CPALL ปิดซื้อขายเช้านี้ลบ 0.83% คาดรับ Sentiment เชิงลบจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่โบรกฯ ประเมินงบ Q2/64 หดตัวแรง จากผลกระทบโควิด–ค่าใช้จ่ายรีไฟแนนซ์เงินกู้ ลุ้นครึ่งปีหลังฟื้น ตามการฉีดวัคซีนมากขึ้น มองกำไรปีนี้หดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ก่อนกลับมาโตอีกครั้งปี 65
*** ปิดเช้าลบ 0.83% หลังผู้ติดเชื้อโควิดยังสูง
ราคาหุ้น บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ช่วงเช้าวันนี้ (15 ก.ค.64) ร่วงไปทำจุดต่ำสุดที่ราคา 59.75 บาท ก่อนปิดซื้อขายภาคเช้าไปด้วยราคา 60 บาท ลดลง 0.5 บาท หรือ -0.83% มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้น 29.55% จาก 5 วันทำการก่อนหน้า
สาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น CPALL ปิดซื้อขายภาคเช้าลบ 0.83% เนื่องจากกำลังได้รับ Sentiment เชิงลบ จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับสูง 8-9 พันราย/วัน ส่งผลให้ร้ายสะดวกซื้อของ CPALL ในพื้นที่ควบคุมโรคสีแดงเข้ม ไม่สามารถเปิดให้บริการตลอด 24 ชม. ได้ตามปกติ
*** โควิด–ค่าใช้จ่ายรีไฟแนนซ์เงินกู้ ฉุดกำไร Q2/64 วูบ YoY-QoQ
บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ประเมินกำไรสุทธิไตรมาส 2/64 ของ CPALL ไว้ที่ 2.1 พันล้านบาท หดตัว 27% จากปีก่อน (YoY) และ หดตัว 17% จากไตรมาสก่อน (QoQ) โดยมีแรงกดดัน จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 และ การบันทึกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรีไฟแนนซ์เงินกู้ระยะสั้น (Bridging loan)
นอกจากนี้ ยังคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ของ CPALL จะลดลง 12 bps เหลือ 21.4% เนื่องจากสัดส่วนการขายสินค้าที่มีกำไรต่ำเพิ่มขึ้น ประกอบกับ ค่าใช้จ่ายทางการเงิน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 79% จากปีก่อน เป็น 3.5 พันล้านบาท จากภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น ในการเข้าซื้อโลตัส ขณะที่ส่วนแบ่งกำไรจากโลตัสลดลง หลังยอดขายชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ
ด้าน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ประเมินกำไรสุทธิไตรมาส 2/64 ของ CPALL ไว้ที่ 1.9 พันล้านบาท หดตัว 34% จากปีก่อน และ หดตัว 25% จากไตรมาสก่อน โดยสาเหตุหลัก เกิดจาก การรีไฟแนนซ์ bridging loan เพื่อรักษาระดับต้นทุนทางการเงินให้ต่ำลง
ขณะที่ ผลการดำเนินงานร้านสะดวกซื้อถูกการแพร่ระบดโควิด-19 กดดันผลการดำเนินงาน คาดว่าอัตราการเติบโตจากสาขาเดิม (SSSG) ในช่วงไตรมาส 2/64 มีแนวโน้มติดลบ 0.5% แต่ธุรกิจ Cash-and-Carry ของ MAKRO ยังคงแข็งแกร่ง คาดว่า SSSG ในช่วงไตรมาส 2/64 ยังเติบโตได้ 5% ซึ่งกิจการที่ต่างประเทศ เริ่มเห็นการขาดทุนลดลงบ้างแล้ว
*** ลุ้นโควิดสงบ – รับอานิสงส์รีไฟแนนซ์เงินกู้ ดันผลงานครึ่งปีหลังฟื้น
บล.เคทีบีเอสที ประเมินว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/64 ของ CPALL จะเป็นจุดต่ำสุดในปี 64 ก่อนที่จะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ตามการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชนได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ SSSG ของ CPALL เริ่มกลับมาเป็นบวกได้ราว 3-5%
นอกจากนี้ ยังคาดว่า GPM ในช่วงครึ่งปีหลังของ CPALL จะปรับตัวเพิ่มขึ้น หากการแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง เนื่องจาก CPALL จะไม่ต้องใช้มาตรการลดราคาสินค้าประเภท Ready to eat ประกอบกับ ลดจำนวนการขายสินค้าแพ็คใหญ่ลง หลังจากที่ CPALL ใช้มาตรการดังกล่าวในช่วงต้นปี เพื่อลดภาระให้ลูกค้าในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19
