Fund Flow อีก 1 ปัจจัยที่มีอิธอพลต่อตลาดหุ้น เนื่องจากเป็นการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินมหาศาล จึลทำให้หุ้นขึ้น - ลงได้ แต่อะไรที่ทำให้ Fund Flow ตัดสินใจเข้าไปลงทุน หรือ ไหลออก จากแต่ละประเทศ บทความนี้มีคำตอบ !
*** SET ดิ่งแรง ส่วนหนึ่งเพราะ Fund Flow
หากพูดถึงตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ ที่ดัชนีกำลังปรับตัวลงแรงทุกวันทำการ สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ (Fund Flow) ที่เทขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ต้นเดือนมิ.ย. รวมขายสุทธิแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท
สิ่งที่ทำให้ Fund Flow มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทย สามารถกำหนดการเคลื่อนไหวของดัชนี ว่าจะขึ้นหรือลงได้ ก็เป็นเพราะการเคลื่อนย้ายของ Fund Flow โดยทั่วไปมักเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติ เพราะยามที่หุ้นมีแรงซื้อเข้ามามากๆ ก็จะทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น แต่ยามที่หุ้นถูกเทขายมากๆ ตลาดหุ้นก็จะปรับตัวลงในช่วงดังกล่าวนั่นเอง
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น เช่น ช่วงปลายปี 64 - ต้นปี 65 เป็นช่วงที่ประเทศใหญ่ อย่างสหรัฐฯ มีอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ช่วงดังกล่าว Fund Flow ไหลเข้ามาในประเทศเกิดใหม่ อย่าง ไทย หรือ อื่นๆ
เพื่อหาสินทรัพย์ใหม่ๆเก็งกำไร จากภาวะดอกเบี้ยของบ้านเขาที่ต่ำจนไม่น่าสนใจ ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยช่วงดังกล่าวคึกคัก เป็นขาขึ้น จนหลายคนถูกอกถูกใจ เพราะซื้อหุ้นสักพัก เดี๋ยวราคาก็ขึ้น
*** Fund Flow กำหนดค่าเงินแต่ละประเทศได้
ขณะเดียวกัน นอกจาก Fund Flow จะมีอิทธิพลกับตลาดหุ้นแล้ว อีกนัยหนึ่ง ยังมีอิทธิพลต่ออัตราแลกเปลี่ยนโดยตรงอีกด้วย เพราะการที่ Fund Flow จะเข้าไปลงทุนในประเทศใด ก็จำเป็นที่ต้องแลกเงินสกุลตนเอง เป็นสกุลเงินประเทศนั้น
ส่งผลให้ความต้องการสกุลเงินของประเทศนั้นๆ ในช่วงเวลาดังกล่าวสูงขึ้นด้วย ทำให้ค่าเงินของประเทศที่ Fund Flow ไหลเข้าไปลงทุน เกิดแข็งค่าขึ้นจากช่วงก่อนหน้าด้วย แต่หาก Fund Flow ไหลออก ก็จะกดดันค่าเงินของประเทศนั้นด้วย
*** เปิดสาเหตุทำ Fund Flow ไหลเข้า - ออก
ทั้งนี้ Fund Flow ก็คือเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ ที่มองหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สูงอยู่เสมอ ดังนั้น สาเหตุหลักที่จะทำให้ Fund Flow ไหลเข้าไปยังประเทศนั้นๆ จะมีเกณฑ์การตัดสินใจดังนี้
1.ประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับสูง : เนื่องจากเป็นช่องทางใหม่ๆในการสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น จากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งประเทศที่มีคุณสมบัติข้อนี้ ก็จะได้รับการพิจารณา เป็นลำดับต้นๆ
2.ประเทศที่เพิ่งจะเปิดรับการลงทุนต่างประเทศ : เนื่องจากเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตจากการลงทุนต่างๆอีกมาก เนื่องจากเพิ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ดังนั้น อัตราการเติบโต จึงอยู่ในระดับที่สูงกว่าหลายประเทศใหญ่ ที่อาจจะถึงจุดอิ่มตัวแล้ว
3.ประเทศที่มีสถานะทางเศรษฐกิจมั่นคง : เนื่องจากเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการลงทุน เพราะจะไม่มีวิกฤติมากระทบต่อการดำเนินธุรกิจภายในประเทศ ซึ่งประเทศที่มีคุณสมบัติดังกล่าว จะถูกมองเป็นประเทศปลอดภัย หรือ Safe Haven และ มักจะเป็นเป้าหมายในการไหลเข้าของ Fund Flow ยามที่เศรษบกิจทั่วโลกเกิดวิกฤติ
ขณะที่ คุณสมบัติเชิงลบ ที่ทำให้ Fund Flow ไหลออกจากประเทศต่างๆ มีดังนี้
1.ประเทศที่ไม่น่าลงทุนอีกต่อไป : ในกรณีนี้อาจเป็นประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งมักจะนำไปสู่ความยากลำบากต่อการลงทุน หรือ ไม่มีนโยบายอำนวยความสะดวกอะไรให้กับนักลงทุนต่างประเทศเลย
2.ประเทศที่ไม่มีจุดเด่นอะไรเลย : คุณสมบัติข้อนี้ อาจถูกนำการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) หรือ ความสามารถในการหารายได้เข้าประเทศมาเป็นตัวชี้วัด ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้ว แพ้ประเทศเพื่อนบ้านทุกข้อ ก็ทำให้ Fund Flow เลือกจะลงทุนที่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีจุดเด่นมากกว่านั่นเอง