ช่วงเช้าวันนี้ ราคาหุ้น HANA ดีดทำนิวไฮในรอบ 3 เดือน และยังปรับตัวขึ้นแรงกว่าหุ้นในกลุ่มเดียวกัน โดยนักวิเคราะห์มองว่า HANA กำลังได้รับปัจจัยบวกระยะสั้น จากเงินดอลลาร์สหรัฐฯกลับมาแข็งค่า ซึ่งกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าระยะสั้น แต่ระยะยาว HANA ยังน่าสนใจหรือไม่? ต้องติดตาม!
*** ดีดนิวไฮรอบ 3 เดือน โบรกฯมองเป็นหุ้น Laggard
ราคาหุ้น บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ช่วงเช้าวันนี้ (11 ม.ค.64) ดีดขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ราคา 52.50 บาท ทำนิวไฮรอบ 3 เดือน ก่อนปิดซื้อขายช่วงเช้าด้วยราคา 51.50 บาท เพิ่มขึ้น 4.50 บาท หรือ 9.57% มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้น 117.66% จาก 5 วันทำการก่อนหน้า
บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ ระบุถึงสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น HANA ปรับตัวขึ้นแรงในช่วงเช้า เนื่องจากได้รับ Sentiment เชิงบวก จากการกลับมาแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้เงินบาทยังทรงตัวอยู่บริเวณ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในระยะสั้น โดยมี HANA เป็นหุ้นเก็งกำไรที่น่าสนใจสุดในกลุ่ม เนื่องจากราคายัง Laggard กว่ากลุ่ม
*** ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงกว่ากลุ่ม
ราคาหุ้น HANA หลังปิดซื้อขายช่วงเช้าปรับตัวขึ้นแรงกว่าหุ้นกลุ่มเดียวกัน อย่าง บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ปิดซื้อขายช่วงเช้าที่ราคา 778 บาท เพิ่มขึ้น 60 บาท หรือ 8.36% และ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ปิดซื้อขายช่วงเช้าที่ราคา 51.50 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท หรือ 3%
*** รายได้ปี 64 เติบโตในรอบ 3 ปี
ตั้งแต่ปี 61 – 63 รายได้ของ HANA ปรับตัวลงต่อเนื่องทุกปี แต่ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) มองว่าปี 64 จะเป็นปีที่รายได้ของ HANA กลับมาเติบโตครั้งแรกในรอบ 3 ปี จากความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับ Smartphone 5G ที่จะเติบโตในอีก 4 ปีข้างหน้า
โดย INTERNET DATA CENTER หรือ IDC ประเมินว่ายอดขาย Smartphone ทั่วโลกจะกลับมาเติบโตได้ประมาณ 3.4% ต่อปี ตั้งแต่ช่วงปี 64 - 67 (เทียบกับลดลง -3.3% ต่อปี ในช่วงปี 59- 63) และสัดส่วนผู้ใช้งานเครือข่าย 5G จะเพิ่มขึ้นเป็น 36% ในปี 64 และ 58% ในปี 67 จากที่ปี 63 มีสัดส่วนอยู่ที่ 19%
นอกจากนี้ ยังคาดว่า อุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำ (semiconductor)โลกปี 64 จะเติบโตอยู่ในกรอบ 7 - 9% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีน ส่งผลให้ความต้องการสินค้าของ HANA เติบโตไปในทิศทางเดียวกันกับอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน
*** โบรกฯมองรับอานิสงส์จากโควิดระบาดรอบสอง
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศที่เริ่มรุนแรงขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้หลายหน่วยงานเริ่มกลับมาใช้นโยบาย Work From Home ซึ่งคาดว่า HANA เป็นหุ้นอีก 1 บริษัท ที่จะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยดังกล่าวด้วยเช่นกัน
