KCE ปิดซื้อขายเช้านี้บวก 8.28% สวนทาง SET ปิดลบ 10.55 จุด คาดรับปัจจัยหนุนบาทอ่อน – ต้นทุนวัตถุดิบลดลง ด้านโบรกฯ ประเมินกำไรโค้งสามยังโตแรงไม่เลิก เหตุธุรกิจเข้าไฮซีซั่น บาทอ่อนช่วยหนุน ส่วนจุดพีค รออยู่ไตรมาสสุดท้ายของปี กูรูเลือกเป็น Top Pick ของกลุ่ม เหตุกำไรปี 64-65 จ่อโตแรงสุด
*** ปิดเช้าบวก 8.28% รับบาทอ่อน – ต้นทุนลด
ราคาหุ้น บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ช่วงเช้าวันนี้ (17 ก.ย.64) ดีดขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ราคา 85.50 บาท ก่อนปิดซื้อขายภาคเช้าด้วยราคา 85 บาท เพิ่มขึ้น 6.5 บาท หรือ 8.28% มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้น 332.24% จาก 5 วันทำการก่อนหน้า
โดย นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น KCE ปิดซื้อขายเช้านี้บวก 8.28% สวนทางดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ที่ปิดลบ10.55 จุด หรือ -0.65% เนื่องจากกำลังได้รับปัจจัยหนุน เงินบาทวันนี้ อ่อนค่าแตะ 33.50 บาท/ดอลลาร์ ประกอบกับ ต้นทุนวัตถุดิบ อย่าง ทองแดง ปรับตัวลดลงจากเงินดอลลาร์ฯแข็งค่าขึ้น ทำให้มีแรงเก็งกำไร จากที่ก่อนหน้านี้ราคาพักตัวค่อนข้างมาก
*** โค้งสามเข้าไฮซีซั่น กำไรพุ่งไม่หยุด
บล.โนมูระ พัฒนสิน ประเมินกำไรปกติไตรมาส 3/64 ของ KCE ไว้ที่ 690 ล้านบาท เติบโตขึ้น 176% จากปีก่อน และเติบโตขึ้น 12% จากไตรมาสก่อน โดยมีปัจจัยหนุนจากการเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ โดยลูกค้าในประเทศ และสหรัฐฯ-ยุโรป มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ประกอบกับ อุตสาหกรรมยานยนต์ มีการเติบโตทุกภูมิภาค
นอกจากนี้ ยังคาดว่า KCE จะมีการให้พนักงานเร่งทำงานล่วงเวลา เพื่อเพิ่มผลผลิตชดเชยผลกระทบโควิด-19 ที่มีต่อโรงงานใน จ.พระนครศรีอยุธยา ประกอบกับ เงินบาทที่อ่อนค่าถึง 33.40 บาท/ดอลลาร์ ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา จะช่วยทำให้อัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ของ KCE ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 30% (สูงสุดรอบ 4 ปี)
เช่นเดียวกับ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ที่มองว่ากำไรปกติไตรมาส 3/64 ของ KCE จะเติบโตขึ้นทั้งเทียบปีก่อน และไตรมาสก่อน โดยประเมินไว้ที่ 655 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุน จากการกลับมาเร่งกำลังผลิตในเดือน ก.ย.นี้ หลังโรงงานที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ต้องหยุดสายการผลิตชั่วคราวในช่วงเดือนปลาย มิ.ย. – ต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา จากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19
ขณะเดียวกัน KCE ยังได้รับปัจจัยหนุนจากเงินบาทอ่อนค่า ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้น มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 30% ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าไตรมาสก่อน และปีก่อน ที่อยู่ในระดับ 29% และ 19% ตามลำดับ
*** จุดพีคปีนี้ รออยู่ไตรมาสสุดท้าย
บล.ฟินันเซีย ไซรัส มองว่า กำไรสุทธิไตรมาส 4/64 ของ KCE จะเป็นจุดสูงสุดของปี 64 โดยมีปัจจัยหนุน จากคำสั่งซื้อ ณ ปัจจุบันที่มีความแข็งแกร่ง ประกอบกับ มีคำสั่งซื้อที่คงค้างมาจากครึ่งปีแรกด้วย ขณะที่ การแข่งขันกับผู้ประกอบการจีน มีความรุนแรงต่ำมาก เพราะ KCE ปรับขึ้นราคาสินค้าน้อยกว่าคู่แข่ง เพราะได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่า
นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง โดยคาดว่า สถานการณ์ช่วงไตรมาส 4/64 จะดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้ KCE สามารถเดินหน้าขยายแผนกำลังผลิตส่วนเพิ่มได้อีกราว 10-15% อีกด้วย
