CKP ปิดซื้อขายเช้านี้บวก 2.59% คาดรับปัจจัยหนุนเข้าสู่ฤดูฝน ดันกระแสน้ำผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ขณะที่โบรกฯ ประเมินกำไร Q2/64 จ่อเทิร์นอะราวด์ หลังปีนี้พ้นภัยแล้ง ส่วนจุดพีคสุดของปีคาดไว้ที่ Q3/64 กำไรพุ่งกระฉูด 900 – 1,200 ล้านบาท หนุนกำไรทั้งปี 64 โตแรง 358 - 497% ทุบสถิติสูงสุดตลอดกาล
*** ปิดเช้าบวก 2.59% หลังเข้าฤดูฝน ดันกระแสน้ำเพิ่มขึ้น
ราคาหุ้น บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ช่วงเช้าวันนี้ (22 ก.ค.64) ดีดขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ราคา 6.05 บาท ก่อนปิดซื้อขายภาคเช้าไปด้วยราคา 5.95 บาท เพิ่มขึ้น 0.15 บาท หรือ 2.59% มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้น 77.33% จาก 5 วันทำการก่อนหน้า
สาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น CKP ปิดซื้อขายเช้านี้ บวก 2.59% เนื่องจากกำลังได้รับ Sentiment เชิงบวก จากการเข้าสู่ฤดูฝน ส่งผลให้โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำของ CKP มีกระแสน้ำ สำหรับใช้ผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงเวลาอื่นของปี
*** งบ Q2/64 จ่อเทิร์นอะราวด์ รับกระแสน้ำเพิ่มขึ้น
บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบีเอสที ประเมินผลการดำเนินงานไตรมาส 2/64 ของ CKP มีแนวโน้มพลิกรายงานกำไรสุทธิ จำนวน 702 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่รายงานขาดทุนสุทธิ จำนวน 86 ล้านบาท เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งสถานการณ์น้ำในปีนี้ ดีขึ้นกว่าปี 63 อย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้โครงการหลักของ CKP อาทิ โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 143% จากปีก่อน และ เพิ่มขึ้น 24% จากไตรมาสก่อน, ขณะที่ โครงการโรงไฟฟ้าไซยะบุรี ผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 52% จากปีก่อน และ เพิ่มขึ้น 73% จากไตรมาสก่อน
สอดคล้องกับ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ที่มองว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/64 ของ CKP จะพลิกรายงานกำไรสุทธิจำนวน 700 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนจากการผลิตกระแสไฟฟ้าที่สูงขึ้น ของโรงไฟฟ้าหลักทั้ง 2 แห่ง โดยคาดว่าการผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงไตรมาส 2/64 ของโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 จะอยู่ที่ 1.5-1.55 แสน MWh/เดือน สูงขึ้นกว่าเท่าตัวจากปีก่อน หลังปริมาณน้ำที่กักเก็บในอ่างสูงขึ้น
เช่นเดียวกับ โรงไฟฟ้าไซยะบุรี ที่กำลังได้รับปัจจัยหนุนจากกระแสน้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ซึ่งคาดว่า ในไตรมาสนี้ โรงไฟฟ้าไซยะบุรี จะสามารถทำกำไรได้ราว 500 ล้านบาท ให้กับ CKP หลังกระแสน้ำเพิ่มขึ้น 71% จากปีก่อน และ การผลิตกระแสไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 54% จากปีก่อน
*** จับตาดู Q3/64 คือจุดพีคของปีนี้
บล.เคทีบีเอสที ประเมินว่า ผลการดำเนินงานของ CKP ในช่วงไตรมาส 3/64 จะเป็นจุดสูงสุดของปีนี้ โดยคาดว่าในช่วงดังกล่าว CKP จะมีกำไรสุทธิ จำนวน 900 – 1,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 8.3 - 20% จากปีก่อน โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญ คือ กระแสน้ำที่ใช้ผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/64
ด้าน บล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมินกำไรสุทธิไตรมาส 3/64 ของ CKP ไว้สูงสุดที่ 1,000 – 1,200 ล้านบาท เติบโตขึ้น 20 – 44.40% จากปีก่อน โดยสาเหตุหลัก เกิดจากระดับการผลิตไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้นของทั้ง 2 โครงการหลัก หลังเข้าสู่ฤดูฝน ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น
ส่วน บล.กรุงศรี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการเข้าสู่ฤดูฝน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเข้าสู่เขื่อนของ CKP สูงขึ้น ทำให้อัตราการผลิตไฟฟ้าของ CKP เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ที่บริษัทจำเป็นต้องสำรองน้ำ เพื่อผลิตไฟฟ้าในช่วงฤดูแล้ง โดยปริมาณน้ำที่โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเขื่อนน้ำงึม 2 ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นถึง 179% จากปีก่อน เป็น 849 ล้านลูกบาศก์เมตร (mcm.)
