ติดดอยเป็นอาการที่อยู่คู่กับนักลงทุนไทยมาอย่างช้านาน มักพบได้ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นนักลงทุนมือใหม่ และจะแพร่ระบาดมากขึ้นในช่วงที่ตลาดหุ้นได้ปรับตัวลดลง วันนี้หมอจอร์จมีวิธีป้องกันการติดเชื้อและการดูแลสุขภาพพอร์ตมาฝากนักลงทุนทุกท่าน เราไปดูกันครับ
ติดดอย คืออะไร?
ติดดอยเป็นอาการที่นักลงทุนมักใช้เรียกเมื่อซื้อหุ้นในราคาที่สูงแล้วราคาลดต่ำลงในเวลาต่อมา เมื่อดูที่กราฟราคาแล้วจะเห็นรูปร่างคล้ายยอดภูเขาหรือยอดดอยนั่นเอง
อาการของคนติดดอยเป็นอย่างไร
จากงานวิจัยทางการแพทย์หลายสถาบันพบว่า ผู้ป่วยที่มีอาการติดดอยจะเริ่มจากอาการทุรนทุราย กินไม่ได้ นอนไม่หลับ กระส่ายกระสับ ตับพิการ อาหารไม่ย่อย และในระยะต่อมาหากมีปัญหาอื่นมาแทรกซ้อนอาจทำให้มีน้ำตาไหลซึม ๆ บนเตียงในช่วงก่อนนอน หากไม่รีบมาพบแพทย์อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
สาเหตุของการติดดอย
การติดดอยเกิดได้หลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งจากการเลือกหุ้นเองและจากการเชียร์หุ้นของผู้อื่น ซึ่งอาการส่วนใหญ่มักมีสาเหตุเกิดจากความโลภและความไม่รู้ โดยไวรัสชนิดนี้จะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า Stop Loss จนทำให้เกิดอาการติดดอยได้ในที่สุด
ลักษณะของหุ้นที่มีโอกาสติดดอยและวิธีป้องกันอาการติดดอย
1. หุ้นที่เคยดีในอดีต เมื่อพื้นฐานทางธุรกิจเปลี่ยนไป เช่น มีสินค้าอื่นทดแทนได้หรือมีคู่แข่งในอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้บริษัทนั้นมีความสามารถในการแข่งขันลดลงจนกำไรของบริษัทค่อย ๆ ลดลง จะทำให้ราคาหุ้นลดลงตามไปด้วย ฉะนั้นเราอย่าติดกับดักว่าหุ้นที่เคยดีในอดีตยังไงอนาคตมันก็ต้องดี ให้ป้องกันโดยการศึกษา Business Model ของบริษัทนั้น ๆ ให้รอบคอบ โดยอาจใช้หลัก 5 Force Model ในการวิเคราะห์ก็ได้
2. หุ้นดีแต่แพงเกินไป หุ้นประเภทนี้ในช่วงที่เติบโตมาก ๆ ตลาดจะให้ราคาค่อนข้างสูง สังเกตได้จากค่า PE ที่สูงมาก ๆ จนน่าแปลกใจ เพราะตลาดคาดหวังในการเติบโตของบริษัทไว้สูงเช่นกัน แต่เมื่อบริษัทเติบโตช้าลงหรือหยุดเติบโต จะทำให้ราคาลดลงเร็วมากเนื่องจากตลาดได้ลดความคาดหวังลง ทำให้ค่า PE ลดลงจนกลับมาเป็นปกติ ป้องกันโดยการประเมินมูลค่าไว้เพื่อให้มีช่วงราคาที่สามารถเข้าลงทุนได้ และไม่ซื้อหากราคาอยู่สูงกว่ามูลค่าที่ประเมินได้ หรือหากเข้าลงทุนเพื่อเก็งกำไรให้กำหนดจุด Stop Loss ก่อนเข้าซื้อทุกครั้ง
3. หุ้นที่ผลประกอบการต่ำกว่าคาด หุ้นประเภทนี้นักลงทุนเชื่อว่างบการเงินจะออกมาดี ทำให้ราคาขึ้นไปก่อนที่งบการเงินจะประกาศ แต่เมื่อผลประกอบการออกมาต่ำกว่าที่คาดจะทำให้ราคากระโดดลงทันทีหลังจากประกาศงบการเงิน ป้องกันได้โดยอย่าไปไล่ราคาและกำหนดจุด Stop Loss แล้วใช้หลัก Money Management ก่อนการเข้าซื้อทุกครั้ง
4. หุ้นที่ราคาขึ้นสูง ๆ โดยเราไม่ทราบสาเหตุ สาเหตุหลักของผู้ป่วยประเภทนี้เกิดจากความโลภเป็นหลัก เห็นราคาหุ้นสูงขึ้นก็อยากได้กำไรกับเค้าบ้าง ป้องกันได้โดยการศึกษาหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ ถ้าเราไม่รู้สาเหตุก็อย่าเข้าไปลงทุน
5. เชื่อข่าววงใน หากลงทุนในหุ้นประเภทนี้จะทำให้มีความมั่นใจมากเกินไป กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็นอนร้องไห้อยู่บนเตียงเสียแล้ว ป้องกันโดยการไม่ซื้อหุ้นประเภทนี้และศึกษาธุรกิจก่อนทุกครั้งเสมอ
ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วน ยังมีวิธีการอีกมากที่สามารถช่วยป้องกันอาการได้ เบื้องต้นแนะนำให้ศึกษาข้อมูลต่างๆแล้วนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนแทนที่จะใช้อารมณ์ความรู้สึกเข้ามาลงทุน
โดย : นพ.จอร์จ โซรุส
ศูนย์การแพทย์ดอยเป็นเพื่อน ในเครือโรงพยาบาลเพื่อนเต็มดอย