สอดคล้องกับ บล.บัวหลวง ที่มองว่า กำไรสุทธิปี 64 ของ KCE มีแนวโน้มเติบโตขึ้นในทุกไตรมาส โดยช่วงไตรมาส 4/64 คาดว่ายอดขายของ KCE จะเติบโตขึ้น 20% จากไตรมาสก่อน เนื่องจาก มีการขยายกำลังการผลิตช่วยหนุนให้ อัตรากำไรขั้นต้น มีโอกาสปรับตัวขึ้นเกิน 30% หลังใช้กำลังการผลิตได้เต็มที่มากขึ้น
*** ยอดใช้ชิ้นส่วนฯปีนี้โตเกินคาด ลากยาวถึงปี 65
บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า สถาบันวิจัย World Semiconductor Trade Statistic (WSTS) ปรับคาดการณ์การเติบโตของตลาด Semiconductor ปี 64 เป็น 25% จากปีก่อน (เดิม 19%) สู่ระดับ 5.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ และคาดว่า จะเติบโตต่อเนื่องในปี 65 อีก 10% สู่ระดับ 6 แสนดอลลาร์ฯ แม้จะมีการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นปัจจัยกดดันก็ตาม
ซึ่งสาเหตุของการเติบโตที่ดีกว่าคาด เป็นเพราะ ภาพรวมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิสก์ เติบโตขึ้นต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สะท้อนจากอุตสาหกรรมยานยนต์, โทรคมนาคมและ 5G ที่ปีนี้เติบโตขึ้นอย่างมาก และอุตสาหกรรม Data center ที่ยังทรงตัวสูงต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สถาบันวิจัยต่างๆ คาดยอดขายสินค้าในอุตสาหกรรม ที่ต้องใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเครื่องประกอบ ปี 64 – 65 ดังนี้
1.สถาบัน Canalys คาดยอดขาย Smart Phone ทั่วโลก ในปี 64-65 เติบโตขึ้น 12% และ 5% ตามลำดับ คิดเป็นจำนวนเครื่อง 1.4 พันล้านเครื่อง และ 1.5 พันล้านเครื่อง ตามลำดับ
2.สถาบัน Statista คาดการณ์ยอดขายรถยนต์ทั่วโลก ในปี 64-65 จะเติบโตขึ้น 9% และ 5% ตามลำดับ คิดเป็นจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น 70 ล้านค้น และ 73.5 ล้านคัน ตามลำดับ
*** กูรูชี้ Valuation น่าสนใจ เลือกเป็น Top Pick
บล..เคทีบีเอสที มองว่า มูลค่า (Valuation) ของ KCE ณ ปัจจุบัน ยังมีความน่าสนใจ แม้ราคาหุ้น 1 – 3 เดือน ที่ผ่านมา จะปรับตัวขึ้น Outperform ดัชนีหุ้นไทย ราว 9.5% และ 34% ตามลำดับ จากเงินบาทอ่อนค่า และได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 น้อยกว่าคู่แข่ง
แต่ ราคาหุ้น KCE ณ ปัจจุบัน ยังเทรด PER ปี 65 ที่ระดับ 27.8 เท่า เทียบกับการเติบโตของกำไรสุทธิปี 62-65 เฉลี่ยอยู่ที่ 80% คิดเป็น PEG เพียง 0.34 เท่า
ส่วน บล.เอเซีย พลัส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ยังคงเลือก KCE เป็น Top Pick ในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จากแนวโน้มการเติบโตของกำไรสุทธิปี 64-65 ที่โดดเด่นถึง 160% และ 33% ตามลำดับ ซึ่งการเติบโตของกำไรสุทธิระดับดังกล่าว ในช่วงปี 64-65 ถือเป็นการเติบโตที่สูงกว่าหุ้นในกลุ่มฯ อย่าง DELTA, HANA และ SVI ค่อนข้างมาก
*** ส่วนใหญ่แนะนำ"ซื้อ"
จากการสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงแนะนำ"ซื้อ" เนื่องจากมองว่า กำไรสุทธิของ KCE ช่วง 2 ไตรมาสที่เหลือของปีนี้ จะเติบโตขึ้นโดดเด่นทุกไตรมาส และยังคงลากยาวไปถึงช่วงปี 65 หลังมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าถึงช่วงไตรมาส 1/65 แล้ว
บล. |
คำแนะนำ |
ราคาเหมาะสม (บ.) |
ฟินันเซียฯ |
ซื้อ |
100.00 |
เอเชียเวลท์ |
ซื้อ |
95.00 |
เคทีบีฯ |
ซื้อ |
90.00 |
โนมูระฯ |
ซื้อเก็งกำไร |
87.70 |
หยวนต้า |
ซื้อเก็งกำไร |
87.00 |
ราคาเฉลี่ย |
91.94 |
แม้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ จะมองว่ากำไรสุทธิครึ่งปีหลัง และ ปี 65 ของ KCE จะเติบโตได้อย่างโดดเด่นต่อเนื่อง แต่ราคาหุ้นช่วงเช้าวันนี้ ที่ปรับตัวขึ้นแรงถึง 8.28% ส่งผลให้ราคาหุ้นที่ซื้อขาย ณ ปัจจุบัน เหลืออัพไซด์ราว 8.16% เมื่อเทียบกับราคาเหมาะสมเฉลี่ยของนักวิเคราะห์ ...