ข่าวนี้ที่ 1

ADVANC เล็งตั้งกองทุน IFF - ลุ้นลูกค้า 5G ทะลัก 2 ล้านราย

ADVANC เล็งตั้งกองทุน IFF - ลุ้นลูกค้า 5G ทะลัก 2 ล้านราย

 

       "แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC)" แย้มอยู่ระหว่างศึกษานำสินทรัพย์จากธุรกิจโทรคมนาคมขายเข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐาน(IFF) หลังมีสินทรัพย์หลากหลาย ทั้งสายไฟเบอร์ และ เสาโทรคมนาคม มากกว่า 2.2 หมื่นเสา ลุยประเมินความคุ้มค่าในระยะยาว พร้อมปรับเป้ารายได้ปีนี้เหลือทรงตัว-ลดลงเล็กน้อย เหตุโควิดลากยาว กระทบกำลังซื้อ เดินหน้าลงทุน 5G หวังดันลูกค้าปีนี้แตะ 2 ล้านราย

*** ADVANC เผยอยู่ระหว่างศึกษาตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

       นางสาวนัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าฝ่ายงานนักลงทุนสัมพันธ์และกำกับดูแลการปฏิบัติงาน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการนำสินทรัพย์จากธุรกิจโทรคมนาคมขายเข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund: IFF ) โดยปัจจุบันบริษัทมีสินทรัพย์ที่หลากหลาย ได้แก่ สายไฟเบอร์ , เสาโทรคมนาคม โดยบริษัทเป็นเจ้าของมากกว่า 2.2 หมื่นเสา ซึ่งบริษัทจะพิจารณาถึงการทำธุรกิจในระยะยาว และ ผลในเชิงการเงินว่า จะสามารถสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้อย่างไร

      “เราอยู่ระหว่างการศึกษาข้อดี ข้อเสียอยู่ ที่สำคัญต้องมองรีเทิรน์ในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะสรุปหรือทำเมื่อไหร่ ทั้งนี้  AIS มีสินทรัพย์ที่หลากหลายมีโอกาสที่จะใช้สินทรัพย์ร่วมกันกับกลุ่ม Operater ในอนาคต”นางสาวนัฐิยา กล่าว

*** ปรับเป้ารายได้ปีนี้ลง เหตุโควิดกระทบกำลังซื้อ

      นางสาวนัฐิยา กล่าวว่า บริษัทได้ปรับเป้ารายได้ปีนี้ลงเป็นทรงตัวจากปีก่อน หรือ ลดลงเล็กน้อย (Flat to slightly decline) จากปีก่อน จากเดิมที่คาดว่า จะเติบโตได้ในระดับตัวเลขหลักเดียวในระดับต่ำ(Low single digit growth) จากปีก่อน เนื่องจากรายได้มือถือยังอ่อนแอจากผลกระทบโควิด-19 ส่งผลให้การใช้จ่ายผู้บริโภคลดลง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวมีโอกาสลากยาวกว่าจากเดิมที่คาดว่าครึ่งปีหลังจะฟื้นตัว

      ดังนั้นภาพรวมรายได้รวม และ กำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และ ค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) คาดว่า จะอยู่ในระดับทรงตัวจากปีก่อน จากเดิมที่คาดว่าเติบโตในหลักเดียวระดับต่ำ โดยบริษัทจะเร่งควบคุมต้นทุน และพิจารณาลำดับความสำคัญด้านการใช้จ่ายมากขึ้น เพื่อรักษาระดับให้ EBITDA ออกมาทรงตัว

*** เร่งลงทุน 5G หวังลูกค้าเพิ่มขึ้นแตะ 2 ล้านราย

      นางสาวนัฐิยา กล่าวว่า สำหรับงบการลงทุนบริษัทยังคงเป้าหมายการใช้ปีนี้ที่ 25,000-30,000 ล้านบาท ซึ่งยังคงเน้นการลงทุนในกลุ่ม 5G เป็นหลัก และ เน้นการลงทุนในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้งาน 5G/4G สูง นอกจากนี้ในช่วงปลายปีนี้บริษัทตั้งเป้าประชากรใช้บริการ 5G ให้ครอบคลุม 70% ของจำนวนประชากร จากปัจจุบันที่ 25% ของจำนวนประชากร

      สำหรับแผนงานการเติบโตของกลุ่มธุรกิจมือถือจะมี 5G ที่เป็น S-curve ตัวใหม่ช่วยหนุน ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้า 5G แตะระดับ 1 ล้านรายตามเป้าหมายปีนี้แล้ว ดังนั้นจึงปรับเป้าหมายการเติบโตใหม่ปีนี้เป็นแตะระดับ 2 ล้านราย ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้า 5G ใน 1 ล้านรายแรกให้ความสนใจกับแพ็กเก็จ 5G ที่ให้ปริมาณดาต้าสูงค่อนข้างมาก แม้ว่ากลุ่มลูกค้าจะจ่ายเงินเพิ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าระดับไฮเอนด์ ช่วยหนุนให้รายได้เฉลี่ยของผู้ให้บริการต่อลูกค้าหนึ่งคน(ARPU) รายเดือนเพิ่มขึ้น 10-15% โดยบริษัทจะเริ่มรุกกลุ่มลูกค้าฐานรองลงมา หรือ กลุ่มลูกค้ามือถือรุ่นราคาต่ำกว่า 1 หมื่นบาท

