DELTA ปิดซื้อขายเช้านี้บวก 5.56% สวนทาง SET ปิดลบ 6.88 จุด หลังหลุด Cash Balance วันแรก - บาทอ่อนค่าสุดรอบ 2 ปี 9 เดือน แต่โบรกฯเตือนงบ Q3/64 อาจสะดุด แม้ดีมานด์ทั้งปีล้น เหตุโควิดระบาดหนักกว่าคาด ฉุดอัตราการทำกำไรลดลง หวั่นโควิดไม่จบง่ายๆ ทำกำไรปีนี้หลุดเป้า
*** ปิดเช้าบวก 5.56% หลังหลุด Cash Balance - บาทอ่อนสุดรอบ 2 ปี 9 เดือน
ราคาหุ้น บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ช่วงเช้าวันนี้ (6 ส.ค.64) ดีดขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ราคา 658 บาท ก่อนปิดซื้อขายภาคเช้าด้วยราคา 608 บาท เพิ่มขึ้น 32 บาท หรือ 5.56% มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้น 783.01% จาก 5 วันทำการก่อนหน้า
บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น DELTA ปิดซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ บวก 5.56% สวนทางดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ที่ปิดลบ 6.88 จุด หรือ -0.45% เนื่องจากกำลังได้รับปัจจัยหนุน หลังหลุดมาตรการกำกับการซื้อขาย ทั้งการห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และ Cash Balance ตั้งแต่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้วันนี้เป็นวันแรก ที่สามารถซื้อด้วยบัญชีมาร์จิ้นได้
นอกจากนี้ DELTA ยังได้รับปัจจัยหนุน หลังเงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 2 ปี 9 เดือน ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ส่งผลเชิงบวกต่อบริษัทที่มีรายได้จากการส่งออกเป็นหลัก
*** ครึ่งหลังดีมานด์ล้น จนต้องอัพเป้ารายได้ปีนี้โตเกิน 10%
นายแจ็คกี้ จาง ประธานบริหาร DELTA เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับเป้าหมายการเติบโตของรายได้ปีนี้ เป็นมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (เดิมคาดโค 5-10%) โดยมีเหตุผลหลัก จากความต้องการสินค้าของกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (EV), กลุ่มธุรกิจ Data Center รวมถึงธุรกิจ Clound Storage ยังมีความต้องการในระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งจากปัจจัยบวกดังกล่าว ทำให้ DELTA มีแผนขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นด้วย
*** แต่กูรูเตือนงบ Q3/64 อาจสะดุด แม้ดีมานด์ล้น
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า ยอดขายในช่วงไตรมาส 3/64 ของ DELTA มีความเสี่ยงลดลงจากไตรมาสก่อน แม้ดีมานด์ยังทรงตัวในระดับสูงก็ตาม แต่จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงความรุนแรง ส่งผลให้ประเทศมาเลเซีย ต้องประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ 14 วัน ส่งผลกระทบต่อคำสั่งซื้อ Raw Material ของ DELTA ในช่วงปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยที่รุนแรง ทำให้ DELTA มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น เช่น ตรวจคัดกรองเชื้อพนักงานกลุ่มเสี่ยงโดยใช้ Rapid Test, เช่าที่พักอาศัยให้พนักงาน ในกรณีที่ต้องทำ Home Isolution และพยายามจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้พนักงานได้มากที่สุด
ทั้งนี้ การจัดการควบคุมโรคที่เข้มข้นของ DELTA ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าทำงานล่วงเวลาพนักงาน (OT) หรือค่าเช่าที่พักพนักงาน เป็นต้น และอาจกดดันให้การผลิตของ DELTA ไม่สามารถดำเนินการได้เต็มศักยภาพ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำกำไรในช่วงดังกล่าว มีแนวโน้มลดลง
เช่นเดียวกับ บล.ทิสโก้ ที่ประเมินว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/64 ของ DELTA ยังมีความท้าทาย แม้ดีมานด์ยังสูง เพราะ DELTA ได้มีการเร่งตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ให้พนักงาน และกักตัวพนักงานที่มีความเสี่ยงสูง ประกอบกับ มีแผนที่จะติดตั้ง UV Cabinet จำนวน 20 จุด ราคา 1.5 ล้านบาทต่อจุด ขณะที่ จำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 หมื่นคน (เดิม 1.5 หมื่นคน)
