แบบ 56-1 ถือเป็นอีก 1 ตัวช่วยสำคัญ ให้นักลงทุนค้นหาหุ้นพื้นฐานแกร่งจนเจอ แต่ในส่วนการอ่านข้อมูลที่สำคัญ ควรโฟกัสข้อมูลส่วนไหนบ้าง เพื่อร่นระยะเวลาในการค้นข้อมูล ต้องติดตาม
*** แบบ 56-1 อีกตัวช่วยกรองหุ้น
ปฎิเสธไม่ได้ว่า คำถาม"จะเลือกหุ้นตัวไหนดี ?" มักอยู่ในหัวทั้งนักลงทุนหน้าใหม่ และหน้าเก่ากันทั้งนั้น บางคนใช้วิธีซื้อหุ้นตามที่คนอื่นแนะนำ โดยไม่รู้ว่าบริษัทที่ตัวเองเข้าไปซื้อหุ้น เขาทำมาหากินอะไร ?
โชคดีหน่อยก็อาจจะได้กำไร แต่ส่วนใหญ่ที่มักพบเจอ คือ ขาดทุนกันถ้วนหน้า การเข้าลงทุนในหุ้นด้วยกลยุทธ์ดังกล่าว ถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงพอตัวเลยทีเดียว
ดังนั้น เมื่อทุกคนเกิดคำถามว่าจะซื้อหุ้นตัวไหนดี แอดจึงอยากแนะนำอีก 1 ทางเลือกในการค้นหาหุ้นพื้นฐานดี ตรงตามจริงของแต่ละคน คือ การเข้าไปอ่านแบบ 56-1 (แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี) ของแต่ละบริษัทด้วยตัวเองดีกว่า
แบบ 56-1 ก็คือ รายงานการเปิดเผยข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียนจัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยจะรายงานข้อมูลให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รับทราบอย่างละเอียด นักลงทุนอย่างเราก็หาอ่านได้ด้วยที่เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ
สำหรับข้อดีของการอ่านแบบ 56-1 ก็คือ จะทำให้นักลงทุนอย่างเราๆ เข้าใจ และ ประเมินศักยภาพแต่ละบริษัทออก แต่ข้อเสีย คือ อาจจะมีความยุ่งยากไปนิดนึง เพราะมีข้อมูลที่อาจเยอะเกินไปสำหรับบางคน
แอดก็เลย จะขอนำทริคจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับการอ่านแบบ 56-1 ฉบับย่อๆ ให้ได้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด มาฝากทุกคนแล้วกันเนอะ
*** 3 ส่วนสำคัญ แบบ 56-1 ต้องอ่าน
โดย ตลาดหลักทรัพย์ฯระบุว่า หัวใจสำคัญของการอ่านแบบ 56-1 มีอยู่ด้วยกัน 3 ส่วน และเมื่อเราสรุปใจความสำคัญของทั้ง 3 ส่วนดังกล่าวได้แล้ว จะทำให้เราตัดสินได้ว่า หุ้นที่เรากำลังสนใจอยู่นั้น เป็นหุ้นที่มีความแข็งแกร่งจริงหรือไม่ ?
เริ่มจากการอ่านส่วนที่ 1 ก่อน คือ ส่วนการประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นข้อมูลที่แสดงแนวทางในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายและภาพรวมการประกอบธุรกิจ ลักษณะการประกอบธุรกิจ ปัจจัยความเสี่ยงทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ข้อพิพาททางกฎหมาย ตลอดจนข้อมูลทั่วไปและข้อมูลสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่า เมื่อเราอ่านส่วนประกอบธุรกิจไปแล้ว ก็ต้องสรุปประเด็นต่างๆออกมาให้ได้ประมาณนี้ เช่น บริษัททำธุรกิจอะไร และมีแผนจะทำอะไรต่อไป, บริษัทมีแนวโน้มในการเติบโตมากน้อยเพียงไร ?
บริษัทมีปัจจัยเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยงอย่างไร, มีเหตุการณ์สำคัญอะไรบ้างที่จะมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินของบริษัท, มีข้อพิพาททางกฎหมายหรือไม่ อย่างไร ?
มีบริษัทย่อยและบริษัทร่วมกี่บริษัท บริษัทดังกล่าวทำธุรกิจอะไรมีรายการระหว่างบริษัทจดทะเบียน บริษัทรายย่อย และบริษัทร่วมหรือไม่ อย่างไร และ มีศักยภาพในการแข่งขันมากน้อยเพียงไร โครงการในอนาคตและการวิจัยและพัฒนาเป็นอย่างไร ?
ส่วนที่ 2 คือ การจัดการและกำกับดูแล : เป็นการให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลหลักทรัพย์และผู้ถือหุ้น โครงสร้างการจัดการ การกำกับดูแลกิจ การความรับผิดชอบต่อสังคม การควบคุมภายในและการบริหารจัดการความเสี่ยง รวมไปถึงรายการที่เชื่อมโยงระหว่างกัน
เมื่ออ่านส่วนที่ 2 แล้ว ต้องสรุปให้ได้เป็นประเด็นต่างๆ เช่น ผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือใคร มีการกระจายหุ้นแก่ผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างไร, โครงสร้างการบริหารเป็นอย่างไร ผู้บริหารบริษัทเป็นใคร มีการจ่ายค่าตอบแทนอย่างไร เหมาะสมหรือไม่ ?
ใครเป็นกรรมการบริษัท กรรมการตรวจสอบมีขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบและจ่ายค่าตอบแทนอย่างไร, มีการดูแลผู้ถือหุ้น พนักงาน บุคลากร และผู้มีส่วนได้เสียอย่างไร ?
มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือไม่ อย่างไร, มีการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลที่ดี (Corporate governance : CG) อย่างไร และ รายงานของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นอย่างไร ?
ส่วนที่ 3 คือ ฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน : เป็นการให้ข้อมูลทางการเงินต่างๆ ของบริษัท ทั้งงบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ งบกระแสเงินสด และอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังแสดงการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและคำอธิบายเพิ่มเติมของฝ่ายจัดการด้วย
เมื่ออ่านส่วนที่ 3 แล้ว ต้องสรุปให้ได้เป็นประเด็นต่างๆ เช่น ผู้สอบบัญชีให้ความเห็นต่องบการเงินไว้อย่างไร, ฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร, โครงสร้างเงินทุน (หนี้สิน ส่วนของผู้ถือหุ้น) เป็นอย่างไร ?
ในช่วงปีที่ผ่าน มา มีการออกหุ้นเพิ่มทุน ออกหุ้นกู้แปลงสภาพ หรือซื้อหุ้นคืนหรือไม่อย่างไร และ บริษัทมีภาระทางการเงินมากน้อยเพียงใด ?
ทั้งนี้ เมื่อนักลงทุนอ่านข้อมูลในแบบ 56-1 ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯไกด์ไลน์ให้เบื้องต้น และสรุปใจความสำคัญออกมาได้ตามคอนเซ็ปป์ ทุกคนจะเห็นว่าแบบ 56-1 เปรียบเสมือน"ขุมทรัพย์" ที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก
เพราะมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการลงทุนเยอะเเยะเต็มไปหมด ช่วยให้เราเข้าใจธุรกิจของบริษัทได้เป็นอย่างดี มีความมั่นใจในการลงทุนมากยิ่งขึ้น เชื่อเถอะ!!! ว่าดีกว่าการซื้อ-ขายหุ้นแบบรู้แค่ชื่อย่อบริษัท แต่ไม่รู้ข้อมูลเชิงลึกเลย ...