เช้านี้ TU ดิ่งทำนิวโลว์รอบ 1 ปี รับหลายปัจจัยลบรุมเร้า ทั้งต้นทุนพุ่งไม่หยุด - ตลาดกังวล FED ขึ้นดอกเบี้ยแรงช่วงเดือน พ.ค.นี้ ฟากงบ Q1/65 คาดหดตัวทั้ง YoY – QoQ ลุ้นงบฟื้นครึ่งปีหลัง หากสงครามรัสเซีย – ยูเครนสงบ – ธุรกิจเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น
*** นิวโลว์รอบ 1 ปี หลายปัจจัยลบรุมเร้า
ราคาหุ้น บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือ TU ช่วงเช้าวันนี้ (7 เม.ย.65) ร่วงไปทำจุดต่ำสุดที่ราคา 17.30 บาท ทำราคาหุ้นต่ำสุด (นิวโลว์ )ในรอบ 1 ปี ก่อนปิดซื้อขายภาคเช้าด้วยราคา 17.50 บาท ลดลง 0.8 บาท หรือ -4.37% มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้น 159.87% จาก 5 วันทำการก่อนหน้า
สาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น TU เช้านี้ ทำนิวโลว์รอบ 1 ปี เนื่องจากได้รับ Sentiment เชิงลบ จากตลาดหุ้นไทย (SET) ที่ปรับตัวแรง จากความกังวลหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย รอบการประชุมเดือน พ.ค.ที่จะถึงนี้ สูงกว่าที่ตลาดระเมินไว้ที่ 0.5%
ขณะเดียวกัน TU ยังมีปัจจัยกดดันเฉพาะตัว อย่าง ราคาทูน่า (ต้นทุนหลัก) ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปี (มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้) แตะระดับ 1,900 เหรียญ/ตัน เพิ่มขึ้น 41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ต้นทุนการผลิตของ TU เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพิ่งประกาศลงโทษทางแพ่ง อดีตผู้บริหาร TU จำนวน 9 ราย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลภายใน (อินไซด์) เพื่อหาประโยชน์จากการซื้อ – ขายหุ้น TU ในช่วงเดือน ต.ค. – พ.ย.60 เป็นอีก 1 ปัจจัย กดดันหุ้นในช่วงนี้ด้วย
*** กูรูคาดงบโค้งแรกไม่สวย หลังต้นทุนพุ่งไม่หยุด
บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส ประเมินกำไรสุทธิไตรมาส 1/65 ของ TU ไว้ที่ 1.4 พันล้านบาท ลดลง 20% จากปีก่อน และ ลดลง 25% จากปีก่อน แม้ว่าปริมาณการขายในช่วงดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น ประกอบกับ ทยอยปรับราคาขายขึ้น สอดรับกับต้นทุนที่สูงขึ้น
แต่สิ่งที่ยังหักล้างผลบวกดังกล่าว คือ ค่าใช้ข่ายไตรมาส 1/65 ของ TU เพิ่มขึ้น 27% จากปีก่อน ซึ่งเป็นระดับที่มากกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ จึงค่าค่าใช้จ่ายในการขายของ TU จะทำระดับสูงสุดในรอบ 16 ไตรมาส ที่ 13.2% ซึ่งเป็นกรอบบนของเป้าบริษัท จากค่าขนส่งไปทวีปยุโรป และ สหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น 90% และ 220% จากปีก่อน ตามลำดับ
รวมทั้งค่าใช้จ่ายทางการตลาด ที่มีการออกสินค้าใหม่กลุ่ม Innovative Product มากขึ้น ขณะที่ คาดบริษัทร่วมยังมีส่วนแบ่งขาดทุน โดยเฉพาะ Red Lobster ที่ประเมินว่า ไตรมาส 1/65 จะมีผลขาดทุนสุทธิ ทั้งที่เป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ แต่ปีนี้ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธ์โอไมครอน
