"เอสซีจี แพคเกจจิ้ง" คาดปี 64 รายได้โตทะลุ 1 แสนล้านบาท รับสิ้นปีนี้ปิดดีลซื้อกิจการธุรกิจลูกฟูกรายใหญ่ในเวียดนาม และการขยายกำลังผลิต 4 โครงการทยอยแล้วเสร็จ แย้มอยู่ระหว่างเจรจาเทคโอเวอร์ธุรกิจกระดาษ-โพลิเมอร์ อีก 2-3 ราย
*** ปี 64 รายได้ทะลุ 1 แสนลบ.
นายกุลเชฏฐ์ ธาราจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า ในปี 64 คาดมีรายได้ทะลุ 100,000ล้านบาท เนื่องจากจะทยอยรับรู้รายได้จากโครงการขยายกำลังการผลิตที่จะทยอยเสร็จในปี 64 และการเข้าซื้อกิจการที่จะแล้วในสิ้นปี 63
บริษัทได้ออกแบบและดำเนินงานตามโมเดลธุรกิจ (Business Model) ที่แข็งแกร่ง โดยมีสินค้าและบริการที่หลากหลาย และมีความสามารถด้านการผลิตที่ครอบคลุมทั้งบรรจุภัณฑ์ขั้นต้น (Upstream) และบรรจุภัณฑ์ขั้นปลาย (Downstream) อีกทั้ง SCGP ยังมุ่งเน้นการขยายตลาดบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและมีความต้องการใช้อย่างสม่ำเสมอในทุกสภาวะเศรษฐกิจ พร้อมกับการเดินหน้าขยายธุรกิจด้วยการควบรวมกิจการหรือ Merger and Partnership (M&P) เพื่อขยายการเติบโต รองรับการบริโภคและเมกะเทรนด์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน
ตลอดจนการบริหารจัดการธุรกิจภายใต้แผน Business Continuity Plan และบริหารกระแสเงินสดอย่างระมัดระวัง จึงทำให้ SCGP ยังคงเติบโตและสามารถรับมือกับผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโรค COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมาได้
*** ขยายกำลังผลิต 4 โครงการ
บริษัทมีโครงการขยายกำลังผลิตที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างทั้งหมด 4 โครงการ ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 8,266 ล้านบาท ได้แก่ โครงการขยายการผลิตบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์แบบอ่อนตัว กำลังผลิตส่วนเพิ่ม 84 ล้านตารางเมตรต่อปี คิดเป็น 20% ของกำลังผลิตปัจจุบัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 543 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในไตรมาส 4/63
ส่วนโครงการขยายการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ (containerboard) และกระดาษกล่องเคลือบขาว (duplex paper) ที่ประเทศอินโดนีเซีย มีกำลังการผลิตส่วนเพิ่ม 400,000 ตันต่อปี คิดเป็น 29% ของกำลังผลิตปัจจุบัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,735 ล้านบาท และคาดดำเนินการได้ในไตรมาสที่ 1/64
โครงการขยายการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ ที่ฟิลิปปินส์ มีกำลังการผลิตส่วนเพิ่ม 220,000 ตันต่อปี คิดเป็น 88% ของกำลังผลิตปัจจุบัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 5,388 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในไตรมาสที่ 3/64
ขณะที่ โครงการขยายการผลิตบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์แบบอ่อนตัวโดยมี ในประเทศไทย มีกำลังการผลิตส่วนเพิ่ม 53 ล้านตารางเมตรต่อปี คิดเป็น 14% ของกำลังผลิตปัจจุบัน โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 600 ล้านบาท คาดดำเนินการได้ในไตรมาส 3/64
ทั้งนี้บริษัทประเมินว่าหากโครงการดังกล่าวทั้ง 4 แห่งสามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลังผลิต และบริษัทรับรู้ผลประกอบการแบบเต็มปี จะทำให้บริษัทมียอดรายได้จาก 4 โครงการนี้ประมาณ 9,000 ล้านบาทต่อปี
*** สิ้นปีนี้ปิดดีลซื้อกิจการในเวียดนาม
การซื้อกิจการและการควบรวมกิจการ (M&P) กับ Bien Hoa Packaging Joint Stock Company หรือ (SOVI) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูก (Corrugated Containers) รายใหญ่ในประเทศเวียดนามที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ กำลังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบสินค้าคงคลังรอบสุดท้าย คาดว่าการทำธุรกรรมจะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีฐานรายได้ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 2,000ล้านบาท
การเข้าลงทุนนี้จะส่งผลให้ SCGP มีกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์ปลายน้ำจากเยื่อและกระดาษในเวียดนามเพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นการเพิ่มศักยภาพขยายตลาดบรรจุภัณฑ์ เนื่องจาก SOVI มีฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่และบริษัทชั้นนำในประเทศ
“การควบรวมกิจการเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทฯ ที่ต้องการขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน พร้อมทั้งขยายฐานลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและเพิ่มขีดความสามารถการผลิตบรรจุภัณฑ์ขั้นปลาย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในฐานะผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรทั้งในอาเซียน” นายวิชาญ กล่าว
ขณะเดียวกันบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อเข้าซื้อกิจการในกลุ่มธุรกิจกระดาษและโพลิเมอร์ จำนวน 2-3 แห่ง
*** ลุ้นเข้าดัชนี MSCI Index
บริษัทประเมินว่า หากได้รับการเข้าคำนวณในดัชนี MSCI Index และการได้รับการเข้าคำนวณใน SET 50 ก็มีโอกาสที่จะทำให้บริษัทได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันต่างชาติเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นจากนักลงทุนสถาบันต่างชาติอยู่ที่ 3%
*** Q3/63 กำไรวูบ 9%
SCGP รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 3/63 มีกำไรสุทธิที่ 1,335 ล้านบาท ลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 30% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สาเหตุหลักมาจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในสกุลรูเปียห์ อินโดนีเซีย ส่งผลให้เกิดการขาดทุนทางบัญชีหลังหักภาษีและส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุม 111 ล้านบาท (ไตรมาสที่ 2/63 กำไรทางบัญชีจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนข้างต้นเท่ากับ 482 ล้านบาท)
ส่วนรายได้จากการขายอยู่ที่ 23,287 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาสก่อน จากการเริ่มฟื้นตัวของสินค้าคงทนในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ ปริมาณความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังเติบโต และปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขี้น ?ในขณะที่รายได้จากการขายลดลง 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
สำหรับ EBITDA อยู่ที่ 4,121 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลง 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมี EBITDA margin ที่ 18% ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 3/62
ส่วน?ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนของปี 63 กำไรสุทธิอยู่ที่ 4,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีอัตรากำไรสุทธิที่ 7%
โดยมีรายได้จากการขาย อยู่ที่ 69,190 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนมาจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของความต้องการใช้สินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน และการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากการควบรวมกิจการกระดาษบรรจุภัณฑ์ในประเทศอินโดนีเซียและบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์ในประเทศไทย
สำหรับ EBITDA ช่วง 9 เดือน อยู่ที่ 13,110 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการมุ่งเน้นนาเสนอสินค้าบริการรวมทั้งโซลูชันที่หลากหลายและการบริหาร ต้นทุนอย่างต่อเนื่อง โดยมี EBITDA margin ที่ 19% ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 4,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตรากำไรสุทธิที่ 7%