ปลายปีแบบนี้ ก็ได้เวลาบริหารจัดการภาษีกันแล้ว และการซื้อกองทุนรวมประหยัดภาษี นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกยอดฮิต
ตอนนี้จะขอเจาะไปที่กองทุนประหยัดภาษีน้องใหม่อย่าง SSF (Super Saving Fund) ที่เพิ่งเริ่มใช้มาเมื่อปี 2563
ไม่รู้ว่าผ่านไป 2 ปี เหล่าชาวประชาชนไทยผู้เสียภาษีทั้งหลายจะเข้าใจกองทุน SSF อย่างลึกซึ้งหรือยัง แต่ผมขอนำเรื่องควรรู้เกี่ยวกับกองทุนนี้มาทบทวนกันอีกสักครั้ง ก่อนที่จะไปซื้อเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกัน
เริ่มกันที่สิทธิประโยชน์ด้านภาษีก่อนแล้วกัน...
1.เราสามารถซื้อกองทุน SSF เพื่อลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ทั้งปี และไม่เกิน 200,000 บาท โดยเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียนอายุอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท เช่น กองทุน RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ,กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน,กองทุนการออมแห่งชาติ และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
2.ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ปีต่อปี และไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี (เหมือน RMF) รวมถึงไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อ
3.ไม่จำเป็นต้องซื้อกองเดิมทุกปี แต่ก็ไม่ได้บังคับให้ซื้อกองทุนทุกปีเช่นเดียวกัน คือ แต่ละปีจะซื้อกองไหนก็ได้
*** ใครที่เหมาะกับกองทุน SSF ?
1.ผู้ที่มีเงินได้และต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี และเป็นผู้ที่สนใจการลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งรับความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่กองทุนนำเงินไปลงทุนได้
2.ผู้ที่มีเงินเย็น และไม่มีแผนใช้เงินจำนวนนี้ในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งเหมาะกับผู้ที่สามารถลงทุนระยะยาวได้โดยไม่ขาดสภาพคล่อง
3.ผู้มีเงินได้ที่ต้องจ่ายภาษีในฐานสูง ๆ เพราะกองทุน SSF ในจำนวนเงินลงทุนที่เท่ากัน ผู้ที่มีเพดานฐานภาษีสูงกว่าจะได้เงินคืนมากกว่า เช่น นาย ก. มีช่วงเงินได้ที่ต้องจ่ายภาษีในเพดานฐานภาษี 35% หากลงทุนในกองทุน SSF จำนวน 100,000 บาท จะประหยัดภาษีได้ 35,000 บาท ขณะที่นาย ข. มีช่วงเงินได้สุทธิที่ต้องจ่ายภาษีอยู่ในเพดานฐานภาษี 15% หากซื้อกองทุน SSF จำนวน 100,000 บาท จะประหยัดภาษีได้เพียง 15,000 บาท
*** เงื่อนไขที่ควรรู้ก่อนลงทุน
1.ต้องถือครองกองทุน SSF เป็นเวลา 10 ปีนับจากวันที่ซื้อแบบวันชนวัน จึงจะสามารถขายคืนได้
2.กองทุน SSF สามารถสับเปลี่ยนได้ กับกองทุนประเภท SSF เหมือนกัน
3.การสับเปลี่ยนกองทุน ไม่นับเป็นการซื้อใหม่
*** ซื้อกองทุน SSF แบบไหนดี ?
SSF มาแทน LTF (ที่กำหนดให้ลงทุนในหุ้นสามัญในประเทศไทยเท่านั้น) แต่กองทุน SSF สามารถลงทุนได้ในหลักทรัพย์ทุกประเภท เช่น ตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ กองทุนรวมผสม เป็นต้น ดังนั้นจึงมีแนวทางในการเลือกเบื้องต้นดังนี้
1.เลือกกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่เราเข้าใจทั้งโอกาสเติบโตและความเสี่ยง เช่น กองทุน SSF ที่ลงทุนในตราสารหนี้ จะเสี่ยงน้อยกว่ากองที่ลงทุนในหุ้น แต่ผลตอบแทนก็อาจจะต่ำกว่า เป็นต้น
2.กระจายความเสี่ยงในการลงทุน เช่น ซื้อกองทุน SSF มากกว่า 1 กอง โดยแต่ละกองให้เลือกกลุ่มสินทรัพย์ลงทุนที่แตกต่างกันหรือลงทุนในกลุ่มประเทศที่ต่างภูมิภาคกัน แต่มีข้อควรระวัง คือ แม้จะซื้อกองทุน SSF จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่ต่างกัน แต่ บลจ.เหล่านั้นดันนำเงินไปซื้อสินทรัพย์คล้ายกันหรืออันเดียวกัน แบบนั้นไม่ได้เป็นการกระจายความเสี่ยงด้านสินทรัพย์ลงทุนนะจ๊ะ
3.ลงทุน SSF แบบสม่ำเสมอ เช่น ลงทุนทุกเดือน ทุกไตรมาส หรือทุกปีในรูปแบบ DCA เพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุนและกระจายความเสี่ยงด้านการจับจังหวะลงทุน
นอกจากนี้ ไม่ว่าจะถนัดลงทุนสายไหน ควรพิจารณาลงทุนกองทุน SSF ให้เต็มสิทธิ เพราะเงินคืนจากสิทธิลดหย่อนภาษี เป็นเหมือนฉนวนปกป้องจากภาวะขาดทุนได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากเงินคืนภาษีถือเป็นกำไรก้อนแรกจากการลงทุน SSF หากกองทุนที่ลงทุนมีมูลค่าปรับลดลงต่ำกว่าฐานภาษี ก็ถือเป็นเสมือนการขาดทุนกำไร หมายความว่า ฐานภาษีสูงฉนวนก็หนา ฐานภาษีต่ำกว่าฉนวนก็บางหน่อย แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีฉนวนเลย
ขอขอบคุณข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย