โบรกเกอร์ คาดหุ้นไทยเดือน ต.ค. แกว่งตัวในกรอบ 1,550-1,660 จุด แนะจับตา Bond Yield สหรัฐ เสี่ยงทำตลาดหุ้นโลก-ไทย ปรับฐาน แต่มองเป็นโอกาสสะสม ด้านกลยุทธ์ลงทุน เป็นจังหวะทยอยซื้อ เน้น Domestic Play - Re-Start Economy ขณะที่ 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.64) นักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิ 7.6 หมื่นลบ.
*** บล.ทิสโก้ ชี้หุ้นไทยเสี่ยงปรับฐาน แนะเป็นโอกาสซื้อ
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการ สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ ประเมินตลาดหุ้นไทยในเดือน ต.ค. ว่า จะมีแนวรับสำคัญที่ 1,590-1,600 จุด ส่วนแนวต้านที่ 1,640-1,660 จุด โดยหุ้นเด่นในเดือน ต.ค.นี้ จะเน้นหุ้นที่คาดงบจะออกมาดี และราคาพักฐานลงมาก่อนหน้านี้มีโอกาสฟื้นตัวขึ้น แนะนำ BBL-JWD-MTC-SFLEX-SMPC-SPALL-SPRC และ TWPC
อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 21-22 ก.ย. ที่ผ่านมา ส่งสัญญาณเข้มงวดทางการเงินเพิ่มขึ้น โดยเฟดอาจเริ่มต้นลดการซื้อสินทรัพย์ลง และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต (Dot Plot) ในเดือน ก.ย. บ่งชี้ว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 66 และอาจจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 67 โดยการแสดงท่าทีดังกล่าว ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นทะลุ 1.5% โดยประเด็นดังกล่าวทิสโก้ประเมินว่า Bond Yield ที่แตะระดับ 1.7-1.8% ขึ้นไป อาจกดดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงไทยเกิดการปรับฐาน จากระดับการประเมินมูลค่าหุ้นที่ตึงตัวมากขึ้น
ทั้งนี้ หากหุ้นไทยเกิดการปรับฐานขึ้น จากประเด็นดังกล่าว มองเป็นจังหวะทยอยเข้าซื้อ เนื่องจากมีมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียนในช่วง 6 เดือนข้างหน้า
*** คาด SET ต.ค. แกว่งในกรอบ 1,550-1,650 จุด
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยในเดือน ต.ค. จะแกว่งตัวในกรอบ 1,550-1,650 จุด โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการลงทุนในเดือนนี้ มองว่า จะอยู่ที่พัฒนาการของ Bond Yield ของสหรัฐ เนื่องจากขณะนี้นักลงทุนในตลาดยังไม่เชื่อการส่งสัญญาณแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต (Dot plots) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ออกมาก่อนหน้านี้มากนัก
ดังนั้นหากมีตัวเลขเศรษฐกิจใดก็ตามที่ทำให้ความเชื่อเหล่านี้เริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น จะทำให้ระดับ Fed Funds futures ในตลาดยกตัวสูงขึ้นได้ จนส่งผลให้ Bond yield และเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน กดดันตลาดหุ้นทั่วโลกผ่านมาตรวัด Earning yield gap ที่ลดลง
ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ต้องติดตามพัฒนาการเชิงบวกทางด้านวัคซีนและการคลาย Lockdown ในประเทศที่มากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคักมากขึ้นไม่มากก็น้อย ไม่นับรวม กับ Upside risk ที่อาจเกิดขึ้น หากภาครัฐมีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ในปีงบประมาณใหม่ หลังจากที่ได้มีการปรับเพิ่มระดับเพดานหนี้สาธารณะมาอยู่ที่ 70% ของจีดีพีไปก่อนหน้านี้ ซึ่งหากเกิดขึ้นได้จริง ประเมินว่าจะส่งผลบวกต่ออุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ
*** แนะนำลงทุน 15 หุ้น ใน 5 กลุ่ม
นายณัฐชาต กล่าวว่า ในเชิงกลยุทธ์แนะนำเพียงแค่การถือครองหุ้นในส่วนเดิมที่ได้เข้าสะสมก่อนหน้านี้ที่บริเวณดัชนี 1,600 จุด ส่วนการเพิ่มน้ำหนักใหม่ยังไม่แนะนำจนกว่าดัชนีจะลงมาใกล้เคียงกับระดับแนวรับ เดือนนี้ที่ 1,550 จุด และยังคงโฟกัสไปที่กลุ่มหุ้น Domestic play โดยเฉพาะ Domestic consumption ที่อิงไปกับการฟื้นตัวของภาคแรงงานและการบริโภคภายในประเทศ
สำหรับหุ้นที่แนะนำ มี 15 บริษัทดังนี้ 1.กลุ่มค้าปลีกที่ได้ประโยชน์จากรายได้และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สูงขึ้น ได้แก่ CPALL-COM7-MAKRO-HMPRO-GLOBAL-DOHOME 2.กลุ่มโรงไฟฟ้าที่ได้ประโยชน์จากอุปสงค์ต่อการใช้ไฟของภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมที่มากขึ้น ได้แก่ GULF-GPSC-BGRIM 3.หุ้นกลุ่มผู้ให้บริการสถานีปั๊มน้ำมันจากอุปสงค์การเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ OR และ PTG
