เช้านี้ CPF ดิ่งสวน SET รับงบ Q1/65 จ่อพลิกขาดทุน หลังต้นทุนอาหารสัตว์พุ่ง – ราคาหมูจีนต่ำสุดรอบ 35 เดือน ขณะที่โบรกฯเตรียมหั่นเป้ากำไรปี 65 ลง หากต้นทุนยังไม่ลด ประเมินครึ่งปีหลังเริ่มฟื้น หลังฐานราคาเนื้อสัตว์ต่างประเทศปีก่อนต่ำ คาดต้นทุนเริ่มลด
*** เช้านี้ดิ่งสวน SET รับงบ Q1/65 จ่อขาดทุน
ราคาหุ้น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ช่วงเช้าวันนี้ (5 เม.ย.65) ร่วงไปทำจุดต่ำสุดที่ราคา 23.90 บาท ลดลง 1.66% จากวันทำการก่อนหน้า ก่อนปิดซื้อขายภาคเช้าด้วยราคา 24 บาท ลดลง 0.3 บาท หรือ -1.23% มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้น 89.80% จาก 5 วันทำการก่อนหน้า
สาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น CPF เช้านี้ ปรับตัวลง สวนทางดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ที่ปิดบวก 3.33 จุด หรือ 0.2% เนื่องจากกำลังได้รับ Sentiment เชิงลบ หลังนักวิเคราะห์ในตลาด ประเมินผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/65 มีแนวโน้มพลิกขาดทุน ต่อจากช่วงไตรมาส 3/64
*** เปิดสาเหตุ ทำไมงบโค้งแรกถึงจ่อขาดทุน
บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ประเมินผลการดำเนินงานไตรมาส 1/65 ของ CPF มีแนวโน้มขาดทุนสุทธิ 1.5 พันล้านบาท เทียบปีก่อน และไตรมาสก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 6.9 พันล้านบาท และ 6.7 พันล้านบาท ตามลำดับ มีสาเหตุหลัก จากแรงกดดันด้านต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สะท้อนจาก ราคาข้าวโพดเพิ่มขึ้น 23% จากปีก่อน และ เพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาสก่อน, กากถั่วเหลือง เพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อน และ 9% จากไตรมาสก่อน แม้จะมีปัจจัยหนุนจากราคาเนื้อหมู และ เนื้อไก่ในประเทศ ที่เพิ่มขึ้น 35% จากปีก่อน และ 22% จากปีก่อน ตามลำดับ
นอกจากนี้ CPF ยังต้องรับรู้ ผลขาดทุนจากบริษัทร่วม (CTI) อีก 60 ล้านบาท เทียบกับปีก่อน และ ไตรมาสก่อน มีกำไรสุทธิ 2 พันล้านบาท และ 2.6 พันล้านบาท ตามลำดับ เพราะ CTI ได้รับผลกระทบจากราคาเนื้อหมูในประเทศจีน ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จนปัจจุบันเหลือเพียง 11 – 12 หยวน/กิโลกรัม ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าต้นทุนการเลี้ยง
สอดคล้องกับ บล.กรุงศรี ที่มองว่า กำไรสุทธิไตรมาส 1/65 ของ CPF มีแนวโน้มหดตัว 80% จากปีก่อน แม้ราคาเนื้อหมู และเนื้อไก่ในประเทศไทย และ เวียดนามจะฟื้นตัว แต่ยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของช่วงเดียวกันปีก่อน 31% ขณะเดียวกัน ราคาเนื้อหมูในประเทศจีน กลับทำระดับต่ำสุดในรอบ 35 เดือน ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้น มีแนวโมลดลงเป็น 16% เทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 20%
*** โบรกฯจ่อหั่นเป้ากำไร หากต้นทุนยังไม่ลด
บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า แม้ราคาเนื้อสัตว์ในประเทศ ส่งสัญญาณฟื้นตัว แต่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพด และ กากถั่วเหลืองต่างปรับตัวขึ้น ในอัตราที่ใกล้เคียงกับ ราคาเนื้อหมู และ เนื้อไก่ ที่ปรับตัวขึ้นเช่นกัน ทำให้ผลการดำเนินงานของ CPF ไม่สามารถรับรู้ปัจจัยบวกได้เต็มที่ ซึ่งยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อไป
