BAM กลับเข้าเรดาร์นักลงทุนอีกครั้ง หลังธุรกิจเข้าไฮซีซั่น หนุนกำไร Q4/64 เป็นจุดเริ่มต้นฟื้นตัว ขณะที่ โบรกฯประเมินกำไรปี 65 โตแรง 19 – 40% YoY หลังสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ – เร่งขาย NPA เชิงรุก มองราคาหุ้นอยู่ในโซนน่าสะสม หลังเทรด PBV 1.5 เท่า ต่ำกว่ากลุ่ม
*** กลับเข้าเรดาร์นักลงทุน หลังธุรกิจเข้าไฮซีซั่น
หุ้น บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กลับเข้าสู่เรดาร์นักลงทุนอีกครั้ง สะท้อนจากราคาหุ้น 1 เดือนล่าสุดปรับตัวขึ้นราว 6% หลังธุรกิจบริหารจัดการหนี้ NPL กำลังเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ซึ่งโดยปกติช่วงปลายปี จะมีการเร่งเจรจาเพื่อปิดบัญชีหนี้ NPL ของลูกหนี้จำนวนมาก
*** เตรียมตัว! กำไร Q4/64 เป็นจุดเริ่มต้นฟื้นตัว
บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า กำไรสุทธิไตรมาส 4/64 ของ BAM จะฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน ที่กำไรสุทธิลดลงเหลือ 576 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุน จากธุรกิจเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ประกอบกับ กรมบังคับคดี สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้เต็มไตรมาส ทำให้กระบวนการด้านเอกสารดำเนินได้ตามปกติ
นอกจากนี้ การขาย NPA มีการเร่งระบายทรัพย์โครงการพิเศษต่างๆก่อนสิ้นปี ประกอบกับ BAM เร่งทำตลาดในกลุ่มลูกค้ารายย่อยเพิ่มขึ้น หลังเปิดโครงการผ่อนชำระ NPA ทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่มากขึ้น อีกทั้งยังอัดโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อฟื้นยอดขาย ช่วงเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว
เช่นเดียวกับ บล.เอเซีย พลัส ที่ประเมินว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 4/64 ของ BAM มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อน จากการคงเป้าจัดเก็บเงินสดในปี 64 ให้ได้ 1.7 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 29% จากปีก่อน ซึ่งจะทำให้ในช่วงไตรมาส 4/64 การจัดเก็บเงินสดของ BAM จะทำได้ราว 4.2 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 6% จากปีก่อน และ เติบโตขึ้น 8% จากไตรมาสก่อน
อย่างไรก็ตาม BAM เปิดเผยว่า แนวโน้มการจัดเก็บเงินสดในช่วงไตรมาส 4/64 อาจทำได้สูงกว่า 4.2 พันล้านบาท เนื่องจากมีการเร่งขายทรัพย์เพิ่มขึ้น ขณะที่ การขาย NPL เริ่มฟื้นตัวขึ้น หลังรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาดำเนินอีกครั้ง
*** โบรกฯอัพเป้ากำไรปีนี้ หลังเก็บเงินสดสูงเกินคาด
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า ได้ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 64 ของ BAM ขึ้นจากเดิมราว 10% เป็น 2.3 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 27% จากปีก่อน (เดิม 2.1 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 15% จากปีก่อน) โดยมีปัจจัยหนุนจากการจัดเก็บเงินสดงวด 9 เดือนปี 64 ทำได้ดีกว่าคาดไว้เดิมอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่ นักวิเคราะห์อีก 2 ราย ประเมินกำไรสุทธิปี 64 ของ BAM ไว้ดังนี้
บล. กำไรสุทธิปี 64 (ลบ.) %
บล. |
กำไรปี 64(ลบ.) |
เปลี่ยนแปลง % |
FSS |
2,225 |
21 |
KTBST |
2,151 |
17 |
*** จับตา ธปท.ชงแก้กฎหมายบริหารสินทรัพย์ จ่อหนุน BAM
ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังอยู่ระหว่างทำประชาพิจารณ์ เพื่อพิจารณาแก้ไขกฎหมาย ว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ระหว่างวันที่ 22 พ.ย. – 21 ธ.ค.64 โดยประเด็นหลักที่ตลาดให้ความสนใจ คือ การขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ให้ครอบคลุมการรับจ้างบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้กับหน่วยงานรัฐฯ (เดิมทำได้เพียงรับซื้อ, โอน และ รับจ้างบริหารสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน)
