยู่ในระดับตึงตัวแทบทุกตลาด โดยดัชนี MSCI AC World ปี 64 มี Forward P/E ที่ 20 เท่า สะท้อนว่าตลาดหุ้นโลกอยู่ในระดับแพงที่สุดในรอบ 18 ปี เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทยที่พี/อีขึ้นไปสูงสุดเป็นประวัติการณ์
*** จับตาเม็ดเงินเริ่มไหลออก
"วัชเรนทร์ จงยรรยง" ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)โกลเบล็ก ประเมินต่อไปว่า Valuation ของหุ้นไทยที่แพงเกินไป อาจจะส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) รวมถึงนักลงทุนสถาบันไหลออก เพื่อย้ายไปยังตลาดหุ้นอื่นที่มีอัพไซด์สูงกว่า
ทั้งนี้ เมื่อสำรวจการซื้อขายหุ้นไทยแยกตามกลุ่มผู้ลงทุนพบว่า ตั้งแต่ต้นปี (YTD) มีเพียงนักลงทุนภายในประเทศที่มีสถานะเป็นซื้อสุทธิ 3.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 1.9 หมื่นล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 1.1 หมื่นล้านบาท และ บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ 408.76 ล้านบาท
*** พบ 23 บจ. พี/อี เกิน 100 เท่า
ทั้งนี้ เมื่อสำรวจข้อมูลสถิติพี/อีในหุ้นรายตัวพบว่ามีถึง 67 บจ.มีพี/อีมากกว่า 50 เท่า และมี 23 บจ.ที่พี/อีเกิน 100 เท่า ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดในรอบ 5 ปี (ช่วงเดียวกันปีก่อนมี 18 บจ.และสิ้นปี 63 มี 20 บจ.) ประกอบด้วย
23 หุ้น P/E เกิน 100 เท่า
|
ชื่อย่อหุ้น
|
ราคาล่าสุด (บ.)
|
%chg 6M
|
%chg 3M
|
%chg YTD
|
P/E (เท่า)
|
OTO
|
6.05
|
94
|
66
|
17
|
2,921
|
COMAN
|
2.84
|
33
|
34
|
19
|
784
|
HPT
|
0.79
|
8
|
7
|
-12
|
546
|
TWZ
|
0.07
|
0
|
17
|
0
|
365
|
BIG
|
0.62
|
11
|
32
|
9
|
355
|
OCC
|
9.55
|
10
|
4
|
-7
|
322
|
APCS
|
4.88
|
-23
|
-6
|
-6
|
310
|
EASON
|
1.37
|
16
|
11
|
3
|
306
|
FN
|
1.23
|
-5
|
6
|
4
|
213
|
SKY
|
12
|
-19
|
-4
|
0
|
212
|
AOT
|
64
|
29
|
13
|
3
|
212
|
PK
|
1.59
|
-2
|
3
|
0
|
205
|
THG
|
25.75
|
36
|
39
|
0
|
190
|
PLAT
|
2.64
|
6
|
29
|
7
|
152
|
CCET
|
2.42
|
26
|
7
|
12
|
141
|
EMC
|
0.17
|
21
|
13
|
-6
|
138
|
SMT
|
4.4
|
64
|
40
|
65
|
125
|
VRANDA
|
6.1
|
5
|
11
|
2
|
120
|
NRF
|
8.35
|
N/A
|
44
|
35
|
117
|
PLANB
|
6.65
|
23
|
20
|
6
|
116
|
GULF
|
32.75
|
-3
|
5
|
-4
|
115
|
KCM
|
0.57
|
6
|
33
|
16
|
114
|
UV
|
3.66
|
21
|
55
|
24
|
112
|
ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ข้อมูล ณ 5 ก.พ.64
|
23 บจ.ข้างต้นจดทะเบียนใน SET จำนวน 18 บริษัท และ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 4 บริษัท โดยมีถึง 6 บริษัทเป็นหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปเกินหมื่นล้านบาท ซึ่งเมื่อสำรวจความเคลื่อนไหวราคาหุ้นกลุ่มนี้พบว่าส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยผลตอบแทนราคาหุ้น 6 เดือนหลังอยู่ที่ 21.62% ส่วน 3 เดือนหลังอยู่ที่ 20.8% และตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่เฉลี่ย 8.2% แต่ผลประกอบการ ณ สิ้นงวด 9 เดือนปี 63 ส่วนใหญ่กำไรปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ บางบริษัทพลิกขาดทุน
ขณะที่พบว่ามีถึง 11 บริษัทที่มีพี/อีมากกว่า 200 เท่า โดย บมจ.วันทูวัน คอนแทคส์ (OTO) มีพี/อีสูงสุดถึง 2,921 เท่า
ส่วนหุ้นใหญ่ใน SET50 อย่าง บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) มีพี/อีสูงระดับ 212 เท่า และ 115 เท่า ตามลำดับ
*** กูรูแนะเลี่ยง เสี่ยงโดนแรงขาย
"ธีรศักดิ์ ธนวรากุล" รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ระบุว่า กลุ่มหุ้นที่พี/อีสูง ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากอาจจะมีแรงขายหากผลประกอบการยังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยให้เลือกลงทุนหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัวที่มีแนวโน้มผลประกอบการฟื้นตัว และราคาหุ้นไม่แพงเกินไป
ส่วน "วัชเรนทร์ จงยรรยง" ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก แนะนำว่า นักลงทุนที่มีหุ้นในกลุ่มดังกล่าว หากผลตอบแทนเป็นบวกให้ขายทำกำไร หรือ หากผลตอบแทนเป็นลบอาจจะต้องยอมตัดขาดทุน ไปก่อน เพราะส่วนใหญ่แนวโน้มผลประกอบการยังไม่ฟื้นตัวอย่างที่ควรจะเป็น
แต่สำหรับนักลงทุนที่สามารถถือหุ้นระยะยาว 2-3 ปี ได้ ไม่มีอะไรต้องกังวล เพราะระยะยาวคาดว่าผลประกอบการของหุ้นดังกล่าวจะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ เมื่อการแพร่ระบาดโควิด-19 จบลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น
อย่างไรก็ตาม หุ้นขนาดเล็กบางบริษัทในกลุ่มนี้ไม่มีบทวิเคราะห์รองรับ และผลประกอบการไม่มีแนวโน้มที่ชัดเจน รวมถึงราคาหุ้นมีความผันผวน ให้ระมัดระวังการลงทุน