KTB ยอมรับสินเชื่อปีนี้พลาดเป้าโตเพียง 1% จากเดิมที่คาดโต 4-6% หลัง 9 เดือน ติดลบ 1.6% หวังโค้งสุดท้ายความต้องการสินเชื่อฟื้นตัวมากขึ้น ช่วยหนุน ส่วนแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4/60 จะดีกว่าไตรมาส 3/60 ด้าน NPL ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าสิ้นปีคุมไม่ให้เกิน 4.8% จาก 9 เดือนแตะ 4.51% ขณะที่ Coverage ratio สิ้นปีนี้ไม่ให้ต่ำกว่า 110% ด้านโบรกฯ มองปีนี้ KTB ยังเหนื่อย เหตุถูกกดดันจากการต้องตั้งสำรองเพิ่ม ตาม NPL ที่เพิ่มขึ้น และเตรียมพร้อมรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ เล็งลดเป้ากำไรปี 60-61 ลงอีก
***ลุ้นสินเชื่อปีนี้โต 1% หลัง 9 เดือนติดลบ 1.6%
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB เปิดเผยกับ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" ยอมรับว่า สินเชื่อปี 60 มีโอกาสที่จะทำไม่ได้ตามเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ขยายตัวที่ 4-6% ทำให้ธนาคารคาดหวังแค่สินเชื่อปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 1% เท่านั้น จาก 9 เดือนที่ผ่านมาสินเชื่อของธนาคารหดตัว 1.6% โดยสินเชื่อภาครัฐยังขยายตัวได้ดีสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งทดแทนได้บางส่วนจากการชะลอตัวของสินเชื่อภาคเอกชน
ส่วนแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4/60 คาดว่าจะดีกว่าไตรมาส 3/60 แต่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป หลังความต้องการสินเชื่อจะค่อยๆฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งธนาคารยังคงนโยบายเน้นการเติบโตสินเชื่ออย่างยั่งยืน และ ยังคงปรับความสมดุลของพอร์ตสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง
"ในช่วง Short term นี้ อาจยังไม่ดีเท่าควร แต่อย่างไรก็ตาม เราเน้นมุ่งเน้นปรับพื้นฐาน หรือ fundamental เป็นหลักก่อน" นายผยง กล่าว
*** NPL ยังพุ่ง สิ้นปีคุมไม่เกิน 4.8%
นายผยง กล่าวว่า ช่วงที่เหลือของปีนี้ คาด หนี้ที่มิก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากสินเชื่อกลุ่มเอสเอ็มอีในบางอุตสาหกรรม จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.51% ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบลูกค้าที่ผิดนัดชำระก้อนใหญ่ โดย NPL ที่เกิดขึ้นใหม่มีการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง และสิ้นปีนี้จะควบคุมไม่ให้เกิน 4.8%
ส่วนอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) สิ้นปีนี้จะรักษาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่ต่ำกว่า 110% จากไตรมาส 3/60 อยู่ที่ 115.37% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/60 ที่ 112.50%
*** โบรกฯมองเป็นปีที่แย่ของ KTB
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์ หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" ว่า ฝ่ายวิจัยได้ปรับประมาณการกำไร KTB ปีนี้ลง 26% เหลือ 23,800 ล้านบาท จากเดิมคาดลดลง 15% ที่ 24,000 ล้านบาท แต่คาดว่าปี 61 กำไรจะกลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้งตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ การลงทุนของภาครัฐ
โดยปีนี้ถือว่าเป็นปีที่แย่ของ KTB เนื่องจากอยู่ในช่วงปรับตัว และ ปรับโครงสร้างเพื่อรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ ซึ่งหนี้ที่มิก่อให้เกิดรายได้(NPL) ยังคงเพิ่มขึ้น และ ถูกกดดันจากการตั้งสำรอง ส่วนสินเชื่อปีนี้คาดว่าจะยังติดลบ หลัง 9 เดือนสินเชื่อหดตัวไปแล้ว 1% จากเดิมคาดปีนี้ขยายตัว 4% โ แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามในไตรมาส 4/60 ว่าสินเชื่อจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นแค่ไหน และ จะเพียงพอที่จะขยายตัวเป็นบวกได้หรือไม่