4.กลุ่มธุรกิจ AMC ที่เรามองไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของ SCB แต่ราคากลับปรับตัวลงมาแรง ได้แก่ JMT-CHAYO 5.หุ้น 2 บริษัทที่อยู่ในธีม Index rebalancing ซึ่งจากการคำนวณของเราพบว่าหุ้นที่มีลุ้นถูกนำเข้าสู่ดัชนี MSCI Thailand Standard Index ในรอบถัดไปจะได้แก่ TTB ส่วนหุ้นที่มีลุ้นถูกนำเข้าสู่ดัชนี SET50 ในรอบถัดไปจะได้แก่ AWC
*** ASPS แนะสะสมหุ้นพื้นฐานดี มีโอกาสโตได้ในปี 65
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส ประเมินว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในเดือน ต.ค. 64 ปัจจัยกดดันตลาดหุ้นน่าจะเหลืออีกไม่มาก ถือเป็นโอกาสทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดี เพื่อคาดหวังการเติบโตที่แข็งแรงในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องในปี 65 โดยกลยุทธ์การลงทุน แนะนำสะสมหุ้นเตรียม เติบโตจาก 2 ธีมหลัก คือ Re-Start Economy และ Restructure SET50/100 เพื่อรองรับการเติบโตต่อเนื่องในปี 65
รวมถึงกระจายการลงทุนหลากหลาย Sector และเลือกมาเฉพาะหุ้นที่มีความโดดเด่นเป็นอันดับต้นๆ ของกลุ่ม อย่าง ADVANC-AEONTS-CPALL-CPN-KBANK และ TOP ส่วนหุ้น Overvalue ต้องซื้อขายหรือเก็งกำไรด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากปรับตัวขึ้นมาแรงในช่วงก่อนหน้า และฝ่ายวิจัยฯให้คำแนะนำ “Switch” เช่น ANAN-THCOM
สำหรับปัจจัยกดดันตลาดระยะสั้น ประกอบด้วย 1.ปัญหา Evergrande คาดกระทบในวงจำกัด และส่งผลต่อตลาดการเงินไทยน้อย 2.ความกังวลธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะส่งสัญญาณลดระดับมาตรการทางการเงินเชิงปริมาณ (QE) จะกลับมาสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนและตลาดหุ้นอยู่เป็นระยะ รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ เริ่มสวนทางกัน
3.สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากช่วงต้นเดือน ต.ค. 64 ไทยมีแนวโน้มเผชิญกับพายุอีก 2 ลูก คือ พายุ Lionrock และพายุ Kompasu ขณะที่น้ำท่วมใหญ่ในปี 54 เคยกดดันตลาดหุ้นไทยลดลง 24.5% และ 4.กำไรบริษัทจดทะเบียนในช่วงครึ่งปีหลัง มีโอกาสลดลงถึง 42% โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 3 ที่เผชิญกับโควิดระลอกที่ 3 แบบเต็มๆ อาจกดดันให้ตลาดหุ้นผันผวนในช่วงเข้าใกล้การประกาศงบ (ช่วงปลายต.ค.-ต้นพ.ย.64)
*** สำรวจ 9 เดือน พบนลท.ต่างชาติขายสุทธิ 76,705.33 ลบ.
ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย สำรวจการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.64) พบว่ากลุ่มนักลงทุนต่างชาติมีมูลค่าการซื้อสะสมอยู่ที่ 6,231,438.69 ล้านบาท และขายสะสมอยู่ที่ 6,308,144.03 ล้านบาท ซึ่งหากคิดมูลค่าสะสมสุทธิอยู่ที่ -76,705.33 ล้านบาท
สำหรับหุ้นที่ถูกนักลงทุนต่างชาติซื้อขายมากที่สุดผ่าน NVDR ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา พบว่าบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR มียอดซื้อสุทธิมากสุดมูลค่ารวม 7,523.14 ล้านบาท และบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH มียอดขายสุทธิมากสุดมูลค่ารวม 18,936.71 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดข้อมูลการซื้อขาย 10 อันดับแรกของ NVDR ดังนี้
10 อันดับหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติซื้อ-ขาย มากที่สุดในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.64)
อันดับ |
ซื้อสุทธิหุ้น |
มูลค่า (ลบ.) |
ราคาเฉลี่ย (บ./หุ้น) |
ขายสุทธิหุ้น |
มูลค่า (ลบ.) |
ราคาเฉลี่ย (บ./หุ้น) |
1 |
OR |
7,523.14 |
31.28 |
INTUCH |
18,936.71 |
62.36 |
2 |
SCGP |
6,094.87 |
53.42 |
SCB |
9,009.96 |
100.23 |
3 |
IVL |
5,900.79 |
42.49 |
CPALL |
5,977.06 |
54.58 |
4 |
PTTGC |
5,579.16 |
64.25 |
CPF |
4,913.28 |
25.87 |
5 |
PTTEP |
4,261.92 |
120.93 |
KBANK |
4,686.38 |
98.93 |
6 |
IRPC |
3,737.14 |
4.08 |
CPN |
4,069.58 |
51.71 |
7 |
TOP |
3,402.07 |
57.64 |
BEM |
3,248.48 |
8.19 |
8 |
BANPU |
3,389.78 |
12.28 |
BBL |
3,010.89 |
146.47 |
9 |
BCH |
2,831.97 |
21.60 |
HMPRO |
2,515.02 |
14.01 |
10 |
GULF |
2,747.28 |
40.00 |
TU |
2,470.99 |
19.64 |