สอดคล้องกับ บล.เอเชีย เวลท์ ที่ประเมินกำไรสุทธิไตรมาส 1/65 ของ TU ไว้ที่ 1.6 พันล้านบาท ลดลง 7% จากปีก่อน และ ลดลง 13% จากไตรมาสก่อน มีปัจจัยกดดันจากค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้ง ต้นทุนวัตถุดิบ และ บรรจุภัณฑ์ที่ยังทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้คาดว่า อัตราค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อยอดขายอยู่ที่ 13.2% สูงขึ้นจากปีก่อน และ ไตรมาสก่อน ที่อยู่ในระดับ 11.7% และ 13.1% ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังคาดว่า TU จะรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจาก Red Lobster ราว 10 ล้านบาท เพราะผลการดำเนินงานของบริษัทร่วมอ่อนตัว จากการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19
*** ถ้าจะฟื้นต้องรอลุ้นยาว ช่วงครึ่งหลังปี 65
บล.ฟินันเซีย ไซรัส มองว่า หากผลการดำเนินงานปีนี้ของ TU จะฟื้นตัว คงต้องรอในช่วงไตรมาส 3/65 เป็นต้นไป เพราะเป็นช่วงที่ธุรกิจหลักของ TU เริ่มเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ประกอบกับ มีความเป็นไปได้ที่ต้นทุนหลัก จะปรับตัวลดลง หากการทำสงครามระหว่างรัสเซีย กับ ยูเครน จบลง
*** แต่โบรกฯ หั่นเป้ากำไรปี 65 รับต้นทุนสูงเกินคาด
บล.เคทีบีเอสที ระบุว่า ได้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 65 ของ TU ลงจากเดิมอีก 12% เหลือ 7.5 พันล้านบาท หดตัว 6% จากปีก่อน จากสมมติฐาน ปรับ SG&A/Sales เพิ่มขึ้นเป็น 12.5% (เดิม 12%) จากต้นทุนค่าแรง และค่าขนส่งสูงขึ้น ประกอบกับ ปรับประมาณการกำไรส่วนแบ่งจากบริษัทร่วมทั้งจาก Red Lobster และ RBF ลง จากผลการดำเนินงานที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง
เช่นเดียวกับ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ที่ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 65 ของ TU ลงจากเดิมอีก 18% เหลือ 6.2 พันล้านบาท หดตัว 22% จากปีก่อน มีเหตุผลหลัก จากการได้รับผลกระทบทางอ้อม ของการทำสงครามระหว่างรัสเซีย กับ ยูเครน ส่งผลให้ต้นทุนหลักปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่ การปรับขึ้นราคาทำได้ช้ากว่าต้นทุน ส่งผลให้ผลการดำเนินงานงวดครึ่งแรกของปี 65 มีแนวโน้มอ่อนตัว กว่าที่คาดไว้เดิมอย่างมีนัยสำคัญ
สรุป นักวิเคราะห์ 3 ราย ประเมินกำไรสุทธิปี 65 ของ TU ไว้ดังนี้
บล. |
กำไรสุทธิปี 65 (ลบ.) |
%chg YoY |
เคทีบีฯ |
7,508 |
-6 |
เอเชียเวลท์ |
7,282 |
-9 |
ฟินันเซียฯ |
6,241 |
-22 |
*** ส่วนใหญ่ยังแนะนำ"ซื้อ" แต่หั่นเป้าราคา
จาการสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงแนะนำซื้อ แต่ปรับราคาเหมาะสมของ TU ลงจากเดิมพอสมควร สะท้อนจากการปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 65 ลง จากค่าใช้จ่าย และ ต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งจากค่าขนส่ง และ วัตถุดิบ
บล. |
คำแนะนำ |
ราคาเหมาะสมใหม่ (บ.) |
ราคาเหมาะสมเดิม (บ.) |
ฟินันเซียฯ |
ซื้อ |
25.00 |
30.00 |
เอเชียเวลท์ |
ซื้อ |
24.00 |
24.00 |
ฟิลลิป |
ทยอยซื้อ |
21.00 |
25.00 |
เคทีบีฯ |
ขาย |
18.00 |
27.00 |
ราคาเฉลี่ย |
|
22.00 |
26.50 |
เดิมทีนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า ปี 65 จะเป็นปีที่ TU สามารถทำกำไรสุทธิสูงสุดตลอดกาล (All Time High) ต่อเนื่องได้อีกปี แต่ภายใต้แรงกดดันเรื่องต้นทุนที่สูงกว่าคาด ทำให้โบรกเกอร์ต้องเปลี่ยนมุมมองดังกล่าวเป็นฝั่งเชิงลบมากขึ้น ประกอบกับ ยังหั่นเป้าราคาหุ้น TU ลงจากเดิม ส่งผลให้อัพไซด์แคบลงอีกด้วย