โดย บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองประเด็นนี้ เป็นบวกกับ BAM เพราะจะทำให้หนี้เสียเปิดประมูลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหนี้เสียที่มีหลักประกัน ซึ่ง BAM เป็นผู้นำในตลาดดังกล่าว ซึ่งหากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะทำให้ BAM เข้าถึงสินทรัพย์ด้อยคุณภาพใหม่ๆ ที่มีต้นทุนการประมูลต่ำลง รวมถึง ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดฝั่งผู้ซื้อหนี้เสียผ่อนคลายลง ตามจำนวน Supply ใหม่ ที่เพิ่มขึ้น
*** โบรกฯคาดกำไรปี 65 โต 19 – 40% หลังเร่งขาย NPA
บล.เคทีบีเอสที ประเมินกำไรสุทธิปี 65 ของ BAM ไว้ที่ 3.02 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 40% จากปีก่อน โดยมีปัจจัยหนุน จากธุรกิจ NPA ที่จะขยายตัวต่อเนื่องจากปี 64 ตามการเร่งขายสินทรัพย์เชิงรุก เช่นเดียวกับ ธุรกิจ NPL ที่กลับมาดีขึ้น จากการเริ่มกลับมาซื้อหนี้เสียบริหารเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ไตรมาส 4/64
ประกอบกับ การทยอยสิ้นสุดระยะเวลาช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินต่างๆ รวมทั้งความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น ตามทิศทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น ภายหลังเปิดประเทศ ตั้งแต่ 1 พ.ย.64 เป็นต้นมา ซึ่งคาดว่า บรรยากาศดังกล่าวจะเป็นไปในทิศทางเชิงบวกมากขึ้นในปี 65
สอดคล้องกับ บล.เอเซีย พลัส ที่ประเมินกำไรสุทธิปี 65 ของ BAM ไว้ที่ 3.1 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 19% จากปีก่อน มีปัจจัยหุนที่สำคัญ จากการเร่งขาย NPA มากขึ้นในปีหน้า เนื่องจากเป็นสินค้าที่ BAM มีอยู่ในสต็อกและพร้อมขายอยู่แล้ว ประกอบกับ กำลังซื้อผู้บริโภคในปี 65 มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายลง
ขณะที่ นักวิเคราะห์อีก 2 ราย ประเมินกำไรสุทธิปี 65 ของ BAM ไว้ดังนี้
บล. |
กำไรปี 65 (ลบ.) |
เปลี่ยนแปลง % |
FSS |
3,020 |
36 |
CNS |
2,791 |
22 |
*** กูรูมอง Valuation น่าสนใจเข้าสะสม
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า หากพิจารณาในแง่มูลค่า (Valuation) ถือว่า BAM ยังมีความน่าสนใจ สะท้อนจากการเทรด PBV ต่ำเพียง 1.5 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรม ประกอบกับ ราคาหุ้น ณ ปัจจุบัน ยังมีอัพไซด์ค่อนข้างน่าสนใจ เมื่อเทียบกับราคาเหมาะสมของเราที่ 24.50 บาท/หุ้น
นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของ BAM ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น ตั้งแต่ไตรมาส 4/64 เป็นต้นไป และยังได้ประโยชน์จาก NPL ของสถาบันการเงิน ที่จะทยอยปรับตัวสูงขึ้น ในช่วง 2 – 3 ปีต่อจากนี้
เช่นเดียวกับ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ที่มองว่า ราคาหุ้น BAM ณ ปัจจุบัน กำลังอยู่ในช่วงน่าสนใจเข้าสะสม สะท้อนจากผลการดำเนินงานที่ผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 3/64 ไปแล้ว ขณะที่กำไรสุทธิปี 65 จะกลับมาเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ ราว 36% จากปีก่อน ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมกลับสู่ภาวะปกติ
*** ส่วนใหญ่แนะนำซื้อ
จากการสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงแนะนำซื้อ เนื่องจากมองว่า ผลการดำเนินงานของ BAM มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่ไตรมาส 4/64 เป็นต้นไป หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับ ราคาหุ้น ณ ปัจจุบัน ยังอยู่ในโซนน่าสะสม
บล. |
คำแนะนำ |
ราคาเหมาะสม(บ.) |
Yuanta |
ซื้อ |
24.50 |
ASPS |
ซื้อ |
24 |
FSS |
ซื้อ |
22 |
CNS |
ซื้อเก็งกำไร |
21 |
KTBST |
ถือ |
20.50 |
ราคาเฉลี่ย |
|
22.40 |
หากอ้างอิงข้อมูลของนักวิเคราะห์ ดูเหมือนว่าผลการดำเนินงานของ BAM จะเริ่มกลับสู่ช่วงขาขึ้น ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/64 เป็นต้นไป แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้น คือ การร่วมทุนกับธนาคารพาณิชย์ ตั้งบริษัทบริหารหนี้ประเภท Unsecured ที่ยังไม่มีนักวิเคราะห์รายไหนรวมอยู่ในประมาณการกำไรสุทธิปี 65 โดยคาดเห็นความชัดเจนในปีหน้า ซึ่งอาจเป็นอัพไซด์ต่อประมาณการกำไรสุทธิของนักวิเคราะห์ได้เช่นกัน.....