เช้านี้ SCC ดีดทำนิวไฮรอบ 2 เดือน หลังกำไรปี 64 โต 38% ปันผลให้ยีลด์อีก 2.6% แถมจ่อดัน SCGC เข้าตลาดหุ้นปีนี้ แต่โบรกฯหั่นเป้ากำไรปี 65 หลังต้นทุนสูงขึ้นตามราคาถ่านหิน คาดกำไรปีนี้หดตัว 4 - 18% ชี้ต้องรอปี 66 ถึงเข้าสู่การเติบโตรอบใหม่ ตามการเก็บเกี่ยวรายได้เต็มที่ จากการลงทุน 5 ปีที่ผ่านมา กว่า 3 แสนลบ.
*** นิวไฮ 2 เดือน รับงบปี 64 โตแรง – ปันผลให้ยีลด์ 2.7%
ราคาหุ้น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC ช่วงเช้าวันนี้ (27 ม.ค.65) ดีดขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ราคา 393 บาท ทำนิวไฮรอบ 2 เดือน ก่อนปิดซื้อขายภาคเช้าด้วยราคา 385 บาท เพิ่มขึ้น 3 บาท หรือ 0.79% มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้น 434.19% จาก 5 วันทำการก่อนหน้า
สาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น SCC เช้านี้ ปรับตัวขึ้นทำนิวไฮรอบ 2 เดือน สวนทางดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ที่ปิดลบ 17.69 จุด หรือ -1.08% เนื่องจากกำลังได้รับปัจจัยหนุน จากการประกาศงบการเงินปี 64 ที่มีกำไรสุทธิ 4.7 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 38% จากปีก่อน พร้อมทั้ง ประกาศจ่ายเงินปันผลอีก 10 บาท/หุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทน (Dividend Yield) ระดับ2.6% โดยจะขึ้นเครื่องหมายไม่ได้รับเงินปันผล (XD) วันที่ 7 เม.ย.นี้
*** จ่อนำ SCGC เข้าตลาดหุ้น โบรกฯชี้หนุนราคาหุ้น SCC ทันที
ขณะเดียวกัน SCC ยังเตรียมนำบริษัทในเครือ อย่าง SCG Chemicals (SCGC) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายในปี 65 โดยกำหนดเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 25.2% ของทุนชำระแล้ว
โดย บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง มองว่า การนำ SCGC เข้าตลาดหุ้น จะเป็นการปลดล็อคมูลค่า ให้กับธุรกิจเคมิคอลส์ของ SCC นอกจากนั้น แผนการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ยังจะหนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวของบริษัท ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยหนุนราคาหุ้น SCC หากมีความชัดเจนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวมากขึ้น
*** แต่โบรกฯ หั่นเป้ากำไรปีนี้ หลังต้นทุนถ่านหินสูง
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า ได้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 65 ของ SCC ลงจากเดิม 14% เหลือ 3.8 หมื่นล้านบาท หดตัว 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลัก เป็นเพราะ ราคาถ่านหิน ที่เป็นต้นทุนผลิตของ SCC ปรับตัวขึ้นตั้งแต่ต้นปี
ขณะที่ บล.กรุงศรี ประเมินว่า ราคาถ่านหินจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 65 โดยมีปัจจัยหนุน จากอุปทานของประเทศอินโดนีเซีย ที่ถูกจำกัดตามสภาพอากาศ หลังมีฝนตกลงมาอย่างหนัก ประกอบกับ อุปทานในประเทศออสเตรเลีย ก็ถูกจำกัด จากปัญหาขาดแคลนแรงงาน และเครื่องจักร
สอดคล้องกับ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ที่ระบุว่า ได้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 65 ของ SCC ลง จากคาดการณ์ Spread ปิโตรเคมีปี 65 ที่มีแนวโน้มต่ำลง เมื่อเทียบกับปีก่อน
ส่วนนักวิเคราะห์อีก 2 ราย ประเมินกำไรสุทธิปี 65 ของ SCC ไว้ดังนี้
บล. |
กำไรสุทธิปี 65 (ลบ.) |
%chg YoY |
เอเชีย พลัส |
45,237 |
-4 |
ทรีนีตี้ |
43,763 |
-9 |
*** กำลังเร่งขึ้นราคาขาย ชดเชยต้นทุนผลิตสูงขึ้น
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุว่า SCC พยายามแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนถ่านหินสูงขึ้น ด้วยโปรแกรมบริหารจัดการเรื่องพลังงาน ซึ่ง SCC คาดว่าจะประหยัดต้นทุนพลังงานได้ 23% รวมทั้งปรับขึ้นราคาขายปูนซีเมนต์ ทำให้มาร์จิ้นจากการขายปูนซีเมนต์มีแนวโน้มดีขึ้น