*** โบรกฯหวั่นโควิดลากยาวกว่าคาด ฉุดกำไรปีนี้หลุดเป้า
บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า กำไรปกติครึ่งปีแรกของ DELTA จำนวน 2.9 พันล้านบาท คิดเป็นเพียง 38% ของประมาณการทั้งปีเท่านั้น แต่ยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 64 ของ DELTA ไว้ที่ 7.7 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 9.5% จากปีก่อนตามเดิม เพราะยังคาดหวังการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานช่วงครึ่งปีหลัง ประกอบกับ ยังมีปัจจัยหนุนสำคัญ อย่างเงินบาทอ่อนค่า
อย่างไรก็ตาม เราเริ่มเห็นดาวน์ไซด์ต่อประมาณการกำไรสุทธิปี 64 ของ DELTA จากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย ที่ยาวนานกว่าคาดการณ์ ประกอบกับ ค่าขนส่งยังทรงตัวในระดับสูง รวมถึงการล็อกดาวน์ประเทศมาเลเซีย อาจส่งผลกระทบต่อวัตถุดิบ Speccific IC ที่ DELTA สั่งผลิตจาก Supplier ในประเทศมาเลเซีย
เช่นเดียวกับ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ที่ระบุว่า ผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของ DELTA ที่ออกมาแย่กว่าคาด ส่งผลให้ประมาณการกำไรสุทธิปี 64 ที่เราคาดไว้ที่ 8.1 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 14% จากปีก่อน เริ่มมีดาวน์ไซด์ หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ยังคงระดับความรุนแรง เบื้อต้น แนะนำจับตาดูการแพร่ระบาดดังกล่าว และแนวทางการบริหารจัดการของ DELTA ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดปริมาณการผลิต และอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ของ DELTA ในปีนี้
ส่วน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากในช่วงครึ่งปีหลัง การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย และภูมิภาคยังไม่ลดระดับความรุนแรงในระยะสั้นนี้ อาจกดดันให้ผลการดำเนินงานช่วงครึ่งปีหลังของ DELTA แย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ได้เช่นกัน
*** กูรูไม่แนะนำสะสมในราคานี้
บล.บัวหลวง ระบุว่า ยังคงไม่แนะนำทยอยสะสมหุ้น DELTA ในระดับราคานี้ เนื่องจากกำไรสุทธิในระยะถัดไป มีแนวโน้มอ่อนตัว และมูลค่า (Valuation) หุ้น ณ ปัจจุบัน ค่อนข้างแพง สะท้อนจาก ราคาหุ้นที่เทรดระดับ PER ปี 65 ที่ 82 เท่า เทียบกับกลุ่ม Semiconductor ชั้นนำของโลก เทรดเฉลี่ยเพียง 24 เท่า
สอดคล้องกับ บล.เอเซีย พลัส ที่ระบุว่า ราคาหุ้น ณ ปัจจุบันของ DELTA มี Valuation ที่แพงและเกินมูลค่าพื้นฐานไปมากแล้ว จนล่าสุดมีค่า PER สูงถึง 86 เท่า จึงยังคงแนะนำขาย
*** ส่วนใหญ่ยังแนะนำ"ขาย"
จากการสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ยังคงแนะนำ"ขาย" เนื่องจากมองว่าในช่วงครึ่งปีหลัง กำไรสุทธิของ DELTA ยังมีความไม่แน่นอนที่จะดีตามที่ตลาดคาดการณ์ หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ยังคงรุนแรง และฉุดความสามารถการทำกำไรต่ำลง ประกอบกับ Valuation ณ ปัจจุบันที่ค่อนข้างแพงไปมากแล้ว
บล. |
คำแนะนำ |
ราคาเหมาะสม (บ.) |
ยูโอบีฯ |
ขาย |
460.00 |
หยวนต้า |
ขาย |
414.00 |
โนมูระฯ |
REDUCE |
345.00 |
ฟินันเซียฯ |
ขาย |
330.00 |
เคจีไอ |
ขาย |
320.00 |
ทิสโก้ |
ขาย |
280.00 |
ราคาเฉลี่ย |
358.16 |
ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าปี 64 จะเป็นปีที่ไม่ยากลำบากเท่าไรนักสำหรับ DELTA เพราะดีมานด์อยู่ในระดับสูงทั้งปี แต่การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ฉุดกำไรครึ่งปีแรกต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ เริ่มเป็นปัจจัยที่ทำให้นักวิเคราะห์กลับมากังวลใจอีกครั้ง หลังการแพร่ระบาดดังกล่าวยังไม่มีท่าที่จบลงในช่วงสั้น ซึ่งอาจกดดันกำไรครึ่งปีหลัง ของ DELTA แย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ก็เป็นได้...