ฟ้าผ่า "ปรีดี ดาวฉาย" ยื่นหนังสือลาออกจาก รมว.คลัง หลังดำรงตำแหน่งได้แค่ 21 วัน อ้างมีปัญหาสุขภาพ ด้านโบรกฯ มองกระทบหุ้นไทยชัดเจน หวั่นเก้าอี้ รมว.คลังว่าง เหตุหาผู้มีคุณสมบัติยาก ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางการเมือง-นโยบายเศรษฐกิจ พร้อมเตือนปัจจัยลบเดือนก.ย.จ่อเข้าอีกเพียบ กดหุ้นไทยลงในกรอบ 1,250 - 1,390 จุด
*** ราชกิจจาฯ ประกาศ `ปรีดี ดาวฉาย` ลาออกจากรมว.คลัง
ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง รัฐมนตรีลาออก ระบุว่า ด้วยนายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ขอลาออกจากตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย.63 ความเป็นรัฐมนตรีของนายปรีดี ดาวฉาย จึงสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย. 63 ตามความในมาตรา 170 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" ประกาศโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2563
โดยนายปรีดี เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 ส.ค.63 และเข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณเมื่อวันที่ 12 ส.ค.63
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ได้รายงานว่าสาเหตุการลาออกของนายปรีดี ให้เหตุผลเรื่องปัญหาสุขภาพ
***โบรกฯ หวั่นฉุดหุ้นไทย -เก้าอี้ว่าง "หาขุนคลัง" คนใหม่ยาก
นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ระบุว่า กระแสข่าวการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของนายปรีดี ดาวฉาย ส่งผลกระทบเชิงลบที่ชัดเจนต่อตลาดหุ้นไทย เนื่องจากเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ไม่นาน และหากจะหาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมาดำรงตำแหน่งแทนก็เป็นเรื่องยาก
ทำให้การดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลต้องหยุดชะงักก่อน แต่หากจะให้รัฐมนตรีช่วยฯ ปฏิบัติหน้าที่แทน ก็ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ โดยประเมินว่ายังไม่ถึงขั้นยุบสภา เนื่องจากยังมีปัญหาโควิด-19 ที่รัฐบาลยังต้องเร่งแก้ปัญหา
ด้าน นักวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป ระบุว่า นายปรีดี เพิ่งเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ถึง 1 เดือน ประเมินว่ายังไม่มีการหารือเรื่องนโยบายการคลังอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก ซึ่งสิ่งที่ต้องกังวลมากกว่าคือจะหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมาดำรงตำแหน่งได้หรือไม่
การลาออกของนายปรีดี ครั้งนี้ แสดงถึงความไม่มีเอกภาพของรัฐบาล ที่อาจไม่มีศักยภาพที่ดีในการแก้ปัญหาโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และทำให้ตลาดหุ้นตอบสนองในเชิงลบช่วงสั้น
ขณะที่ นักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า การยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของนายปรีดี มีเหตุผลจากอาการป่วย โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้น และจะกระทบมาตรการกระตุ้นการคลังในอนาคตด้วย นอกจากนี้ ยังกระทบกับค่าเงินบาท ซึ่งคาดว่าจะทำให้ค่าเงินบาทชะลอการแข็งค่า หรือ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงในช่วงสั้น
*** ด้าน SET เดือนก.ย. แกว่งตัวลงในกรอบ 1,250 - 1,390 จุด
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ทิศทางดัชนีตลาดหุ้นไทย(SET Index)เดือนก.ย. ดัชนีมีโอกาสปรับตัว Sideways(แกว่งตัว) ถึง Sideways down(แกว่งตัวลง) หลังนักวิเคราะห์ปรับลดประมาณการกำไรต่อหุ้น(EPS) ของตลาดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน
นอกจากนี้ยังขาดปัจจัยกระตุ้นใหม่ โดยประเมินกรอบดัชนีจะเคลื่อนไหวที่ 1,270 -1,340 จุด
ด้านบล.กสิกรไทย ประเมินกรอบดัชนีหุ้นไทยในเดือนก.ย. ไว้ที่ 1,280 - 1,370 จุด แกว่งตัวผันผวนจากหลายเหตุการณ์สำคัญ นำโดย 1.การประชุมเฟดในวันที่ 14 - 15 ก.ย.นี้ ถึงทิศทางดอกเบี้ยและการเข้าซื้อสินทรัพย์ 2.ประชุมสภาทั้งการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายปี 64 และการพิจารณาญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดทางตั้งส.ส.ร.ทั้ง 200 คน การชุมนุมนักศึกษาครั้งใหญ่ที่ธรรมศาสตร์
ซึ่งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติชะลอแรงซื้อในตลาดทุนเพื่อรอประเมินสถานการณ์ดังกล่าว แม้ในข่วงแรกของเดือนจะยังไม่มีปัจจัยกดดันการลงทุนก็ตาม แต่ด้วย PER ของตลาดหุ้นไทนที่ปัจจุบันซื้อขายที่ 18.8 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล พบว่าปัจจุบันความน่าสนใจในการลงทุนของ SET ลดลง
ขณะที่นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัดมองอยู่ที่ 1,310- 1,290 จุด และมีแนวรับถัดไปที่ 1,270-1,280 และ 1,250 จุดตามลำดับ ส่วนแนวต้านสำคัญของเดือนนี้อยู่ที่ 1,340 - 1,350 จุด และมีแนวต้านถัดไปที่ 1,380 - 1,390 จุด ตามลำดับ
*** ชุมนุมการเมือง อาจทำให้หุ้นไทยปรับลงอีก 3%
นายอภิชาติ เปิดเผยต่อไปว่า การชุมนุมทางการเมืองเดือน ก.ย. นี้ คาดว่าจะมีน้ำหนักต่อดัชนีหุ้นไทยมากขึ้น และจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะถ่วงตลาดหุ้นไทยให้มีแนวโน้มปรับขึ้นน้อยกว่าหุ้นโลก (Underperform) โดยจากการเก็บสถิติพบว่า ในช่วงที่มีม็อบ 3 ครั้งล่าสุด คือ ม็อบพันธมิตรฯ ม็อบนปช. และม็อบกปปส. ดัชนีหุ้นไทยมักจะปรับตัวลงเฉลี่ย ลบเกือบ 3% ซึ่งสวนทางกับตลาดหุ้นโลก ที่ในช่วงเวลาเดียวกันจะปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 2%
นอกจากนี้ ยังพบว่า ผลตอบแทนของหุ้นไทยจะผันแปรไปตามระยะเวลาที่มีม็อบ โดยยิ่งมีม็อบนาน ยิ่งกดดันตลาดมาก