*** ตั้งเป้าปี 65 มีส่วนแบ่งการตลาดอินเตอร์เน็ตบ้าน อันดับ 3

       นางสาวนัฐิยา กล่าวด้วยว่า สำหรับแผนงานธุรกิจอินเตอร์เน็ตบ้าน หรือ AIS Fiber ปัจจุบันมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่อันดับ 4 หรือ 12% อย่างไรก็ตาม แต่ละไตรมาสอัตราการเพิ่มขึ้นของลูกค้ากลุ่มนี้ของบริษัท มีส่วนแบ่งการตลาด 1 ใน 3 ซึ่งคาดหวังว่าปี 65 จะมีส่วนแบ่งการตลาดอินเตอร์เน็ตบ้านอันดับ 3 ได้ ซึ่งบริษัทจะใช้จุดเด่นด้านบริการสร้างความแตกต่างจากอุตสาหกรรมได้ นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งเน้นลงทุนในธุรกิจใหม่อื่น ๆ ที่เกี่ยวกับดิจิทัลเพิ่ม เช่น AIS Play , เกมส์ และ Disney Hotstar เป็นต้น รวมถึงงานบริการลูกค้าองค์กรต่าง ๆ
    
       ส่วนกรณีที่บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH จะมีผลต่อ ADVANC อย่างไร ในปัจจุบันยังไม่สามารถตอบได้ เนื่องจาก ADVANC ยังไม่ปิดการทำเทนเดอร์ และ หลังจากนั้นต้องรอดูให้ทีมผู้ถือหุ้นพูดคุยถึงทิศทางการดำเนินงานในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะมีโอกาสต่อยอดธุรกิจ ADVANC ได้ในอนาคต

*** INTUCH รับงบครึ่งปีหลังแผ่ว เหตุ ADVANC หั่นรายได้

       นางทมยันตี คงพูลศิล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานบริหารการลงทุนและการลงทุนสัมพันธ์ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH เปิดเผยว่า สำหรับแนวโน้มผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าอาจปรับตัวลดลงตามส่วนแบ่งผลกำไรจากบริษัทลูก

      โดยล่าสุด ADVANC ได้ปรับลดเป้าหมายรายได้ปีนี้ลงบ้างเล็กน้อย เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 แต่กำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษี ค่าเสื่อมราคา และ ค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) คาดว่า จะรักษาระดับเดิมได้ เพราะจะมีการเน้นด้านประสิทธิภาพ และ ลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ลง ซึ่งต้องรอติดตามดูว่าผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร
    
      ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้ของบริษัทนั้น ในงบรวมจะมีการบันทึกรายได้ส่วนใหญ่มาจากบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM แต่ในส่วนของ ADVANC จะรับรู้เป็นส่วนแบ่งผลกำไรเข้ามา แต่ในด้านงบเดี่ยวจะมีการบันทึกส่วนแบ่งผลกำไรจากบริษัทลูกต่าง ๆ เข้ามาทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นส่วนแบ่งผลกำไรจาก ADVANC เป็นหลัก

*** มองหาโอกาสขยายการลงทุน หลังตุนเงินสดในมือ 2 พันลบ.

       นางทมยันตี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดในมืออยู่กว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งยังคงมองหาโอกาสในการขยายการลงทุนใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจด้านกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม,สื่อ,เทคโนโลยีและดิจิทัลที่จะเข้ามาช่วยเสริมให้กับบริษัทลูกอย่าง ADVANC และ THCOM เติบโตได้เพิ่มมากขึ้น

       โดยโครงการอินเว้นท์ (InVent) นั้น ปัจจุบันมีการอนุมัติการเข้าลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพด้านสุขภาพและเทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech) ราว 2-3 ราย โดยอยู่ระหว่างกระบวนการใส่เงินลงทุน ซึ่งรอประกาศว่าแต่ละบริษัทจะใช้เงินทุนจำนวนท่าไหร่

*** ศาลคุ้มครอง THCOM มีสิทธิ์ใช้งานดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ต่อ

      นายสลิล จารุจินดา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกํากับดูแล บริษัท ไทยคม จํากัด (มหาชน) หรือ THCOM เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค.64 ศาลปกครองกลางไต่สวนคำร้อง กรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติอนุญาตให้บริษัทฯ ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม จำนวน 10 ข่ายงานดาวเทียม ซึ่งรวมถึงวงโคจรที่ดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 ได้จนถึงวันที่ 10 ก.ย.64 (วันสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน)นั้น
    
      ล่าสุดศาลได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับของมติของ กสทช.  โดยให้ บริษัทฯ มีสิทธิในการใช้วงโคจรและข่ายงานดาวเทียมที่เกี่ยวข้องต่อไป จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ดังนั้น บริษัทฯ จึงยังคงมีสิทธิใช้วงโคจรดาวเทียมและให้บริการดาวเทียมไทยคม 7 และ ไทยคม 8 และ ข่ายงานดาวเทียมที่เกี่ยวข้องได้ตามปกติต่อไป จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

      ด้านนายปฐมภพ สุวรรณศิริ รักษาการรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการค้า THCOM เปิดเผยว่า บริษัท ยืนยันว่าจะเข้าร่วมประมูลใช้วงจรดาวเทียม ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเปิดทั้งหมด 4 แพ็กเกจ แต่ทั้งนี้ ยังไม่สามารถเปิดในเผยในรายละเอียดได้ว่าจะเข้าร่วมประมูล Slot ไหนบ้าง โดยคาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายใน 28 ส.ค. นี้

      ส่วนกรณีที่สัมปทานบนไทยคม 4 กับ 6 ที่จะหมดสัมปทานในวันที่ 10 ก.ย. นี้นั้น ขณะนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินดังกล่าว รวมถึงการที่จะเข้าไปซื้อ Bandwidth ต่อจาก NT เพื่อให้สามารถบริการให้ลูกค้าต่อได้ โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวภายในไตรมาส 3/64 นี้







ข่าวหุ้นอื่นๆที่น่าสนใจ

RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh


LATEST NEWS

ข่าวหุ้นล่าสุด

Refresh

ดูข่าวทั้งหมด