ข่าวนี้ที่ 1

กลุ่ม PTT ซื้อกิจการ 2.81 แสนลบ.-กูรูมองฐานะปึ้ก M&A ได้อีก

กลุ่ม PTT ซื้อกิจการ 2.81 แสนลบ.-กูรูมองฐานะปึ้ก M&A ได้อีก

    เปิดดีลซื้อกิจการของกลุ่มปตท.ช่วงครึ่งแรกปี 64 พบมีมูลค่ารวมกันกว่า 2.81 แสนลบ. ปูพรมซื้อทั้งธุรกิจปิโตรเคมี-โรงไฟฟ้า-แหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ รวมถึงธุรกิจค้าปลีกและโลจิสติกส์ พบ PTTGC ใช้เงินลงทุนมากสุด 1.48 แสนลบ. รองลงมาคือ PTTEP 7.35 หมื่นลบ. ด้านโบรกฯมองช่วยต่อยอดการเติบโตของกลุ่ม ขณะที่ฐานะการเงินยังแข็งแกร่ง เดินหน้าลงทุนได้ต่อเนื่อง

 

*** ปีนี้กลุ่ม ปตท.ซื้อกิจการแล้ว 2.81 แสนลบ.

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงครึ่งแรกปี 64 กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)หรือ PTT ได้เข้าซื้อกิจการ(M&A)ต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.81 แสนล้านบาท อาทิเช่น บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล(PTTGC) ใช้งบลงทุนสูงสุดกว่า 1.48 แสนล้านบาท  ถัดมาคือ บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) ใช้เม็ดเงินลงทุน 7.35 หมื่นล้านบาท
    ขณะที่ล่าสุด บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่(GPSC) ได้ประกาศเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าต่างประเทศ 2 ดีลใหญ่ มูลค่ารวมกันกว่า 3.1 หมื่นล้านบาท  เป็นต้น
    "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" ได้สำรวจการเข้าลงทุนของบริษัทในกลุ่มปตท. ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯจำนวน 7 บริษัท ตั้งแต่ต้นปี 64 (YTD) พบว่าบริษัทในกลุ่มปตท. ได้เข้าซื้อกิจการจำนวนมากดังนี้

    

5 บริษัท กลุ่มปตท. ใช้เม็ดเงินลงทุนรวมกันกว่า 2.81 แสนล้านบาท

ชื่อย่อหุ้น

ประเภทการลงทุน

มูลค่า (ลบ.)

PTTGC

ซื้อกิจการ Allnex Holding GmbH (Allnex)

148,417

PTTEP

ซื้อหุ้นโครงการ "Oman Block 61" สัดส่วน 20%

73,500

GPSC

**ซื้อหุ้น CI Changfang และ CI Xidao สัดส่วน 25%

16,000

ซื้อหุ้น "Avaada" สัดส่วน 41.6%

14,825

PTT

ซื้อหุ้น GPSC จาก PTTGC สัดส่วน 12.73%

25,126

ซื้อที่ดินจาก THAI

1,810

เข้าลงทุนใน Lotus Pharmaceutical Company Limited

1,550

OR

ซื้อหุ้น "โอ้กะจู๋" สัดส่วน 20%

500

*ร่วมระดมทุนกับ Flash Group

N/A

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย รวบรวมข้อมูล ณ 14 ก.ค.64

*ระดมทุนผ่านพันธมิตรหลายรายมูลค่า 150 ล้านเหรียญ

** มูลค่าลงทุน 500 ล้านดอลลาร์ คำนวณ ณ ค่าเงินที่ 32 บาท : 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ

 

    PTTGC เป็นบริษัทในกลุ่มปตท. ที่มีมูลค่าการลงทุนตั้งแต่ต้นปีสูงสุด จำนวน 1.48 แสนล้านบาท จากการเข้าซื้อกิจการ Allnex Holding GmbH (Allnex) ซึ่งเป็นผู้ผลิต Coating Resins-Crosslinkers จากประเทศเยอรมณี 

    รองลงมาคือ PTTEP ที่มีมูลค่าการลงทุน จำนวน 7.35 หมื่นล้านบาท จากการเข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 20% ในโครงการ "Oman Block 61" ซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ ในประเทศโอมาน 

    ขณะที่มีอีก 3 บริษัทในกลุ่ม ปตท. ที่มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งประกอบด้วย GPSC ที่มีมูลค่าการลงทุนจำนวน 3.1 หมื่นล้านบาท โดยนอกจากการเข้าลงทุนโครงการ  Avaada (โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม) ขนาด 3,744 เมกะวัตต์ (MW) ในประเทศอินเดีย มูลค่ารวม 1.48 หมื่นล้านบาท และล่าสุดยังมีโครงการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งในไต้หวัน ขนาด 595 MW มูลค่าประมาณ 1.57 หมื่นล้านบาท