ทั้งนี้ หากการทำสงคราม ระหว่างประเทศรัสเซีย กับ ยูเครน ยังคงยืดเยื้อต่อไป ประเมินว่า ยังทำให้ต้นทุนของ CPF ทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไปจนกว่าภาวะสงครามของทั้ง 2 ประเทศ จะยุติ ซึ่งอาจทำให้เราปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 65 ของ CPF ลงจากเป้าเดิมที่คาดไว้ 1.8 หมื่นล้านบาท
สอดคล้องกับ บล.พาย ที่ระบุว่า อาจมีการพิจารณาปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 65 ของ CPF ที่ประเมินไว้ 1.6 หมื่นล้านบาท ลงได้เช่นกัน สะท้อนจากแนวโมผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/65 ที่มีแนวโน้มขาดทุนสุทธิ 1.5 พันล้านบาท ประกอบกับ ราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวสูงต่อเนื่อง
สรุป ปัจจุบัน นักวิเคราะห์ 4 ราย ยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 65 ของ CPF ไว้ดังนี้
บล. |
กำไรสุทธิปี 65 (ลบ.) |
%chg YoY |
ทรีนีตี้ |
18,311 |
40 |
กรุงศรี |
16,378 |
25 |
พาย |
16,181 |
24 |
*** กูรูคาดต้องรอครึ่งปีหลัง กำไรถึงฟื้น
บล.ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ประเมินว่า ผลการดำเนินงานของ CPF ในช่วงครึ่งหลังของปี 65 มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก ภายใต้สมมติฐาน ราคาต้นทุนอาหารสัตว์ลดลงจากช่วงครึ่งปีแรก ประกอบกับ ฐานราคาเนื้อหมูต่างประเทศช่วงครึ่งหลังปี 64 อยู่ในระดับต่ำ จะช่วยหนุนผลการดำเนินงานให้ฟื้นตัวได้
*** ติงผลประกอบการผันผวน แนะนำเพียง"ถือ"
บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า สำหรับการลงทุนในหุ้น CPF ณ ปัจจุบัน แนะนำเพียง"ถือ" เท่านั้น แม้ราคาหุ้นจะยังมีอัพไซด์เหลืออยู่พอสมควร แต่ด้วยผลประกอบการในระยะสั้น ยังมีความผันวน จากราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์อยู่ในระดับสูง ประกอบกับ การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่อาจทำให้การล็อกดาวน์ประเทศจีน กินระยะเวลานานขึ้น
เช่นเดียวกับ บล.กรุงศรี ที่ระบุว่า การลงทุนในหุ้น CPF ณ ปัจจุบัน แนะนำเพียง"ถือ"เท่านั้น เนื่องจากระยะสั้น ยังมีปัจจัยลบที่กระทบต่อการดำเนินงานมากพอสมควร อาทิ ราคาเนื้อหมูในประเทศจีน ยังมีแนวโน้มอ่อนแอต่อเนื่อง, ต้นทุนวัตถุดิบยังอยู่ในระดับสูง จากสภาพอากาศในทวีปอเมริกาใต้ไม่เอื้ออำนวย รวมทั้งยังมีการทำสงครามระหว่างรัสเซีย กับ ยูเครน ที่กระทบต่อการส่งออกข้าวโพด อีกด้วย
*** ส่วนใหญ่แนะนำเพียงแค่"ถือ"
จากการสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ แนะนำเพียงแค่"ถือ"เท่านั้น เนื่องจากมองว่า ผลการดำเนินงานในระยะสั้นของ CPF ยังคงถูกกดันจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารปรับตัวขึ้น ขณะที่ ราคาเนื้อหมูในประเทศจีน ทำระดับต่ำสุดใหม่ในรอบ 35 เดือน
บล. |
คำแนะนำ |
ราคาเหมาะสม (บ.) |
ทรีนีตี้ |
ถือ |
29.00 |
ซีจีเอสฯ |
ซื้อ |
29.00 |
ฟิลลิป |
ซื้อ |
28.00 |
กรุงศรี |
ถือ |
28.00 |
พาย |
ถือ |
26.25 |
ราคาเฉลี่ย |
28.15 |
CPF ถือว่าเป็นอีก 1 บริษัท ที่ผลการดำเนินงานมีความผันผวนค่อนข้างสูง เนื่องจากราคาขายเนื้อสัตว์สามารถถูกแทรกแซงได้ง่าย แต่ดูเหมือนว่า ปีนี้ CPF กลับต้องเผชิญ กับ ปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้ อย่างต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สุดท้ายต้องติดตามต่อไปว่า CPF จะสามารถเอาตัวรอดจากปัญหาครั้งนี้ได้อย่างไร ?