เช่นเดียวกับ บล.ทรีนีตี้ ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า SCC กำลังเร่งปรับราคาขายปูนซีเมนต์ขึ้น เพื่อสะท้อนต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น และหันมาใช้เชื้อเพลิงอื่นแทนถ่านหินที่มีราคาขายสูงขึ้น เพื่อจะผลักดันให้ EBITDA ของธุรกิจ CBM กลับไปอยู่ในกรอบ 10 – 15% ให้ได้
*** กูรูชี้ต้องรอปี 66 ถึงเข้าสู่การเติบโตรอบใหม่
บล.เอเซีย พลัส มองว่า ผลการดำเนินงานของ SCC จะกลับเข้าสู่การเติบโตรอบใหม่ในปี 66 เพราะจะเป็นช่วงที่สามารถเก็บเกี่ยวรายได้อย่างเต็มที่ จากการลงทุนมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีจุดเปลี่ยนสำคัญ คือ โครงการ Long Son Petrochemical Complex ในประเทศเวียดนาม เปิดดำเนินการช่วงต้นปี 66
ซึ่งเป็นจังหวะที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว จากการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างมีนัยสำคัญพอดี โดยจะช่วยหนุนให้ SCC สามารถกลับมาสร้างจุดสูงสุดของ EBITDA ได้อีกครั้ง ทั้งนี้ ประเมินกำไรสุทธิปี 66 ของ SCC ไว้ที่ 5.07 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 13% จากปีก่อน
ขณะที่ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินกำไรสุทธิปี 66 ของ SCC ไว้ที่ 4.4 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 15% จากปีก่อน โดยมองว่า การเติบโตระยะยาวของ SCC ยังจะถูกขับเคลื่อน หลังนำ SCGC เข้าตลาดหุ้นภายในปีนี้ได้สำเร็จ สะท้อนจากการนำเงิน IPO ไปต่อยอดลงทุน ในประเทศเวียดนาม และ อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับสูง
ทั้งนี้ SCC ยังมีแผนขยายธุรกิจที่สำคัญ อาทิ โครงการ LSP2 และ CAP2 นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายธุรกิจ PVC สู่ผลิตภัณฑ์ชั้นต้น – ชั้นปลาย ประกอบกับ ยังต้องการเร่งการเติบโตใน Green Polymer โดยตั้งเป้ามีกำลังการผลิต 1 ล้านต้น/ปี ภายในปี 73 และ พยายามเพิ่มพอร์ตโฟลิโอของ HVA เพื่อรองรับอุตสาหกรรม Mega Trend อย่าง ยานยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่ และ เวช๓ณฑืเป็นต้น
*** แต่โบรกฯมอง Valuation ยังน่าสนใจเข้าลงทุน
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า แม้ระยะสั้น ผลการดำเนินงานของ SCC ยังคงถูกกดดันจากต้นทุนที่สูงขึ้น แต่เชิงมูลค่า (Valuation) ราคาหุ้น ณ ปัจจุบัน ถือว่า มีดาวน์ไซด์จำกัด ด้วย P/BV ที่ 1.2 เท่า ซึ่งมีส่วนลดจากค่าเฉลี่ย 10 ปี ประกอบกับ การเติบโตระยะยาวยังน่าสนใจ และยังเป็นบริษัทที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ โดยคาดปีนี้จ่ายปันผล 15.67 บาท/หุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทน (Dividend Yield) ระดับ 4.1%
ขณะที่ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า การเข้าลงทุน SCC ช่วงนี้ เหมาะสำหรับถือลงทุนระยะยาว เพื่อรับเงินปันผลระหว่างทาง ที่คาดมี Dividend Yield ระดับ 4 – 5% ต่อปี ประกอบกับ รอการกลับมาเติบโตโดดเด่นของกำไรสุทธิ ตั้งแต่ปี 66 เป็นต้นไป
*** ส่วนใหญ่ยังแนะนำ"ซื้อ"
จากการสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงแนะนำซื้อ แม้จะมองว่ากำไรสุทธิของ SCC ครึ่งแรกปีนี้ มีแนวโน้มชะลอตัว แต่สาเหตุหลักเป็นเพราะฐานกำไรสุทธิปีก่อนอยู่ในระดับสูง จากธุรกิจเคมิคอลล์ ที่เติบโตเกินคาด
โดยมองว่ากำไรปกติของ SCC ได้ผ่านจุดต่ำสุดในช่วงครึ่งหลังของปี 64 ไปแล้ว จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ลดความรุนแรงลง ประกอบกับ SCC ยังมีปัจจัยหนุนการเติบโตในระยะยาวรออยู่อีกมาก ประกอบกับ เป็นบริษัทที่จ่ายเงินปันผลให้ยีลด์ 4 – 5% ต่อปี สม่ำเสมอ
บล. |
คำแนะนำ |
ราคาเหมาะสม (บ.) |
บัวหลวง |
ซื้อ |
550.00 |
หยวนต้า |
ซื้อ |
510.00 |
เอเชีย พลัส |
ซื้อ |
500.00 |
ดีบีเอสฯ |
ซื้อ |
496.00 |
กรุงศรี |
ถือ |
420.00 |
ราคาเฉลี่ย |
495.20 |
หากอ้างอิงข้อมูลของโบรกเกอร์ ดูเหมือนว่าการเข้าลงทุนในหุ้น SCC ช่วงนี้ จะเหมาะสมกับการลงทุนแบบระยะยาวเสียมากกว่า สะท้อนจากราคาหุ้นปัจจุบัน ที่ยังไม่กลับสู่ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ยังมีการเติบโตในอนาคตที่น่าสนใจ ประกอบกับ เป็นหุ้นที่จ่ายเงินปันผลในอัตราสูงสม่ำเสมอ ...