    ต่อด้วย บมจ.ปตท. (PTT) ที่มีมูลค่าการลงทุนจำนวน 2.84 หมื่นล้านบาท โดยมี 3 ดีลที่มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 1 พันล้านบาท คือ การซื้อหุ้น GPSC สัดส่วน 12.73% จาก PTTGC มูลค่า 2.51 หมื่นล้านบาท, ซื้อที่ดินและอาคารสำนักงานจาก THAI มูลค่า 1.8 พันล้านบาท และเข้าลงทุนใน Lotus Pharmaceutical Company Limited จำนวน 1.55 พันล้านบาท

    ส่วนบมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) มีมูลค่าการซื้อกิจการตั้งแต่ต้นปี 64 ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท โดย OR ใช้เงินลงทุนจำนวน 500 ล้านบาท ซื้อหุ้น "โอ้กะจู๋" สัดส่วน 20% และมีการร่วมลงทุนกับ Flash Group และพันธมิตรอีกหลายบริษัท มูลค่ารวม 150 ล้านเหรียญฯ (ประมาณ 4.7 พันล้านบาท)  

 

***โบรกฯ คาดช่วยต่อยอดกลยุทธ์การโตของกลุ่ม
    
    นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการ นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “สำนักข่าวอีไฟแนนซ์”ว่า ประเมินว่าการเข้าซื้อกิจการของแต่ละบริษัทในกลุ่มปตท.นอกเหนือจากจะเป็นประโยชน์เชิงบวกต่อการเติบโตของบริษัทเหล่านั้นแล้ว ยังถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มเติมให้กับบริษัทแม่อย่าง PTT อีกทางหนึ่งด้วย 

    ขณะที่ภาระการกู้เงินจากบริษัทแม่เพื่อมาซื้อกิจการนั้น มองว่าส่วนใหญ่แต่ละบริษัทมีกระแสเงินสดในมือส่วนหนึ่งอยู่แล้ว จึงทำให้เพียงพอที่จะใช้ในการซื้อกิจการและไม่ได้เป็นภาระต่อ PTT มากนัก ขณะที่แต่ละธุรกิจในกลุ่มปตท.ก็อยู่ในกลุ่มธุรกิจต้นน้ำ เช่น ราคาน้ำมันและปิโตรเคมีก็อยู่ในช่วงของการฟื้นตัวเพิ่มขึ้นตามภาคการผลิตและเศรษฐกิจโลก ซึ่งไม่ได้แย่เหมือนกลุ่มที่อิงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จึงทำให้ฐานะการเงินไม่ได้ดูแย่และมีเงินทุนเพียงพอสำหรับรองรับการขยายกิจการในภาวะเช่นนี้

    อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ต้องติดตามดูคือระยะยาวดีลต่างๆที่เข้าไปลงทุนจะเป็นอย่างไร เพราะมองว่าโครงการบางส่วนที่ซื้อเข้ามาก็ไม่ได้ดีเสมอไปและบางส่วนราคาไม่ได้ถูก รวมถึงมองว่าปัจจุบัน PTT ก็ไม่ได้มีสัดส่วนการถือหุ้น PTTGC และ GPSC จำนวนมาก เพราะรายได้หลักๆมาจากปตท.สผ.มากกว่า จึงทำให้การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ของ PTTGC และ GPSC อาจไม่ได้ส่งผลต่ออัพไซด์บริษัทแม่อย่าง PTT มาก 

 

*** บล.หยวนต้า ยันฐานะการเงิน PTT แกร่ง ตุนเงินสดกว่า 4 แสนลบ.-ภาระหนี้ต่ำ

    นายปรินทร์ นิกรกิตติโกศล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ประเมินว่าฐานะการเงินของ PTT แม้ว่าบริษัทลูกจะมีการกู้เงินจากบริษัทแม่ เนื่องจากหากดูงบการเงินงวด ณ สิ้นไตรมาส 1/64 พบ PTT มีเงินสดในมือและเงินลงทุนระยะสั้นรวมกว่า 4 แสนล้านบาท และมีมีอัตราหนี้สินสุทธิต่อทุน (Net D/E) อยู่ที่ระดับเพียง 0.29 เท่า ซึ่งถือว่าน้อยมากจากนโยบายที่บริษัทต้องการให้ไม่เกิน 1 เท่า ทำให้ยังมีโอกาสกู้เงินได้อีกจำนวนมากและการกู้ยืมเงินของบริษัทลูกๆไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของแม่

    ขณะที่มองว่าดีลซื้อกิจการของ PTTGC และ GPSC จะยังไม่ส่งผลบวกต่อกำไรของ PTT อย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ จากที่คาดการณ์กำไรไว้ระดับ 92,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 63 ที่ทำได้ 38,000 ล้านบาท เนื่องจากบางโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้างและรับรู้เข้ามาไม่เต็มปี แต่คาดว่าปี65 จะเริ่มเห็นกำไรจากบริษัทลูกที่หนุนงบบริษัทแม่ชัดเจนมากขึ้น จากคาดการณ์กำไร PTT ปี 65 ที่ฝ่ายวิจัยให้ไว้ระดับ 1.01 แสนล้านบาท







ข่าวหุ้นอื่นๆที่น่าสนใจ

RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh


LATEST NEWS

ข่าวหุ้นล่าสุด

Refresh

ดูข่าวทั้งหมด