หลายคนซื้อหุ้นด้วยความมั่นใจ แต่ถึงจังหวะต้องขายกลับเกิดความลังเล ทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับอาจลดลงกว่าที่ควรจะเป็น มาดูสาเหตุที่ทำให้หลายคนเกิดความลังเล พร้อมชี้เป้าเมื่อไหร่ ที่ควรขายหุ้น !
*** "ซื้อหุ้น"เป็น ควร"ขายหุ้น"เป็นด้วย
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มีนักลงทุนจำนวนไม่น้อย ที่ไม่รู้ว่า เมื่อไหร่ที่พวกเขา ควรตัดสินใจขายหุ้นได้แล้ว แตกต่างจากจังหวะเข้า"ซื้อ" ที่หลายคนมองว่า ตัดสินใจง่ายกว่า เพียงแค่ศึกษาข้อมูลของบริษัทจนแน่ใจแล้วก็เท่านั้น
แต่พอถึงจังหวะ"ขาย" ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุด เพราะจะเป็นจุดที่สามารถชี้วัดได้ว่า การลงทุนของเรามีประสิทธิภาพแค่ไหน โดยวัดจากกำไรที่ได้รับ กลับเป็นขั้นตอนที่ทำให้หลายคนเกิดความลังเลมากที่สุด จนบางครั้งพลาดโอกาสที่ดีที่สุดไปอย่างน่าเสียดาย
*** เปิด 3 เหตุผล ทำตัดสินใจขายหุ้นพลาด
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุสาเหตุ ที่ทำให้นักลงทุนในตลาด ตัดสินใจผิดพลาดเกี่ยวกับการขายหุ้น มักมีสาเหตุสำคัญด้วยกัน 3 อย่าง ดังนี้
1.มั่นใจว่าราคาหุ้นจะไปต่อได้อีก : หลายคนเมื่อเห็นราคาหุ้นที่ตนเองซื้อไว้ กำลังปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงมักใจฟู และคิดว่ามันต้องไปต่อได้อีกแน่ๆ ทำให้ตกอยู่ในห้วงของความโลภครอบงำ และมองช่วงที่อันตราย อย่างตอนที่ราคาหุ้นกำลังแรลลี่ยังร่าเริง ว่า เดี๋ยวจะไปต่อได้อีกไกลแน่ๆ จึงตัดสินใจถือหุ้นต่อ แม้ว่าขายตอนนั้น จะได้กำไรสัก 20 - 30% ก็ตาม
แน่นอนว่า ในช่วงที่ราคากำลังพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องก็คงไม่ใช่ปัญหาอะไรนัก แต่สำหรับหุ้นบางประเภท เช่น หุ้นที่ถูกคาดหวังกับการเติบโตในอนาคตมากจนเกินไป เมื่อราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปแรงแล้ว แต่กลับไม่สามารถสร้างการเติบโตได้ตามความคาดหวัง ราคาหุ้นก็มักจะปรับตัวลงมาแรงเช่นกัน ทำให้นักลงทุน ที่ถือหุ้นต่ออาจได้กกำไรลดลง หรือ อาจถึงขั้นขาดทุนก็มี
2.ไม่มีจุดขายขาดทุน (Cut Los) : เมื่อหุ้นที่ซื้อมา ราคาปรับตัวลดลงแต่นักลงทุน กลับตัดสินใจถือต่อโดยไม่มีจุด Cut Loss เพราะเชื่อว่าไม่วันใดก็วันหนึ่ง ราคาจะปรับขึ้นมาได้ หากราคาหุ้นปรับขึ้นมาจริงๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่หากไม่เป็นไปตามที่คาดคิด การปล่อยหุ้นที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลงทิ้งไว้ในพอร์ต ย่อมทำให้สถานการณ์ย่ำแย่มากขึ้นเรื่อยๆ
3.พยายามคาดเดาตลาดเกินไป : หลายคนพยายามคาดเดาตลาด เพื่อหาจังหวะขายให้ได้กำไรสูงที่สุด จึงทำให้การขายหุ้นเป็นไปได้ช้ามาก ซึ่งในโลกความเป็นจริง ไม่มีใครที่สามารถคาดเดาภาวะตลาดหุ้นได้แม่นยำแบบจับวาง จึงทำให้นักลงทุนที่สามารถซื้อหุ้นในราคาต้นทุนที่ต่ำที่สุด แล้วยังสามารถขายในราคาที่สูงสุด มีน้อยมาก หรือ อาจไม่มีเลยก็ได้