*** ครึ่งปีหลังลุ้นลงนามโครงการใหม่ ดันมูลค่าหุ้นเพิ่ม 1.7 บาท
บล.เคทีบีเอสที ระบุว่า แม้ปัจจุบัน ราคาหุ้น CKP เริ่มมีอัพไซด์จำกัด เมื่อเทียบกับราคาเป้าหมายของเราที่ 6.2 บาท/หุ้น แต่ยังแนะนำ"ซื้อ" เนื่องจากยังมีปัจจัยหนุนเพิ่มมูลค่าหุ้นอีกราว 1.7 บาท/หุ้น จากการเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำหลวงพระบาง ขนาดกำลังการผลิต 1,460MW (CKP ถือหุ้น 42%)
ขณะที่ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำหลวงพระบาง ขนาดกำลังการผลิต 1,410 MW คาดจะได้ข้อสรุปและเซ็นสัญญาได้ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมูลค่าโครงการประมาณ 1.35 แสนล้านบาท
ส่วน บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำหลวงพระบาง จะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตให้ CKP ตามสัดส่วนการถือหุ้น 42% ราว 613 MW จากกำลังการผลิตของ CKP ที่ปัจจุบัน อยู่ที่ 939 MW ซึ่งถือว่าเป็นส่วนเพิ่ม ที่มีนัยสำคัญ เนื่องจากโครงการดังกล่าว มีขนาดใหญ่กว่าโรงการโรงไฟฟ้าไซยะบุรี ที่มีกำลังผลิต 1,280 MW
ดังนั้น ส่วนแบ่งกำไรที่ CKP จะได้รับจากโครงการดังกล่าว จะอยู่ระหว่าง 1,200 - 1,500 ล้านบาท (ภายใต้สัดส่วนการถือหุ้น 42%) แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องใช้เวลาอีก 8-10 ปี กว่าที่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำหลวงพระบางจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ (COD)
*** กำไรปีนี้ทุบสถิติสูงสุด แถมยังมีอัพไซด์ 10-15%
บล.เคทีบีเอสที ระบุว่า ยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 64 ของ CKP ไว้ที่ 1,841ล้านบาท ทำสถิติกำไรสูงสุดตลอดกาล (All Time High) เติบโตขึ้น 358% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยประมาณการดังกล่าว ยังมีอัพไซด์ราว 10-15% หากสถานการณ์น้ำดีต่อเนื่องถึงช่วงไตรมาส 3/64 หนุนให้กำไรสุทธิช่วงดังกล่าว เป็นจุดสูงสุดของปีได้ตามการคาดการณ์ของเราจริง
ขณะที่ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ประเมินกำไรสุทธิปี 64 ของ CKP ไว้ที่ 2,160 ล้านบาท (All Time High) เติบโตขึ้น 449% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยหนุนจากผลการดำเนินงานไตรมาส 2-3/64 ที่จะโดดเด่นที่สุดของปี ตามกระแสน้ำที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน
ขณะที่ นักวิเคราะห์อีก 2 ราย ประเมินกำไรสุทธิปี 64 ของ CKP ไว้ที่
บล. |
กำไรสุทธิปี 64 (ลบ.) |
%chg YoY. |
กรุงศรี |
2,420 |
497 |
ฟินันเซียฯ |
2,267 |
460 |
*** โบรกฯส่วนใหญ่ แนะนำ"ซื้อ"
จากการสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังแนะนำ"ซื้อ" เนื่องจากมองว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 2-3/64 ของ CKP มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นสุดในปีนี้ หนุนกำไรทั้งปี 64 ทำลายสถิติสูงสุดตลอดกาลของบริษัทได้สำเร็จ ขณะที่ ครึ่งปีหลัง ยังมีการลงนามโครงการใหม่ อย่าง โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำหลวงพระบาง เป็นปัจจัยหนุนมูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้นอีกด้วย
บล. |
คำแนะนำ |
ราคาเหมาะสม |
ฟินันเซียฯ |
ซื้อ |
6.60 |
กรุงศรี |
ซื้อ |
6.50 |
เมย์แบงก์ฯ |
ซื้อ |
6.50 |
เคทีบีฯ |
ซื้อ |
6.20 |
ราคาเฉลี่ย |
6.45 |
แม้กำไรสุทธิ ไตรมาส 2-3/64 ของ CKP มีแนวโน้มเติบโตได้อย่างโดดเด่น แต่สิ่งที่นักลงทุนควรรู้ คือ ราคาหุ้นที่ซื้อขาย ณ ปัจจุบันของ CKP เหลืออัพไซด์เพียง 8.4% เท่านั้น เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยของนักวิเคราะห์ สะท้อนจากราคาหุ้น 2 เดือนล่าสุด ปรับตัวขึ้นราว 33.04% ซึ่งน่าจะเป็นการตอบรับปัจจัยบวกเรื่องผลประกอบการไตรมาส 2-3/64 ไปพอสมควรแล้ว…