ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาถือว่าเป็นขาขึ้นของหุ้นไทย โดยดัชนี SET Index สามารถทะยานมายืนอยู่เหนือระดับ 1,700 จุดได้ สาเหตุหลักเกิดจากเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ที่ไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง โดย 3 เดือนที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิถึง 7 หมื่นล้านบาท
แต่เมื่อตรวจสอบเพิ่มเติมกลับพบว่า "นักลงทุนสถาบันในประเทศ" กลับเป็นผู้ขายสุทธิ 4.5 หมื่นล้านบาท สูงสุดเมื่อเทียบกับทุกกลุ่มนักลงทุน โดยมีการขายสุทธิ 3 เดือนติดต่อกัน (พ.ค.-ก.ค.) ที่สำคัญเดือนนี้ขายสุทธิสูงสุดของปีที่ 2.5 หมื่นล้านบาท ต่างจากนักลงทุนกลุ่มอื่นๆ ที่มีสถานะเป็นซื้อสุทธิทั้งหมด
*** วงการชี้ขายทำกำไรช่วงดัชนีฯ ขาขึ้น
"อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล" ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ ประเมินว่า การขายหุ้นไทยของนักลงทุนสถาบันในประเทศ เป็นแรงขายทำกำไร หลังซื้อหุ้นไทยมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 60 สุทธิเกือบ 3 แสนล้านบาท ซึ่งช่วง 3 เดือนหลังดัชนีปรับตัวเพิ่มจากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้สภาพคล่องในตลาดสูงขึ้น จึงเป็นจังหวะเหมาะสมในการขายทำไร
ด้าน "กรภัทร วรเชษฐ์" ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน เสริมว่า นักลงทุนสถาบันเริ่มปรับพอร์ตหุ้นบางกลุ่ม โดยเฉพาะหุ้นที่ราคาปรับขึ้นมากช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีผลต่อมุมมองด้านมูลค่า(Valuation) และอัพไซด์ที่เริ่มจำกัด จึงขายเพื่อเตรียมเงินสดสำหรับหุ้นเป้าหมายที่มีอัพไซด์มากกว่า
ขณะที่ "สุโชติ ถิรวรรณรัตน์" ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) มองว่า อีกสาเหตุที่กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศเริ่มทยอยขายทำกำไรหุ้นไทย เพราะ Valuation ตลาดหุ้นไทย เริ่มน่ากังวล ค่อนข้างแพงและตึงตัว ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 2/62 มีแนวโน้มต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มหลักอย่าง "พลังงาน" ที่น่าจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ขณะที่กลุ่มส่งออกยังได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าและสงครามการค้า ส่วนกลุ่มที่เชื่อมโยงกับการบริโภคในประเทศก็ยังไม่ฟื้นตัว โดยอาจจะมีการปรับลดประมาณการลง ซึ่งจะทำให้ P/E สูงขึ้นโดยอัตโนมัติ จึงขายเพื่อล็อคกำไร
*** แรงขาย LTF พุ่ง
"ชญานี จึงมานนท์" นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า แรงขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศส่วนหนึ่งมากจากการขายกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ครบกำหนด โดยใช้จังหวะหุ้นไทยขาขึ้นในการขาย เพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มีเงินไหลออกจากกองทุน LTF ทั้งสิ้น 7.6 พันล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่เงินไหลออกเพียง 4.9 พันล้านบาท
โดยเฉพาะเดือน มิ.ย.เดือนเดียวมีเงินไหลออกจาก LTF ถึง 5.3 พันล้านบาท ต่างจากปกติของทุกปีที่มักจะเป็นเงินไหลเข้าในเดือนนี้
"ผู้ซื้อหน่วยลงทุน LTF ที่มีอายุครบ 5-7 ปี ต้องการขายหุ้นเพื่อนำเงินออก โดยผู้จัดการกองทุนต้องสั่งขายหุ้น เพื่อถือเงินสดรองรับการไถ่ถอนหน่วยลงทุน" ชญานี กล่าว
ด้าน "อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล" เสริมว่า เม็ดเงิน LTF ที่ครบกำหนดขายได้ตั้งแต่ต้นปีนี้ที่ผ่านมายังไม่มีการขายออก ซึ่งดัชนีช่วงต้นปีอยู่ระดับเพียง 1,563 จุด แต่ปัจจุบันอยู่ระดับประมาณ 1,750 จุด จึงทำให้มีแรงขายของ LTF ออกมา ประกอบกับนักลงทุนชะลอการซื้อ LTF เพราะรอความชัดเจนกองทุนใหม่ที่จะมาทดแทน
*** ฟันธงกองทุนไทยขายต่อเนื่อง
"เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม" ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า นักลงทุนสถาบันในประเทศจะยังขายหุ้นไทยต่อเนื่อง เพราะนอกจากการขายปรับพอร์ต จะต้องขายเพื่อรองรับการไถ่ถอน LTF ด้วย โดยเฉพาะช่วงที่ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับกองทุนใหม่ที่จะมาทดแทน นักลงทุนจะขาย LTF ที่ครบกำหนดเพื่อถือเงินสดรอดูสถานการณ์ ซึ่งแรงขายของกองทุนจะยังคงกดดันให้ดัชนียังคงแกว่งตัว
ทั้งนี้ หุ้นเป้าหมายที่อาจจะถูกขายหรือลดสัดส่วน คือหุ้นที่ราคาปรับขึ้นมากช่วงที่ผ่านมา จนมี P/E สูงกว่ากลุ่มอุตสาหกรรม และเป็นหุ้นที่กองทุนถือครองสัดส่วนสูงมากกว่า 4% ขึ้นไป ซึ่งมองว่า หากผลประกอบการไม่เป็นตามคาด มีความเสี่ยงที่จะถูกขายทำกำไร
ขณะที่ "อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล" มองว่า กลุ่มกองทุนไทยจะมีการขายหุ้นต่อเนื่อง แต่จะเป็นลักษณะการขายลดลง โดยดัชนีจะถูกพยุงโดยกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศซึ่งคาดว่าจะมีแรงซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
*** เปิดโผ 9 หุ้น ถูกกองทุนลดสัดส่วน
"สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" สำรวจข้อมูลการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนสถาบันจากแบบรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ (246-2) ซึ่งจะรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ที่ผ่านทุกๆ 5% โดยพบว่า 3 เดือนที่ผ่านมามี 9 บริษัทถูกกองทุนขายออก ลดสัดส่วนการถือครองดังนี้
หุ้นที่ถูก นลท.สถาบันขาย
|
ผู้ขาย
|
ชื่อย่อหุ้น
|
% ขายออก
|
%ถือครองที่เหลือ
|
บลจ.กรุงศรี
|
BEAUTY
|
-1.73
|
4.09
|
TTCL
|
-0.37
|
9.67
|
RS
|
-0.2
|
4.8
|
KCE
|
-0.14
|
4.89
|
บลจ.บัวหลวง
|
GPSC
|
-0.56
|
4.64
|
GUNKUL
|
-0.16
|
4.85
|
NETBAY
|
-0.15
|
14.95
|
UTP
|
-0.13
|
9.88
|
บลจ.อเบอร์ดีน
|
HTC
|
-0.05
|
4.98
|
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงศรี และ บลจ.บัวหลวง มีการขายหุ้นออกรายละ 4 บริษัทเท่ากัน ขณะที่ บลจ.อเบอร์ดีน ขาย 1 บริษัท