เพราะขนาด วอร์เรน บัฟเฟตต์ และปีเตอร์ ลินช์ 2 นักลงทุนชื่อดัง ยังยอมรับว่า ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ทางเลือกที่ดีที่สุด สำหรับนักลงทุน ก็คือ ควรซื้อ และขายหุ้น ในราคาที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่ราคาที่ดีที่สุด
*** 3 สัญญาณ บ่งชี้ว่าควรขายหุ้นแล้ว
ทั้งนี้ เมื่อทุกคนเริ่มเห็นความสำคัญของจังหวะการขายหุ้นมากขึ้นแล้ว เทคนิคต่อมาที่ควรเรียนรู้ คงหนีไม่พ้นการ"ขายให้ถูกเวลา" เพื่อทำให้ผลตอบแทนที่เราได้รับ อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจที่สุด โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้เทคนิคง่ายๆ ไว้ 3 วิธีดังนี้
1.ราคาหุ้นไม่สะท้อนมูลค่าที่ประเมิน : บางครั้งต่อให้เรา คิดคำนวณราคาเหมาะสมของหุ้นแต่ละบริษัทมาเป็นอย่างดีแค่ไหน ก็ใช่ว่าราคาหุ้นในกระดาน จะปรับตัวขึ้นไปถึงจุดนั้นได้ เพราะการประเมินหรือการคาดการณ์ เป็นเรื่องของศาสตร์และศิลป์ จึงมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น เมื่อเริ่มเห็นว่า ราคาหุ้นของเรา เริ่มไม่สะท้อนมูลค่าที่ถูกประเมิน อาจต้องตัดสินใจขายออกไปก่อน
2.ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว : หากหุ้นของเราเริ่มปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ต้องทำเป็นขั้นตอนแรกๆ คือ ควรวิเคราะห์ให้ละเอียด รอบคอบมากยิ่งขึ้นว่าเกิดจากสาเหตุใด หากเกิดจากการที่เราประเมินได้อย่างแม่นยำก็เป็นสิ่งที่ดี
แต่หากราคาปรับขึ้นด้วยสาเหตุที่ ไม่น่าไว้วางใจ ก็อาจไม่ใช่เหตุผลที่ดีที่สุดในการตัดสินใจถือหุ้นต่อไปเพื่อหวังกำไรที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ถ้าหุ้นขึ้นเร็วราวกับจรวด แล้วแตะถึงระดับราคาที่เรามีกำไร ควรตัดใจขายออกมาก่อน แล้วค่อยรอจังหวะซื้อคืนอีกครั้งก็ยังไม่สาย
3.ตัดสินใจหรือวิเคราะห์ผิดพลาด : ส่วนใหญ่ เรามักซื้อหุ้นบนพื้นฐานของข้อมูล และการวิเคราะห์ แต่เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงหรือการวิเคราะห์ มีความผิดพลาด ไม่สะท้อนความเป็นจริงของกิจการ ก็ควร"ขายหุ้น"ออกไปก่อน ถึงแม้ว่าจะขาดทุนก็ตาม ซึ่งดีกว่าใช้อารมณ์ ในการตัดสินใจ แล้วเกิดอาการเสียดาย จึงตัดสินใจถือหุ้นต่อ โดยไม่ยอมรับความจริง สิ่งที่ตามมา คือ อาจทำให้เราขาดทุนสูงขึ้นนั่นเองนะ
จะเห็นได้ว่า นอกจากการซื้อหุ้นให้เป็น เรายังต้องขายหุ้นให้เป็นด้วย เพราะการซื้อและขายหุ้นอย่างเหมาะสม เป็นกระบวนการทำกำไรสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน อย่าลืมว่า จุดที่ทำกำไร คือ จุดในการขาย แต่เมื่อซื้อแล้วขายไม่เป็น โอกาสขาดทุนก็ย่อมสูงกว่าได้กำไรนั่นเอง