*** ธุรกิจพ้นจุดต่ำสุดแล้ว
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) คาดว่า กำไรสุทธิปี 63 ของ HANA จะอยู่ที่ 1,727 ล้านบาท ลดลง 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับกำไรสุทธิที่ต่ำสุดในรอบ 7 ปี จากการหยุดผลิต 2-3 เดือน และความต้องการ Smartphone ทั่วโลกหดตัวราว 10%
อย่างไรก็ตาม มองว่าธุรกิจของ HANA พ้นจุดต่ำสุดแล้ว และคาดกำไรสุทธิปี 64 ของ HANA จะอยู่ที่ 2,020 ล้านบาท เติบโตขึ้น 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรายได้ขยายตัว 15% ตามยอดจำหน่าย Smartphone ทั่วโลก และคำสั่งซื้อจากลูกค้ารายใหม่ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 1/64 เป็นต้นไป
เช่นเดียวกับ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ที่ประเมินว่า กำไรปกติปี 64 ของ HANA จะเติบโตขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะยอดขาย Smartphone ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงเป็น 5G
*** ระวังบาทแข็งฉุดการเติบโตของกำไร
บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า การแข็งค่าของเงินบาท อาจเป็นปัจจัยลบฉุดการทำกำไรปี 64 ของ HANA ลดลง เนื่องจาก HANA มีรายได้เป็นเงินดอลลาห์สหรัฐฯทั้งหมด แต่มีค่าใช้จ่ายประมาณ 40 -50% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นเงินบาท โดยปัจจุบันค่าเงินบาทคลื่อนไหวเฉลี่ยที่ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับปี 60 เงินบาทเคลื่อนไหวเฉลี่ยที่ 33.90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ
สอดคล้องกับ บล.เอเซีย พลัส ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การแข็งค่าของเงินบาท จะกดดัน Gross Margin ของ HANA ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตั้งแต่ไตรมาส 4/63 เป็นต้นไป และถ้าเงินบาทยังเคลื่อนไหวเฉลี่ยในกรอบ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อไป จะกดดันการทำกำไรปี 64 ของ HANA ลดลง
*** บางโบรกฯมอง Valuation ไม่น่าสนใจ
บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า ปัจจุบัน HANA เทรด Valuation ค่อนข้างสูงที่ 2021E PER ที่ 18 เท่า ขณะที่ระยะสั้นยังขาดปัจจัยบวก เนื่องจากคาดกำไรปกติไตรมาส 4/63 จำนวน 313 ล้านบาท ลดลง 31.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากค่าเงินบาทแข็งค่า
*** โบรกฯส่วนใหญ่แนะนำแค่”ถือ”
จากการสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่แนะนำเพียงแค่”ถือ”เท่านั้น แม้ว่านักวิเคราะห์จะมีความเห็นตรงกันว่ารายได้ปี 64 ของ HANA จะเติบโตอย่างโดดเด่น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความต้องการสินค้าไอที อย่าง Smartphone ที่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัจจัยลบ อย่างการแข็งค่าของเงินบาท ที่มีแนวโน้มฉุดการเติบโตกำไรสุทธิปี 64 ลดลงกว่าที่ควรจะเป็น
บล. |
คำแนะนำ |
ราคาเหมาะสม (บ.) |
เอเชีย พลัส |
ขาย |
38.50 |
เคทีบี |
ถือ |
40 |
ดีบีเอส วิคเคอร์ส |
ถือ |
42.25 |
เมย์แบงก์ กิมเอ็ง |
ซื้อ |
55 |
ราคาเฉลี่ย |
43.93 |
สำหรับ นักลงทุนที่เพิ่งเข้ามาสนใจหุ้น HANA ช่วงนี้อาจไม่ใช่จังหวะการเข้าลงทุนที่เหมาะสมนัก เนื่องจากราคาหุ้นที่ซื้อขายปัจจุบันเกินราคาเหมาะสมเฉลี่ยของนักวิเคราะห์ไปแล้วราว 16.32% ขณะที่ระยะยาว ยังมีแนวโน้มถูกการแข็งค่าของเงินบาท กดดันกำไรสุทธิปี 64 ให้เติบโตน้อยกว่าที่ควรจะเป็นอีกด้วย