"KTB ปีนี้ยังไม่ฟื้นตัว เพราะอยู่ในช่วงปรับตัว และ ปรับโครงสร้างเพื่อรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ แต่เชื่อว่าปีหน้าสินเชื่อจะกลับมาขยายตัว หลังติดลบมา 2 ปี ซึ่งถ้าปีหน้าติดลบอีกก็แย่ละ อย่างไรก็ตาม เราก็ได้ปรับคำแนะนำเป็น "ขาย" จากเดิมแนะนำ "ถือ" และ ได้ปรับราคาลงเหลือ 16.30 บาท/หุ้น จากเดิม 18 บาท/หุ้น "นายธนเดช กล่าว
*** ปัญหาลูกหนี้รายใหญ่ ต้องใช้เวลาแก้ไข
บล.ทรีนีตี้ คาดไตรมาส 4/60 อาจเห็นค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ลดลง และ อาจเห็น NPL และ Coverage Ratio ปรับตัวดีขึ้นได้ เนื่องจากธนาคารจะมีการ Write-off หนี้เสียเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ยังไม่เห็นปัจจัยบวกอื่นที่จะช่วยหนุนผลประกอบการ
โดยประเด็นของลูกหนี้รายใหญ่ทั้ง AQ และ EARTH ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการแก้ปัญหา
ขณะที่แนวโน้มในปีหน้าคาดว่าสำรองหนี้น่าจะลดลงต่อเนื่อง แต่ยังมีแรงกดดันจากการตั้งสำรองเพื่อรองรับ IFRS 9 ซึ่งปัจจุบันยังมีความไม่ชัดเจนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่อาจเป็นปัจจัยให้ปรับลดประมาณการกำไรได้ในอนาค
อย่างไรก็ตาม ยังให้ราคาเป้าหมายปี 61 ที่ 21 บาท อิง PBV 0.95 เท่า เมื่อเทียบกับราคาหุ้นปัจจุบันระดับ Upside อยู่ในระดับที่น่าสนใจจึงแนะนำ "ซื้อ"
ด้าน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ยังคงแนะนำ "ถือ" แต่ปรับราคาเป้าหมายลงเหลือ 20.30 บาท/หุ้น จากการปรับประมาณการลงจากค่าเผื่อหนี้สูญที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากลูกค้าในกลุ่มโรงสีข้าวที่มีการขาดทุนสต๊อก ซึ่งอาจจะกลายเป็นหนี้เสียได้อีกในช่วงไตรมาส 4/60 ในส่วนของประเด็นเรื่อง AQ คาดว่าจะใช้เวลาอีกนานในการขายที่ดินที่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันออกมา
*** ลดเป้ากำไรปี 60-61
บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) แนะนำ "เก็งกำไร" ราคาเป้าหมายปีที่ 21 บาท/หุ้น พร้อมปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 60 ลง 16% และ ปี 61 ลง 14% เพื่อสะท้อนคุณภาพสินทรัพย์ที่ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว และ การตั้งสำรองที่สูงกว่าคาด
บล.ฟิลลิป ปรับลดประมาณการกำไรปี 60 – 61 ลง จากการที่คาดว่าการตั้งสำรองจะยังสูงจาก NPL ที่ยังเพิ่มขึ้น และ การเพิ่มระดับสำรองเพื่อรองรับกฏเกณฑ์ใหม่ ๆ โดยปรับลดลงเหลือ 2.4 หมื่นล้านบาท และ 3 หมื่นล้านบาท และ ปรับราคาพื้นฐานเหลือ 19.40 บาท/หุ้น แต่ยังคงแนะนำ “ทยอยซื้อ”
บล.เคจีไอ ยังให้ราคาเป้าหมาย 19 บาท/หุ้น แต่ก็มีความเสี่ยงที่อาจจะปรับลดประมาณการกำไร และ ราคาเป้าหมายลง ซึ่งการที่กำไรมีแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่องจะเป็นตัวจำกัด upside ของหุ้น KTB ในระยะสั้น แต่เนื่องจากราคาหุ้นในปัจจุบันไม่แพง โดยคิดเป็น P/E ที่ประมาณ 8-9 เท่า และ P/BV ที่น้อยกว่า 0.9 เท่านั้น ซึ่งก็มองว่า KTB มีความเสี่ยงด้าน downside ไม่มากเช่นกัน
บล.ซีไอเอ็มบี แนะนำ "ถือ" ราคาเป้าหมาย 19 บาท/หุ้น และ ปรับประมาณการ EPS ปี 60-62 ลง 8.0 – 17.5% เนื่องจากปรับเพิ่มประมาณการต้นทุนสินเชื่อ และ ปรับลดประมาณการการเติบโตของสินเชื่อในปี 60