สอดคล้องกับ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ที่ประเมินว่า ผลการดำเนินงานของ CPALL จะกลับมาฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีปัจจัยหนุนจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้มากขึ้น ประกอบกับ มาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและเพิ่มกำลังซื้อของภาครัฐ
ขณะเดียวกัน การรีไฟแนนซ์เงินกู้ระยะสั้น คาดว่าจะช่วยให้ CPALL ประหยัดดอกเบี้ยจ่ายราว 300 ล้านบาท/ไตรมาส ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/64 เป็นต้นไป ประกอบกับ ส่วนแบ่งกำไรจากโลตัส มีแนวโน้มค่อยๆ เร่งตัวขึ้นเช่นกัน เมื่อการแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายลง
*** แต่กำไรปี 64 จ่อหดตัว 2 ปีต่อเนื่อง ก่อนฟื้นปี 65
ก่อนหน้านี้ในปี 63 ทาง CPALL รายงานกำไรสุทธิ จำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท ลดลง 27.27% เมื่อเทียบกับปี 62 โดยมีการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นสาเหตุหลักฉุดผลประกอบการในปี 63 ขณะที่ ปี 64 การแพร่ระบาดของโณตดังกล่าวยังไม่จบลง ซึ่งยังกดดันผลการดำเนินงาน CPALL ในปี 64 ต่อเนื่อง
โดย บล.เคทีบีเอสที ประเมินกำไรสุทธิปี 64 ของ CPALL ไว้ที่ 1.46 หมื่นล้านบาท ลดลง 11.40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากช่วงครึ่งปีแรกของปี 64 ทาง CPALL ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย ประกอบกับ CPALL มีภาระดอกเบี้ย และ ค่าใช้จ่ายในการ Rebranding โลตัส ที่สูงกว่าคาดการณ์เดิม
ขณะที่ กำไรสุทธิของ CPALL จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในปี 65 โดยประเมินว่า ปี 65 ทาง CPALL จะมีกำไรสุทธิ 1.9 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 33% จากปี 64 ภายใต้สมมติฐาน นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยมากขึ้น ประกอบกับ GPM ทยอยปรับตัวขึ้นจากพฤติกรรมผู้บริโภคกลับสู่ภาวะปกติ ซื้อสินค้าปลีกมากขึ้น และมีการเดินทางมากขึ้น ประกอบกับ ดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลง และ ส่วนแบ่งกำไรจากโลตัสสูงขึ้น
ส่วนนักวิเคราะห์อีก 3 ราย ประเมินกำไรสุทธิปี 64 – 65 ของ CPALL ไว้ดังนี้
บล. |
กำไรสุทธิปี 64 (ลบ.) |
%chg YoY |
กำไรสุทธิปี 65 (ลบ.) |
%chg YoY |
เมย์แบงก์ฯ |
15,092 |
-6.27 |
19,230 |
27.41 |
ฟินันเซียฯ |
15,067 |
-6.42 |
20,361 |
35.13 |
เอเชีย พลัส |
12,000 |
-25.47 |
14,917 |
24.30 |
*** โบรกฯ แนะนำ"ซื้อ" แต่ส่วนใหญ่หั่นราคาเป้าหมายลง
จากการสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ทั้งหมดยังคงแนะนำ"ซื้อ" แต่ปรับราคาเป้าหมายของ CPALL ลงจากเดิม เนื่องจากมองว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ในประเทศ จะกระทบผลการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาส 2-3/64 ก่อนที่จะมีลุ้นฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายไตรมาส 3/64 ภายใต้เงื่อนไขการแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มผ่อนคลายมากขึ้น
บล. |
คำแนะนำ |
ราคาเหมาะสมใหม่ (บ.) |
ราคาเหมาะสมเดิม (บ.) |
ดีบีเอสฯ |
ซื้อ |
75.00 |
78.00 |
เคทีบีฯ |
ซื้อ |
74.00 |
80.00 |
เมย์แบงก์ฯ |
ซื้อ |
67.00 |
67.00 |
ราคาเฉลี่ย |
72.00 |
75.00 |
การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปลายปี 62 และการซื้อกิจการ Lotus อาจสร้างผลกระทบต่อกำไรสุทธิของ CPALL ได้นานถึง 2 ปี (63-64) สะท้อนจากกำไรสุทธิ ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่องตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ แม้กำไรสุทธิปี 65 ของ CPALL จะมีแนวโน้มกลับมาเติบโตครั้งแรกในรอบ 2 ปี แต่ระดับกำไรสุทธิที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ ยังไม่กลับสู่ระดับปกติในระยะเวลาอันใกล้แน่นอน